posttoday

"บุหรี่แพง นักสูบลด" เรื่องจริงหรือแค่มโน?

08 มีนาคม 2559

มาตรการขึ้นภาษีบุหรี่ ช่วยให้คนลด ละ เลิกสูบบุหรี่ได้จริงหรือ?

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

หนึ่งเดือนหลังการประกาศขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ ส่งผลให้ราคาบุหรี่พุ่งสูงถึงซองละ 20 บาท ตามมาด้วยกระแสต่อว่าต่อขานจากสิงห์อมควันทั่วประเทศ

การปรับขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้ รัฐบาลให้เหตุผลว่าจะเก็บเงินเข้าคลังเพิ่มขึ้นได้อีก 15,000 ล้านบาท ทั้งยังช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลง แบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากบุหรี่ลงได้อีกมหาศาล

คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ บุหรี่แพงช่วยให้นักสูบลด ละ เลิกสูบบุหรี่ได้จริงหรือ

ย้อนรอย"ภาษียาสูบ"

จากการศึกษาเรื่อง "วิวัฒนาการของการควบคุมการบริโภคยาสูบในเมืองไทย" โดยชูชัย ศุภวงศ์, สุภกร บัวสาย และจิตสิริ ธนภัทร สถาบันวิจัยสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า การควบคุมการบริโภคยาสูบในไทยแบ่งออกเป็น 4 ช่วง 

ช่วงแรก ก่อนปีพ.ศ. 2529 การดำเนินการเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดความต่อเนื่อง

ช่วงที่สอง 2529-2532 มีการประสานงานกันและจัดตั้งองค์กรเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ สำนักควบคุมยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข

ช่วงที่สาม 2532-2534 ถูกประเทศมหาอำนาจใช้กฎหมายทางการค้าบีบบังคับให้เปิดตลาดบุหรี่ต่างประเทศ

ช่วงที่สี่ 2534-2539 ช่วงเวลาของการใช้มาตรการทางกฎหมายและภาษี เช่น ออกกฎหมายควบคุมโฆษณาและส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ รวมทั้งการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ

ปัจจุบัน ระบบภาษียาสูบของไทยใช้นโยบาย "สองเลือกหนึ่ง"  หมายถึง คำนวณภาษีตามราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้ง  และคำนวณภาษีตามสภาพ คือ ตามน้ำหนักมวนบุหรี่ หากวิธีคำนวณไหนมีมูลค่าภาษีมากกว่าก็ให้เก็บตามวิธีนั้น

ข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายบุหรี่เฉลี่ยคงที่ ประมาณ 2,000 ล้านซอง ทว่ารายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มเป็น 4 เท่า ยกตัวอย่าง เช่น ปี 2534 เก็บภาษีได้ 15,898 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราภาษี 55 % ปี 2558 อัตราภาษีกระโดดไปถึง 87 % เก็บภาษีได้ 62,733 ล้านบาท นอกจากนี้ ยาสูบถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกจัดเก็บภาษีไว้ในหมวดภาษีบาป (Sin tax) หมายถึง กิจกรรมที่รัฐไม่สนับสนุน เนื่องจากส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ต่อมาจึงมีแนวคิดที่จะนำเงินส่วนหนึ่งของภาษีบาปไปสนับสนุนกิจองค์กรทางสังคมอื่นๆ เช่น หัก 2 % ของภาษีที่ต้องชำระในแต่ละปีไปสนับสนุนการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 1.5 % สนับสนุนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อีก 2 % สนับสนุนกองทุนการกีฬา เป็นต้น

ล่าสุดการปรับขึ้นราคาภาษียาสูบ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้กฎกระทรวงปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบทั้งสองแบบ คือ คำนวณภาษีจากราคาต้นทุน จากเดิม 87% ปรับขึ้นเป็น 90% และคำนวณภาษีตามสภาพ จากเดิมเก็บ 1 บาทต่อกรัม ขยับขึ้นเป็น 1.1 บาทต่อกรัม ส่งผลให้ราคาบุหรี่ที่ขายในประเทศเพิ่มขึ้น 5-20 บาท ยกตัวอย่างบุหรี่ยี่ห้อดังของต่างประเทศที่เคยจำหน่าย 95 บาทต่อซอง ปรับเป็น 120 บาทต่อซอง บุหรี่ต่างประเทศยี่ห้อดังอีกราย 66 บาทต่อซอง เพิ่มเป็น 80 บาทต่อซอง ส่วนบุหรี่ในประเทศยี่ห้อดัง ราคา 67 บาทต่อซอง ปรับเป็น 80 บาทต่อซอง ขณะที่บุหรี่ราคาต่ำสุดเคยขายอยู่ที่ 35 บาทต่อซอง ปรับเป็น 40 บาทต่อซอง เป็นต้น

"บุหรี่แพง นักสูบลด" เรื่องจริงหรือแค่มโน?

