posttoday

ปล่อยเด็กเติบโตอย่างธรรมชาติ เขาจะค้นพบตัวเองในที่สุด

14 เมษายน 2559

ผู้ปกครองควรปล่อยให้เด็กเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เขาค้นพบตัวของเขาเองว่าอะไรที่ทำให้เขามีความสุข

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า ปี 2558 มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 3.15 แสนราย ในจำนวนนี้มากกว่า 50% เป็นบัณฑิตสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์

ก่อนหน้านั้น 1 ปี คือในปี 2557 สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คือ 2 ใน 5 สาขาที่บัณฑิต “ตกงาน” มากที่สุด

คำถามคือ เหตุใดสาขาวิชาที่ตกงานมากจึงยังมีผู้เรียนมากเช่นเดิม

แม้จะไม่มีตัวเลข “บัณฑิตเตะฝุ่น” ที่ชัดเจน แต่หากเทียบเคียงการประมาณการผู้สำเร็จการศึกษาปี 2559 ระดับปริญญาตรีกับผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีเดียวกัน โดย กองวิจัยตลาดแรงงาน กระทรวงแรงงาน จะพบว่ามีส่วนต่างไม่น้อยกว่า 4.3 หมื่นราย

สะท้อนว่าการผลิตแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของตลาด นำมาซึ่งปัญหาการทำงาน “ไม่ตรงสาย”

แต่นั่นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

ว่ากันให้สุด ฐานล่างของปัญหาข้างต้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้เรียนไม่รู้จักศักยภาพของตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่บุคลากรทางการศึกษาก็มีข้อจำกัดในการสนับสนุนจุดแข็งของเด็ก

เด็กจึงถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างผิดรูปผิดทรง

จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ อธิบายว่า สมองส่วนความคิดของมนุษย์จะเติบโตเต็มที่ในช่วงวัยรุ่น คือ ระหว่างอายุ 20-30 ปี ช่วงวัยรุ่นจึงเป็นช่วงเวลาทองของการเรียนรู้ หากเด็กรู้จักตัวเองได้เร็วก็จะสามารถพัฒนาจุดแข็งได้อย่างเต็มที่

“สมองชั้นในซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม ความจำ และการเรียนรู้จะพัฒนาในช่วงอายุ 12-13 ปี ส่วนสมองเปลือกนอกซึ่งควบคุมสติปัญญาและความคิดเชิงเหตุผลจะพัฒนามากในช่วง 20-25 ปี ไปจนถึง 30 ปี” จุฬากรณ์ อธิบาย

ดังนั้น สมองทำงานด้วยเซลล์ประสาท ซึ่งเซลล์ประสาทจะแข็งแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับกระบวนการเตรียมตัว เด็กเล็กจะมีเซลล์นี้เป็นล้านๆ แต่พอเข้าสู่วัยรุ่นเซลล์จะลดลงแต่จะมีการก่อรูปใหม่ตามความถนัด หากเด็กค้นหาตัวเองเจอก่อนสมองก็จะได้รับการพัฒนาตามจุดแข็งนั้นๆ

ตามทฤษฎีพหุปัญญา ที่นำเสนอโดย ศ.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยาการศึกษาแห่งฮาร์วาร์ด แบ่งปัญญาของมนุษย์ออกเป็น 8 ด้าน ทุกคนมีครบทุกด้าน เพียงแต่ในบางด้านโดดเด่นแตกต่างกัน

“ปัญญาทุกด้านไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่ทำงานผสมผสานกันเป็นบุคลิกภาพของเรา ทฤษฎีนี้ไม่ได้เสนอขึ้นมาเพื่อจัดอันดับว่าใครมีปัญญามากน้อยกว่ากัน แต่มีไว้เพื่อให้คนได้ค้นพบและใช้ปัญญาที่ตนถนัดเพื่อประโยชน์แก่สังคม” คือความคิดรวบยอดที่นำเสนอไว้ตั้งแต่ปี 1983

นั่นหมายความว่า “ค่านิยมร่วมของสังคม” และการให้คุณค่าอาชีพผ่านมุมมองที่เหมารวม (Stereotype) ซึ่งบดบังและปิดกั้น “ทางเลือก” ของผู้เรียน เป็นสิ่งที่สวนทางโดยสิ้นเชิงกับทฤษฎีนี้

“เทคนิคการค้นพบตัวเองคือเราต้องให้หัวใจนำทาง ต้องถามตัวเองตลอดว่าใช่สิ่งที่เรามีความสุขหรือไม่” ภัทราพร สังข์พวงทอง โปรดิวเซอร์และพิธีกรรายการกบนอกกะลา ระบุ

เธอ บอกว่า ผู้ปกครองควรปล่อยให้เด็กเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เขาค้นพบตัวของเขาเองว่าอะไรที่ทำให้เขามีความสุข

เช่นเดียวกับ ภก.วีระพงษ์ ประสงค์จีน ภาควิชาชีวเคมีและจุลวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า ผู้ปกครองควรปล่อยเด็กมีอิสระให้อยู่กับตัวเองซึ่งจะเป็นการหยั่งรากลึก พอโตขึ้นมาแล้วจะทำอะไรก็มีความสุข

“เด็กๆ ต้องรู้ก่อนว่าเราเป็นใครมาจากไหน มีทุนทางสังคมอย่างไร มีภูมิปัญญาอะไร จากนั้นค่อยต่อยอดองค์ความรู้ท้องถิ่นเข้ากับความคิดสากล” เขาระบุ

เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยค้นหาตัวเอง คือ Web Application ของ Samsung Career Discovery (SCD) แบบทดสอบเชิงจิตวิทยา 40 ข้อ แปรผลปัญญา 8 ด้าน ออกเป็นกราฟวงกลม พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านอาชีพ

เพราะการก่อรูปความสำเร็จ มีต้นทางจากการค้นพบตัวเอง