posttoday

รื้อใหญ่วัดผลงานส่วนราชการ

20 เมษายน 2559

สกัดเกียร์ว่าง-ภูมิคุ้มกันวิ่งเต้นเส้นสาย

โดย...ปริญญา ชูเลขา

แนวทางการประเมินผลงานส่วนราชการแบบใหม่ที่รัฐบาลต้องการนำมาแก้ปัญหาเกียร์ว่างระบบเล่นพรรคเล่นพวก หรือการซื้อขายตำแหน่ง โดยมี ชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการให้เกรด หรือประเมินผลงานหน่วยราชการทั้งหมด โดยแบ่งการให้เกรดออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับคุณภาพ A คือ ดีมาก ระดับมาตรฐาน B คือ พอใช้ และระดับปรับปรุง C คือ ตก

เป้าหมายสำคัญของแบบฟอร์มประเมินผลงานในครั้งนี้ ต้องการกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานรัฐกระตือรือร้นในการพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่กำกับดูแลหน่วยงานรัฐ ต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์และเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเองจากระบบเส้นสาย เล่นพรรคเล่นพวก หรือการซื้อขายตำแหน่ง เพราะจากนี้ไปการแต่งตั้งโยกย้ายจะพิจารณาจากผลการประเมินของ ก.พ.ร.เท่านั้น

ก.พ.ร.ยก 5 ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพ

ชูเกียรติ กล่าวว่า แม้ ก.พ.ร.ไม่ใช่เจ้าภาพหลักในการบูรณาการการทำงานระบบราชการ แต่ ก.พ.ร.เป็นเสมือนองค์กรที่คอยประสานและกำกับให้ทุกส่วนราชการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ดังนั้นหากหน่วยงานใดระดับการให้คะแนนไม่ดี ทาง ก.พ.ร.จะเข้าไปตรวจสอบทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดไม่เชื่อมโยงการทำงานกัน หรือมีปัญหาสิ่งใดก็จะเข้าไปให้คำแนะนำทันที

เลขาฯ ก.พ.ร. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.พ.ร.ถูกมองว่าไม่มีอำนาจให้คุณหรือให้โทษหน่วยงานรัฐใดๆ ได้ แต่ยืนยันว่าแม้ ก.พ.ร.จะไม่มีอำนาจดังกล่าว แต่ก็มีอำนาจที่เป็นผลข้างเคียงในตอนให้คะแนนเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในฤดูแต่งตั้งโยกย้าย เดือน เม.ย. และ ต.ค. โดยในช่วงต้นของการประเมิน ก.พ.ร.จะชี้แนะ แต่หน่วยงานใดยังนิ่งเฉยยังไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นในการพัฒนาระบบราชการ ยิ่งมีตัวชี้วัด 5 ดัชนีเข้ามากำกับด้วย ย่อมไม่เป็นผลดีต่อหน่วยงานรัฐที่ไม่พัฒนาหรือปรับปรุงตัวเอง นั่นคือสอบตก

ทั้งนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือการประเมินเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ทางกรมบัญชีกลางจะมีตัวชี้วัดอยู่ในมือที่จะคอยติดตามประเมินผลงานตามเป้าหมาย และเวลาที่กำหนดให้เบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะบางหน่วยงานขอตั้งงบประมาณไว้จำนวนมากเหลือเกิน แต่กลับไม่มีการใช้งบประมาณใดๆ เลย ทำให้การอัดฉีดระบบเศรษฐกิจไม่ดีเท่าทีควร ดังนั้นทาง ก.พ.ร.ก็จะนำตัวเลขเหล่านี้มาใช้ให้คะแนนสอบผ่านหรือสอบตก