"ขึ้นราคาบุหรี่"ยาแรงได้ผลชะงัด 

ว่ากันว่า มาตรการขึ้นภาษียาสูบถือเป็นวิธีการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แม้แต่บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ยังออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยความหวั่นเกรง

ดังเช่นหนังสือชื่อ "Trust us We'are The Tobacco Industry" เขียนโดย รอสส์ แฮมมอนด์ และแอนดี้ โรเวล ได้เผยแพร่เอกสารลับภายในของบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งแสดงความวิตกกังวลต่อการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบว่า

"ในบรรดาความวิตกกังวลทั้งหมด มีอยู่ข้อหนึ่งที่ทำให้เราหวาดหวั่นมากที่สุด นั่นคือ การเก็บภาษีอากร แม้ว่ามาตรการจำกัดกิจกรรมการตลาด การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และการสูบบุหรี่มือสองทำให้ยอดขายลดลง แต่จากประสบการณ์ของเรา การเก็บภาษีอากรทำให้ยอดขายลดฮวบฮาบลงกว่านั้นได้มากทีเดียว"

หนังสือเล่มนี้ยังระบุอีกว่า การคงระดับราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ต่ำมีความสำคัญมากสำหรับความพยายามของบริษัทบุหรี่ที่จะรักษาลูกค้าในปัจจุบันเอาไว้ พร้อมๆกับดึงดูดใจให้คนเริ่มสูบบุหรี่ ยกตัวอย่างในละตินอเมริกา มาร์ลโบโร เรด มีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้สูบบุหรี่วัยหนุ่มสาวตอนต้นและผู้เริ่มสูบบุหรี่เป็นอย่างมาก เคล็ดลับของการเติบโตของมาร์ลโบโร เรดในตลาดละติน อเมริกาคือ ราคาที่ย่อมเยา

ศาสตราจารย์ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้สูบบุหรี่แบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ รวยมาก รวย ปานกลาง จน และจนมาก

"บุหรี่แพง คนรวยมากกับรวยจะไม่ได้รับผลกระทบเลย ยังสูบยี่ห้อเดิมในปริมาณเท่าเดิม ขณะที่คนฐานะปานกลาง อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อย เช่น ลดปริมาณการสูบลง จากสัปดาห์ละ 2 ซองเหลือ 1 ซอง แต่ไม่เปลี่ยนยี่ห้อ คนจนจะเปลี่ยนหันไปสูบยี่ห้อที่ราคาถูกกว่า หรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปสูบยาเส้น สุดท้ายคนจนมาก กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบหนักสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2557 เคยสำรวจว่า คนจนสุดๆที่มีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,982 บาท ต้องเสียเงินซื้อบุหรี่ถึงเดือนละ 426.8 บาท นับเป็น 21.5 % ของรายได้ ถ้าบุหรี่แพงขึ้น บางคนอาจเลิกสูบเพราะซื้อไม่ไหว ผมว่าถ้าคนจนเลิกได้ มันจะปลดเขาออกไปจากวงจรชีวิตเดิมๆ เงินที่เคยเสียค่าบุหรี่เปลี่ยนไปซื้อสิ่งจำเป็นอย่างอื่น คุณภาพชีวิตของเขาก็จะดีขึ้น"

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยอมรับว่า การขึ้นภาษีบุหรี่มีส่วนทำให้คนเลิกบุหรี่ได้จริง แต่สำหรับเมืองไทยอาจมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เหตุเพราะโครงสร้างภาษียาสูบของเมืองไทยยังมีจุดอ่อน

"ขึ้นราคาแต่ละครั้งแค่ 20 บาทต่อซอง ถ้าคุณเงินเดือน 20,000 คงไม่กระทบกระเทือนหรอก ลองขึ้นภาษีโหดๆแบบออสเตรเลีย มาเลเซียสิ บุหรี่ราคาถูกสุดในตลาดตอนนี้ประมาณ 100 บาทต่อซองแล้ว  บ้านเราโครงสร้างภาษียังมีช่องโหว่ เปิดโอกาสเปิดทางเลือกให้เขาเปลี่ยนไปสูบอย่างอื่นแทนได้" 

"บุหรี่แพง นักสูบลด" เรื่องจริงหรือแค่มโน? ศาสตราจารย์ นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ปัจจุบันรายได้รัฐบาลจากกิจการยาสูบแบ่งเป็น รายได้จากโรงงานยาสูบหรือขายบุหรี่ 6,000 ล้านบาท และ รายได้จากภาษีสรรพสามิตหรือภาษีบุหรี่ 60,000 ล้านบาท 

