posttoday

รื้อรับตรงสะเทือน "แอดมิชชั่น" ปัญหาที่ยังไม่จบง่ายๆ

01 กันยายน 2559

เมื่อระบบเอนทรานซ์ ซึ่งถูกใช้เป็นวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 40 ปี ถูกมองว่าเป็นระบบที่มีข้อเสียหลายด้าน

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เมื่อระบบเอนทรานซ์ ซึ่งถูกใช้เป็นวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากกว่า 40 ปี ถูกมองว่าเป็นระบบที่มีข้อเสียหลายด้าน เช่น ไม่เพียงแต่สร้างความตึงเครียดให้กับบรรดานักเรียนที่สอบเข้าเรียนในสถาบันที่มุ่งหมายเพียงครั้งเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ แต่เป็นระบบที่ทำให้เกิดการแข่งขันกันสอบอย่างสุดขั้ว ด้วยการโหมกวดวิชา จนแทบจะทิ้งห้องเรียน

ภาพการเดินเข้าสถาบันกวดวิชาตั้งแต่เริ่มเรียนมัธยมปลาย แทบจะเป็นปรากฏการณ์ปกติของนักเรียนที่ตั้งเป้าเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ คณะไหนยิ่งฮิตก็ยิ่งมีอัตราการแข่งขันสูง

ปี 2549 ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิชชั่น จึงถูกคิดขึ้น เพื่อหวังว่าจะผ่อนคลายบรรยากาศการแข่งขันและทำให้เด็กตั้งใจเรียนในชั้นเรียน เพราะระบบนี้ได้กำหนดคะแนนสะสม 30% จากการเรียนในชั้น 6 ภาคเรียนเป็นองค์ประกอบคะแนนที่จะใช้ยื่นสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

แต่แล้วระบบแอดมิชชั่นก็ได้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม นักเรียนหลายคนยิ่งเครียดเป็นทวีคูณเพราะตกอยู่ท่ามกลางการแข่งขันสอบเข้าเรียน และก็ไม่สามารถเลิกเรียนกวดวิชาได้เพราะต้องรับมือกับการสอบสัดส่วนคะแนนต่างๆ ที่จะใช่ยื่นสมัครเรียนตามที่คณะวิชาที่อยากเรียนระบุไว้

ระบบเอนทรานซ์จากไปกลายเป็นระบบใหม่ที่เด็กต้องกุมขมับทำใจว่า แทนที่จะเหนื่อยและตึงเครียดเพียงปลายปีหรือใกล้ฤดูสอบ กลับต้องเหนื่อยเป็นช่วงๆ กับสารพัดการสอบตลอดทั้งปี

ซ้ำร้าย องค์ประกอบสัดส่วนคะแนนที่คาบเกี่ยวระหว่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้สมัครสอบ จนเข้าไปเรียนได้ ถูกสะท้อนกลับมาจากมหาวิทยาลัยในประเด็นได้เด็กไม่ตรงกับที่ต้องการ เรื่องนี้ถูกตอกย้ำทุกๆ ปี นับตั้งแต่เริ่มใช้แอดมิชชั่นจนเป็นระบบที่ถูกมองว่า ไม่มีมาตรฐานในการคัดเลือกเด็ก หลายคณะวิชาของมหาวิทยาลัยบางแห่ง จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการหันไปรับตรงในสัดส่วนที่มากขึ้นหรือรับตรงทั้งหมด

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของฝันร้ายรอบใหม่ของนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ต้องขวนขวายไปตามมหาวิทยาลัยดัง กางตารางสอบรับตรงที่เปิดกันแทบตลอดทั้งปี ดั้นด้นไปสอบเท่าที่จะมีกำลังกายและกำลังทรัพย์

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ก่อนหน้านี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอทางออก ด้วยแนวคิดให้มีการรับตรงกลางร่วมกันของมหาวิทยาลัย หรือเคลียริ่งเฮาส์ แต่ก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยนัก เพราะหลายแห่งยังตั้งหน้าตั้งตาเปิดรับตรงตลอดทั้งปี โดยให้เหตุผลที่หลากหลายกันไป จนล่าสุดเมื่อ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาระบุ ว่าจะหาแนวทางเปลี่ยนการรับตรงใหม่ ด้วยการปรับช่วงเวลาการสอบต่างๆ ทั้งแกต หรือการทดสอบความถนัดทั่วไป และแพต ความถนัดทางวิชาการ-วิชาชีพ รวมถึง 9 วิชาสามัญ และข้อสอบอื่นๆ หลังเด็กเรียนครบหลักสูตร ม.6 แล้วประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจะไม่ยอมให้มีการสอบนอกช่วงเวลานี้ เพื่อลดการวิ่งรอกสอบตรงของเด็ก โดยแนวทางที่ได้จะประกาศใช้ในปีการศึกษา 2561 เรื่องนี้ก็ถูกนำมาถกเถียงอีกครั้ง