ชูเกียรติ กล่าวว่า อยากยืนยันว่าดัชนีชี้วัดเหล่านี้ไม่ใช่การจับผิด แต่ต้องการวัดศักยภาพ 5 ด้านของหน่วยงานรัฐ คือ 1.ประสิทธิภาพในงานพื้นฐานของแต่ละส่วนราชการ หรืองานตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย 2.ประสิทธิภาพในการทำงานตามยุทธศาสตร์ เช่น การปราบปรามการค้ามนุษย์ การปราบปรามยาเสพติด โดยจะเน้นตามนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้นหากงานปกติ หน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับงานยุทธศาสตร์ชาติ ย่อมจะถูกดึงมาให้ได้รับความสำคัญในการประเมินผลเป็นอันดับแรก

แก้ปัญหาแบบเดิมๆ ไปไม่รอด

3.ประสิทธิภาพในการบูรณาการหรือประสานงาน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ภัยแล้ง การบริหารจัดการน้ำต้องมีการประสานงานและบูรณาการการป้องกันภัยแล้งเป็นอย่างไร มีกี่กระทรวง ทบวง กรมเกี่ยวข้อง ดังนั้นจะไม่มีการทำงานแบบเดิมๆ คือต่างคนต่างทำ เหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์เมื่อประกอบกันแล้วกลายเป็นพิการ เพราะกระจัดกระจายกันทำ ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพย่อมต้องสอบตก ดังนั้นจากนี้มีภารกิจงานปกติกับภารกิจยุทธศาสตร์ จะมีความชัดเจน คือ แต่ละกระทรวงต้องทำให้ดีทั้งทำคนเดียวและทำร่วมกัน

4.ประสิทธิภาพในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อบริหารจัดการและบริการประชาชน เพื่อไม่ให้การทำงานย่ำอยู่กับที่ ต้องคิดสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เหมือนการทำงานในภาคเอกชนหากอยู่กับที่ก็ตายเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล เหมือนร่างกายจะอยู่เฉยๆ ไม่ขยับเขยื้อนไม่ได้ การบริการประชาชนก็เช่นกันต้องเร็ว ไม่ใช่ 10 ปีก่อนเคยทำกันอย่างไร ตอนนี้ก็ยังทำกันอย่างนั้น

“ปัจจุบันก็ยังทำกันอยู่แบบเดิมๆ ไม่ก้าวทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นี่คือต้นเหตุปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ดังนั้นต้องคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการบริหารบุคคล งบประมาณ และองค์กร คือ การปรับปรุงวิธีการการให้บริการประชาชน เช่น การทำหนังสือเดินทาง การต่อทะเบียนรถยนต์ ล้วนต้องมีนวัตกรรมเข้ามาให้บริการประชาชน เพราะต้องแข่งกับความรวดเร็ว”

5.ประเมินผลงานในภาพรวมขององค์กร รวมถึงนำดัชนีชี้วัดจากภายนอกนำมาวัดผลด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะต้องยอมรับดัชนีภายนอกด้วย เพื่อนำมาเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของตัวเอง เพื่อนำมาพัฒนาระบบบริหารราชการที่เป็นจุดอ่อน ตัวอย่างเช่น ธนาคารโลกจะใช้วิธีสุ่มสำรวจความคิดเห็น ความยากง่ายในการจัดตั้งธุรกิจ เริ่มจดทะเบียน ยากไหม การขออนุญาตก่อสร้าง ภาษี การขอสาธารณูปโภค แหล่งสินเชื่อ ส่วนราชการใดเข้ามาเกี่ยวข้องทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ใช้เวลาหรือเอกสารหลักฐานกี่ชิ้น มีความวุ่นวายมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกขั้นตอนคือต้นทุน
โดยจะพิจารณาว่าสิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคเกิดจากหน่วยงานเพื่อนำไปตรวจสอบและปรับปรุง ถือเป็นตัวชี้วัดและนำมาพิจารณาให้คะแนนด้วย