"รัฐบาลหลายประเทศที่ใส่ใจให้ความสำคัญต่อสุขภาพประชาชน เขาจะยอมสละรายได้จากโรงงานยาสูบด้วยการขายโรงงานทิ้ง แล้วเลือกเอารายได้จากภาษีบุหรี่ซึ่งมากกว่าหลายเท่า ที่สำคัญจะช่วยยับยั้งการเพิ่มขึ้นค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยอันเนื่องมkจากการสูบบุหรี่ ซึ่งแต่ละปีรัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงทางอ้อมนับแสนล้าน อีกเรื่องไม่ควรมองข้ามคือ การขึ้นภาษีบุหรี่ บุหรี่มีราคาแพงขึ้น จะช่วยสกัดกั้นนักสูบหน้าใหม่ออกไปได้ โดยเฉพาะเยาวชน"
 
เสียงสะท้อนจากสิงห์อมควัน

ทุกครั้งที่มีการขึ้นราคาบุหรี่ เสียงก่นด่าสาปแช่งดังระงมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้สูบบุหรี่ต่อการขึ้นภาษีบุหรี่ โดยกรุงเทพโพลล์ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยถึง 75.5 % โดยเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยคือ 81.2 % ทำให้บุหรี่มีราคาแพงเกินไป 9.8 % มองว่ารัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด 9.0 % ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่ 24.5 % ของผู้ที่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีบุหรี่ ให้เหตุผลว่า 48.4 %จะทำให้สูบบุหรี่ลดลง  20.8 % เชื่อว่าจะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ 11.8 % ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ และ 19 % มองว่าทำลายสุขภาพ ฟุ่มเฟื่อยไร้สาระ

ถามความเห็นไปยังเจ้าของร้านโชห่วยรายหนึ่ง ย่านท่าน้ำนนท์ เขาเชื่อว่าสาเหตุการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลถังแตก ต้องการเงินไปบริหารประเทศ

"ทุกรัฐบาลเวลาเงินขาดมือก็จะหาทางขึ้นภาษีโน้นภาษีนี้ หนีไม่พ้นเหล้ากับบุหรี่ ถามว่ายอดขายตกไหมก็มีหายไปบ้างเล็กน้อยช่วงสแรกๆ อาจเป็นเพราะว่าคนอาจตกใจข่าว สับสน แต่สุดท้ายก็กลับมาสูบเหมือนเดิม คนติดยังไงมันก็ต้องสูบ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของลูกค้าประจำยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คนมีเงินซื้อบุหรี่นอก แพงแค่ไหนก็ยังซื้อ ส่วนพวกคนรายได้น้อยที่นิยมสูบบุหรี่ไทย จะซื้อแบบแบ่งขายทีละ 4 มวน ราคา 20 บาท แบบนี้ซื้อง่ายขายคล่องกว่า"

"บุหรี่แพง นักสูบลด" เรื่องจริงหรือแค่มโน? เพจเฟซบุ๊ก Thai Smokers Community

บุญเหลือ สงมา พนักงานรักษาความปลอดภัย เล่าว่า เปลี่ยนพฤติกรรมจากการ'ซื้อซอง'มาเป็น'ซื้อแบ่งขาย'นานแล้ว

"สมัยก่อนซื้อเป็นซอง พอมันขึ้นพรวดๆจาก 40 บาท เป็น 80 บาทก็ไม่ไหว หันมาซื้อแบบแบ่งขายดีกว่า เสียเงินน้อย แถมช่วยให้สูบน้อยลงด้วย ผมไม่คิดจะเปลี่ยนยี่ห้อนะ ติดรสชาติ บุหรี่ราคาถูกบางยี่ห้อสูบทีเดียวแทบเขวี้ยงซองทิ้ง รสชาติแย่มาก เดี๋ยวนี้ใครมาขอฟรีๆด่าเลย มวนละ 7 บาทแล้ว ใจมึงยังจะขอกันอีกเหรอ"

จุฬา เสรีวัลลภ ลูกจ้างบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง ให้ความเห็นว่า บุหรี่แพง นักสูบรากหญ้าได้รับผลกระทบแน่นอน อาจสูบในปริมาณที่น้อยลง แต่เชื่อว่าไม่มีใครเลิกอย่างแน่นอน

"บุหรี่แพง คนยังปรับตัวได้ เปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนมาซื้อแบ่งขาย ไม่มีใครเลิกหรอก บุหรี่มันเลิกง่ายๆที่ไหน เท่าที่เจอมาคนเลิกบุหรี่ได้เพราะจำใจต้องเลิกเพราะป่วย ขืนดูดอีกตายแน่ อีกกลุ่มคือลูกเมียขอร้อง เลิกเพราะบุหรี่แพงไม่น่าจะมี ต่อให้ยุบโรงงานยาสูบทิ้ง คนติดมันก็ขวนขวายหามาสูบได้อยู่ดีครับ"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับขึ้นภาษีบุหรี่ ก่อให้เกิดกระแสคัดค้านต่อต้านจากบรรดานักสูบที่ปัจจุบันมีมากถึง 11 ล้านคน แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างท้วมท้นถล่มทลายจากประชาชนผู้ไม่สูบบุหรี่อีกเป็นจำนวนมาก 

"บุหรี่แพง นักสูบลด" เรื่องจริงหรือแค่มโน?