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การแก้ไขเรื่องนี้ต้องพิจารณาหลายด้าน โดยได้ตั้งขอสังเกตว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยกำลังแยกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน นักเรียนสายวิทยาศาสตร์จะให้ความสำคัญกับระบบรับตรงกลางมากกว่าแอดมิชชั่น ขณะที่สายสังคม/ศิลปะ จะให้ความสนใจกับระบบแอดมิชชั่นกลางมากกว่า สังเกตได้จากคะแนนสูงสุดของรับตรงกลางจะเป็นแพทย์ วิศวะ แต่ถ้าเป็นแอดมิชชั่นกลางจะเป็นสายอักษรศาสตร์ สังคมศาสตร์ ทั้งนี้แม้จะแยกกัน แต่ก็ยังต้องแบกภาระการสอบร่วมกัน เนื่องจากใช้การสอบข้อสอบคนละชุด มีภาระการสอบกระจุกตัวมาก ตั้งแต่เดือน ต.ค.-มี.ค. เฉลี่ยแล้วต้องแบกภาระการสอบเดือนละครั้ง

“แนวคิดเคลียร์ริ่งเฮาส์ใหม่ ให้โอกาสนักเรียนที่ไม่ผ่านในรอบแรก หรือไม่พอใจคณะที่ได้ ในรอบแรกสามารถสมัครสอบได้ในรอบที่ 2 เพียงแต่ช่วยเพิ่มโอกาสการสมัครให้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาการสอบซ้ำซ้อนซึ่งทำให้เป็นภาระกับนักเรียนทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้เครียดเพราะต้องอยู่ในสภาพเตรียมการสอบเป็นเวลานาน การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดคือรวมการสอบ 2 ระบบเข้าด้วยกัน หากทำได้จะช่วยให้นักเรียนสามารถลดการสอบลงไปได้ 1-2 ครั้ง แต่ที่ผ่านมา ศธ.ไม่เคยประสบความสำเร็จในการเจรจากับ ทปอ.เลย” สธน กล่าว

ภาวิช ทองโรจน์ อดีตประธาน ทปอ.และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเคยมีความพยายามแก้ไขเรื่องการรับตรงมาโดยตลอด แต่เพราะเป็นอำนาจของมหาวิทยาลัย ที่ใช้กฎหมายบังคับไม่ได้ จึงทำได้เพียงขอความร่วมมือ ซึ่งก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือนัก สิ่งที่เป็นเหตุผลสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลอยากเข้าไปแก้ปัญหา คือ เงื่อนไขด้านเวลา ซึ่งโดยปกตินักเรียน ม.6 จะจบภาคเรียนสุดท้ายประมาณเดือน มี.ค. แต่มหาวิทยาลัยจะเริ่มเปิดเรียนเทอมแรกประมาณเดือน ส.ค. ระยะเวลาที่ห่างกันถึงเกือบ 6 เดือน ทำไมไม่มีการจัดสอบคัดเลือกให้แล้วเสร็จในช่วงนี้

อดีตประธาน ทปอ.กล่าวว่า มีการทักท้วงเรื่องนี้มาตลอดว่ามีช่วงเวลาว่างนานขนาดนี้ ทำไมถึงยังต้องมีการจัดสอบนอกเหนือจากนี้อีก เพราะการสอบล่วงล้ำไปในเวลาระหว่างเรียนมัธยมนั้นกระทบกับเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะการเรียนในชั้นเป็นวงจรลูกโซ่ แนวโน้มที่เข้ามาแก้เรื่องนี้ เป็นความคิดที่ดี แต่ยังไม่เห็นเรื่องใช้ผลการเรียนในชั้นมาเป็นองค์ประกอบรับตรง ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่สนใจห้องเรียน และมุ่งกวดวิชา ทำให้การสอบเข้าอุดมศึกษาตกเป็นจำเลยข้อหาทำลายระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน วนไปสู่ปัญหาเก่าๆ ได้