ชูเกียรติ กล่าวว่า โดยหลักแล้วการประเมินผลงานกับประเมินประสิทธิภาพตัวบุคคลย่อมต้องทำไปพร้อมๆ กัน แต่สิ่งที่เรากังวลคือ ประเมินตัวบุคคลกับการประเมินหน่วยงาน เพราะขณะนี้ได้พยายามปรับเกณฑ์การประเมินทั้งสองส่วนให้คล้ายๆ กัน เพื่อจะได้พิสูจน์การทำงานของหน่วยงานกับคนต้องไปด้วยกัน ดังนั้นดัชนีชี้วัดที่สำคัญคือ หนึ่ง สอง และสาม ต้องมี เพราะผลงานดีย่อมเกิดกับ 3 ตัวชี้วัดนี้ เพราะบางครั้งผลงานดีในบางข้อ เช่น ข้อหนึ่ง เพราะลูกน้องทำหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญส่วนราชการต้องประเมินตัวเอง เพราะแต่ละดัชนีมีตัวกำหนดชัดเจน โดยที่ ก.พ.ร.จะคอยกำกับอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ ทางส่วนราชการประเมินตัวเองมาก่อน แต่ทาง ก.พ.ร.ก็จะประเมินซ้ำอีกครั้งว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ แล้ว ก.พ.ร.จะดูว่าสิ่งที่ส่วนราชการพูดทำได้จริงหรือไม่ ในอดีตเวลาประเมินตัวเองก็พรรณนาโวหารเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อจากนี้ไปต้องมีตัวเลขหรือสถิติต้องชัดเจน พร้อมกับต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้วย

‘ปลัด-อธิบดี’ ไม่ผ่านเกณฑ์มีเสียว

เขายกตัวอย่างว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีตัวเลขและสถิติการปราบปรามอาชญากรรมหรือยาเสพติด ปราบปรามได้ตัวเลขที่เยอะและดีมากๆ ปีละเป็นพันๆ ราย แต่ขัดแย้งในทางยุทธศาสตร์ในด้านป้องปรามต้องหมดและสิ้นไป แต่เหตุใดแนวโน้มอาชญากรรมหรือยาเสพติด
ไม่ได้ลดลงเลย นี่คือสิ่งที่ต้องคุยกัน หรือปัญหาแรงงานต่างด้าวมีระบบจดทะเบียนทุกปี แต่กลับพบว่าตัวเลขแรงงานเถื่อนกลับยังมากขึ้น เป็นไปได้อย่างไร นี่คือต้องแยกให้ชัดระหว่างงานประจำกับงานยุทธศาสตร์ จึงต้องตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้

เลขาฯ ก.พ.ร. ยืนยันว่า ก.พ.ร.เป็นคนประเมินคนแรกว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ไม่มีแน่นอนที่ใครจะแอบส่งผลการประเมินให้กับรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับติดตามส่วนราชการนั้นๆ ได้ง่ายๆ เพราะตัวผลงานจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ แต่คงอาจจะบอกไม่ได้ว่าผู้บริหารหน่วยงานนั้นๆ จะบอกกับรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคนให้คะแนนเป็นจริงหรือไม่ แต่หากปรากฏชัดเจนในแบบประเมินพบว่าทำงานไม่ได้เรื่อง แล้วจะปล่อยให้เป็นปลัดหรืออธิบดีคนนี้ทำงานต่อไปได้อย่างไร

ดังนั้น ในฝ่ายบริหารจะเป็นคนให้ผ่านในท้ายที่สุดว่า ดีมาก พอใช้ หรือตก ถึงอย่างไรก็ตาม 5 ดัชนีกับเกณฑ์ในการประเมินเหล่านี้คือ ภูมิคุ้มกันเป็นอย่างดีเกี่ยวกับปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม เพราะเกณฑ์ใหม่ครั้งนี้ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จุดอ่อนจุดแข็งการทำงานเป็นอย่างไร และช่วยการแต่งตั้งโยกย้ายจะได้เห็นภาพการทำงาน ดังนั้นการฟ้องร้องต่อศาลปกครองจะได้รู้กันว่าหลักฐานการทำงานเป็นอย่างไร จะไม่มีการใช้ความรู้สึกหรือไม่ชอบหน้ากันก็จะย้ายกันได้ง่ายๆ แต่พอพบว่ามีผลงานเต็ม การโยกย้ายก็ลำบากใจ ดังนั้นทุกคนต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีผลงาน