posttoday

"ละครไทยกับการแพทย์"...เมื่อความมักง่ายอาจกลายเป็นหายนะ?

25 พฤศจิกายน 2558

ฉากเกี่ยวกับการแพทย์ในละครไทยที่ผิด อาจสร้างผลกระทบต่อผู้ชมอย่างคาดไม่ถึง

เรื่อง...วรรณโชค ไชยสะอาด

ดูเหมือนจะเป็นประเด็นร้อนที่เถียงกันได้ไม่จบไม่สิ้น สำหรับ"ความไม่สมจริง"ที่เห็นในฉากละครและภาพยนตร์ไทย

โดยเฉพาะฉากว่าด้วยเรื่องการแพทย์ ขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ป่วย การดูแลรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลที่มักผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดว่าความเป็นความตายของคนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินว่าจะทำออกมาชุ่ยๆ มักง่าย และไร้ความผิดชอบ

ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างฉากเกี่ยวกับการแพทย์ในละครและภาพยนต์ไทยที่เข้าข่าย"มั่วนิ่ม"อย่างชัดเจน

เพื่อนรักเพื่อนริษยา ออกอากาศทางช่อง 3 ฉากจบที่ "อุไร" รับบทโดยคริส หอวัง นอนแซ่วอยู่บนเตียง หลังจากป่วยหนักด้วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย สภาพร่างกายผิวหนังเต็มไปด้วยแผลเหวอะหวะน่าสยดสยอง ก่อนจะจบชีวิตลงในที่สุด ปัญหาเกิดขึ้นทันทีหลังจากเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ส่งหนังสือถึงผู้จัดละครว่า ละครตีความผู้ป่วยเอดส์ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ชมรับข้อมูลเกี่ยวผู้ป่วยโรคเอดส์ผิด พร้อมเรียกร้องให้มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ 

"ฉากดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ อย่างร้ายแรง เพราะความจริงคือเมื่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีรู้ตัวว่ามีเชื้อ และเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ก็ไม่จำเป็นจะต้องป่วยเอดส์ ยิ่งเริ่มยาเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ถูกทำลาย มีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตได้ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป และดูไม่ออกจากรูปลักษณ์ภายนอก การสื่อสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริง และผลิตซ้ำความเข้าใจผิดนั้นจะส่งผลให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในสังคมได้อย่างยากลำบาก เกิดการรังเกียจ กีดกันไม่ให้อยู่ร่วมกันในสังคม ทั้งยังส่งผลให้คนที่มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งหมายถึงทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ไม่กล้าเข้ามารับการตรวจรักษา เพราะเชื่อว่ายังไงก็รักษาไม่หาย และยังจะส่งผลให้คนที่มีเพศสัมพันธ์ มองความเสี่ยงต่อการรับเชื้อของตนเองพลาด ไม่ป้องกัน เพราะคิดว่าคนที่ตัวเองมีเพศสัมพันธ์ด้วยไม่มีเชื้อแน่นอน เพราะถ้ามีเชื้อ ต้องแสดงอาการป่วยให้เห็นเหมือนในละคร ผลกระทบทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างปัญหาในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านเอดส์ให้กับประเทศในระยะยาว"

"ละครไทยกับการแพทย์"...เมื่อความมักง่ายอาจกลายเป็นหายนะ? ฉากตัวละครกำลังป่วยด้วยโรคเอดส์ระยะสุดท้าย จากละครเรื่องเพื่อนรักเพื่อนริษยา

สองหัวใจนี้เพื่อเธอ ช่อง 3  ถูกตำหนิอย่างหนักในฉากการให้เลือดที่โรงพยาบาล โดยนางเอกให้เลือดพระเอกแบบต่อสายตรงจากคนบริจาคเลือดไปยังคนไข้ ถือว่าผิดหลักการทางการแพทย์ เพราะการให้เลือดต้องผ่านกระบวนการมากมาย ไม่ง่ายเหมือนในละคร

ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชาย (ทนพ.)  โพสต์เฟซบุ๊กว่า ละครไทยหลายเรื่อง มักจะให้เลือดกันตรงๆโดยไม่ผ่านการทดสอบเสียก่อน ซึ่งผู้รับเลือดอาจเสียชีวิตได้ ความจริงคือเมื่อเราบริจาคเลือดแล้ว จะยังไม่สามารถเอาไปใช้ได้ทันที เพราะเลือดจากบุคคลต่างๆ แม้ว่ามีหมู่เลือดเหมือนกัน อาจเข้ากันไม่ได้ จำเป็นต้องมีวิธีการทดสอบเสียก่อนว่าเลือดของผู้ให้กับผู้รับเข้ากันได้หรือไม่ วิธีการนี้เรียกว่า “Cross matching” หรือการทดสอบความเข้ากันได้ของโลหิต ตรวจโดยนักเทคนิคการแพทย์

"ละครไทยกับการแพทย์"...เมื่อความมักง่ายอาจกลายเป็นหายนะ? ฉากให้เลือดต่อสายตรง จากละครเรื่องสองหัวใจนี้เพื่อเธอ

พรพรหมอลเวง ทางช่อง 3 ไฮไลต์อยู่ที่หลายฉากในเรื่อง เช่น ฉากการใช้หน้ากากช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจน การเมกอัพผิวหน้าและเรือนร่างขณะเข้าห้องผ่าตัด การแจ้งข่าวร้าย (breaking bad news) และการช่วยฟื้นคืนชีพ ปั๊มหัวใจ หรือCPR  ล้วนผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย โดยแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ใกล้มิตรชิดหมอ” ที่คอยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลทางการแพทย์โดยแพทย์ ได้ออกมาจับผิดฉากต่างๆในละครเรื่องดังกล่าว พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง 4 ประการดังนี้

1.การใช้หน้ากากช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจน  ผู้ต้องการได้รับความช่วยเหลือในละครคือเด็ก เเต่กลับใช้หน้ากากที่มีขนาดใหญ่ ครอบเลยปากและจมูก เมื่อบีบไป อากาศจึงรั่วออกหมด ไม่เกิดประโยชน์ แถมถุงที่บีบเพื่อช่วยหายใจ (ambu bag) มีขนาดใหญ่มาก การบีบ ambu bag ต้องใช้ขนาดที่พอดีสำหรับแต่ละวัย และบีบในความแรงที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้อากาศเข้าปอดมากจนเกินไป

2.เมกอัพ ตามมาตรฐานทั่วไป คนไข้ที่ต้องเข้าห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้ามแต่งหน้า ต้องล้างเครื่องสำอางออกให้หมด ถ้าทาเล็บก็ต้องล้างออกให้หมด แปรงฟันบ้วนปากให้สะอาด  ถ้ามีบางโรงพยาบาลทำแตกต่างไปจากนี้ เช่น ให้แต่งหน้าได้เบาๆ หรือทาเล็บได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละแห่ง เหตุผลที่ต้องให้ล้างเครื่องสำอางหมด เพราะในการผ่าตัดแพทย์ต้องการดูลักษณะสีผิวที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อคนไข้เกิดความผิดปกติ เช่น เสียเลือดมากปากจะซีด ผิวหน้าจะซีด ขาดออกซิเจน หน้าจะเขียวคล้ำ ถ้าแต่งหน้ามาเต็ม การดูสิ่งเหล่านี้ก็จะยาก นอกจากนั้น ยาทาเล็บสีต่างๆยังมีผลต่อการวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง (SpO2) ที่ใช้เครื่องมือมาหนีบที่นิ้ว โดยพบว่าค่า SpO2 ต่างกันไปตามสีที่ทาเล็บ ส่วนใหญ่ทำให้อ่านค่าได้ต่ำลง เกิดความคลาดเคลื่อนและอาจวินิจฉัยผิดไปว่าคนไข้มีปัญหาการหายใจหรือขาดออกซิเจนได้

3.การแจ้งข่าวร้าย (breaking bad news) ในละครไทยระบุว่า "หมอช่วยเต็มที่แล้ว คนไข้ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียใจด้วยครับ" / "หมอพยายามเต็มที่แล้ว คนไข้มาถึงช้าไป ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ"ประโยคคุ้นหูเหล่านี้มีช่องโหว่อยู่หลายจุด  โดยคำว่า "ทนพิษบาดแผลไม่ไหว" ทำให้เกิดคำถาม ว่าบาดแผลมีพิษอย่างไร เนื่องจากบาดแผลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุถูกทำร้ายหรืออื่นๆ ไม่น่าจะมีพิษจนทำให้คนไข้ทนไม่ไหว ประโยคที่ใช้จริงและควรใช้ คือการอธิบายเลยว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น คนไข้โดนยิงเข้าหน้าอกโดนปอด โดนเส้นเลือดใหญ่ วิธีการอธิบายก็บอกไปว่า กระสุนถูกยิงเข้าปอดและโดนเส้นเลือดใหญ่บริเวณปอดทำให้คนไข้เสียเลือดมากจนความดันตกและหัวใจหยุดเต้น "หมอพยายามเต็มที่แล้ว"  คำว่าพยายามเต็มที่แล้ว หมอได้ทำอะไรไปบ้าง เช่น ในกรณีที่คนไข้หมดสติแล้วนำส่งโรงพยาบาล หมอทำการปั๊มหัวใจ CPR เป็นต้น คำอธิบายก็ควรจะเป็น "ตอนคนไข้มาถึงโรงพยาบาลหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว หมอได้ทำการปั๊มหัวใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจอยู่นานประมาณ 30 นาทีครับ แต่คนไข้ไม่ตอบสนอง ไม่มีการกลับมาเต้นของหัวใจ" สิ่งเล็กๆน้อยๆอย่างนี้ที่วงการละครไทยไม่เห็นความสำคัญ กลายเป็นประโยคจำ ประโยคติดปากของตัวละครหมอไป

4.การช่วยฟื้นคืนชีพ ปั๊มหัวใจ หรือ CPR  เรื่องนี้สำคัญมาก และมีจุดผิดหลายจุดในละครทุกเรื่องเพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่มีหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการช่วยฟื้นคืนชีพ หรือปั๊มหัวใจ หรือ CPR  ละครทำออกมามั่วมากทุกจุด อาทิ

กดอยู่ที่นม ปั๊มยังไงหัวใจก็ไม่กลับมาเต้น !!! ตำแหน่งที่ถูกต้องของการกดหน้าอกเพื่อ CPR จะอยู่ตรงกระดูกหน้าอกเหนือลิ้นปี่ไปเล็กน้อย หรือลากเส้นสมมติระหว่างหัวนม 2 ข้าง มาตรงกลาง ตำแหน่งตรงนั้นถูกต้อง ผิดกับในละคร บ้างก็กดนม บ้างก็กดต่ำลงมาที่ท้อง ผิดและเป็นอันตรายกับการบาดเจ็บหน้าอก กระดูกซี่โครงหักทิ่มปอด หรือบาดเจ็บช่องท้องด้วย

5 วินาทีกดหน้าอกทีนึง ไร้ประโยชน์มาก ! อัตราการกดหน้าอกที่ถูกต้องคือ มากกว่าหรือเท่ากับ 100ครั้ง/นาที วิธีการนับคือ 1 และ 2 และ 3....และ10,11,12... จนถึง 30 ครั้ง/1รอบ แล้วช่วยหายใจ 2 ครั้ง ในกรณีที่อยู่นอกโรงพยาบาล ทำไปเรื่อยๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมา การกดหน้าอกเป็นการใช้แรงจากภายนอกเพื่อกระตุ้นหัวใจ และส่งแรงไปที่หัวใจให้เกิดแรงบีบเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะสมอง ซึ่งต้องใช้ความแรงในการกดและความเร็วที่เหมาะสม (push hard and fast) ความลึกในการกดไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว ความเร็วในการกดไม่น้อยกว่า 100 ครั้ง/นาที

การ CPR เมื่อถึงโรงพยาบาล ในการ CPR  ถ้าถึงโรงพยาบาลแล้วต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อให้คนไข้ได้รับออกซิเจนต่อเนื่องเพียงพอ ในละครที่เราเห็นจะแปะออกซิเจนที่จมูกหรือใช้หน้ากากออกซิเจน นั่นผิดหมด การใส่ท่อช่วยหายใจเป็นการใส่ผ่านเส้นเสียง  ลงไปในหลอดลม (trachea) ดังนั้นคนไข้จะพูดไม่ได้ในช่วงระหว่างที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ผิดกับภาพที่เห็นในละครหลายๆ เรื่อง  เช่น เวลาคนไข้อยู่ในห้อง ICU มีท่อช่วยหายใจติดอยู่มุมปาก แต่สามารถพูดสั่งเสียได้ยาว

ช็อคไฟฟ้าช๊อตหัวใจ แล้วฟื้น ! การช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจ(defibrillation) นั้นจะใช้เฉพาะในกรณีที่ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ แต่ไม่มีชีพจร ในกรณีคลื่นไฟฟ้าเป็นเส้นตรงยาวยืด การช็อคไฟฟ้าไม่มีประโยชน์ ทำได้แค่กดหน้าอกต่อไปเรื่อยๆ

ฝากไว้ในกายเธอ ภาพยนตร์สยองขวัญจากค่าย GTH ถูกสับเละในหลายฉากทั้ง ฉากที่นางเอกใช้ยาเหน็บ เพื่อเร่งการบีบตัวของมดลูกให้แท้ง ซึ่งในภาพยนตร์ลูกไหลออกมาทันที ขณะที่ข้อเท็จจริงระบุว่าต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 20 ชั่วโมงขึ้นไป หรือ ขนาดของ speculum ที่หมอในภาพยนตร์ใช้ถ่างปากมดลูกนางเอก มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะใช้กับเด็กอายุ 15 – 16 ปี หรือ ที่มาและอาการของโรคท้องมานที่พระเอกในเรื่องเป็น  ถูกตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์ว่าผิดไปจากข้อเท็จจริง รวมทั้งขนาดของเด็กทารกที่หลุดออกมาจากท้องของนางเอกหลังจากใช้ยาเหน็บมีขนาดใหญ่เกินกว่าอายุครรภ์ ที่สำคัญในหนังเด็กยังมีชีวิตและหายใจได้อยู่ ซึ่งผิดกับความเป็นจริงสิ้นเชิง !!!

นอกจากนี้ยังมีละครเรื่องอื่นๆที่ปรากฎความผิดพลาดออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น ละครทีวีช่องหนึ่งนำเสนอว่า หากผู้ป่วยมีไข้สูง ให้เอาไปแช่น้ำเย็น เพื่อลดไข้ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุแล้วว่าการกระทำดังกล่าวผิดหลักการแพทย์และก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะในเด็ก อาจทำให้ไข้พุ่งสูงขึ้นจนชักได้ ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องคือ เช็ดตัวหรืออาบน้ำด้วยน้ำอุ่นที่อุณภูมิห้อง เช็ดตัวและขัดผิวแรงๆ ให้เส้นเลือดขยายตัว เพื่อคายความร้อนจากในร่างกายให้ออกมา แล้วไข้จะลดลง หรือละครอีกเรื่องที่แสดงฉากเอาช้อนยัดปากผู้เป็นลมชัก นี่ก็เป็นเรื่องที่ผิด เพราะความถูกต้องคือ ควรระวังไม่ให้คนที่เป็นลมชักดิ้นจนกระแทกอะไร หันหน้าตะแคงนอนกันสำลัก แล้วรีบเรียกรถพยาบาล โดยไม่ต้องเอาอะไรยัดปาก

"ละครไทยกับการแพทย์"...เมื่อความมักง่ายอาจกลายเป็นหายนะ? ฉากใช้หน้ากากออกซิเจนแก่เด็ก ละครเรื่องพรพรหมอลเวง

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า ความผิดพลาดที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในละครและภาพยนตร์มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ

การสื่อสารของแพทย์ที่ผิดพลาด หลายประโยคของแพทย์และพยาบาลในละคร ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและนำไปปฎิบัติในทางที่ผิด เช่น คำว่า "ทนพิษบาดแผลไม่ไหว" "คุณมาช้าเกินไป" หรือแม้แต่ "หมอได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว"

"ประโยคพวกนี้นี้มีผลกระทบต่อทั้งตัววิชาชีพแพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคคลากรทางการแพทย์ ทำให้การปฎิบัติหน้าที่ในชีวิตจริงนั้นยากขึ้น โดยแท้จริงพวกเราต่างได้รับการร่ำเรียนและพร่ำสอนมาตลอดว่า ต้องดูแลรักษาชีวิตคนไข้อย่างเต็มที่ คำว่า “หมอดูแลอย่างเต็มที่แล้ว” ไม่ได้สื่ออะไรในทางบวก แต่กลับเป็นเชิงลบที่อาจทำให้คิดได้ว่า มีโอกาสที่หมอจะไม่ดูแลอย่างเต็มที่"

การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบผิดๆ การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเฉพาะฉากนวดหัวใจ หรือปั๊มหัวใจ เป็นประเด็นอ่อนไหว หากสื่อนำเสนอไปในท่าทางหรือการกระทำที่ผิดพลาด ย่อมส่งผลกระทบในทางลบ โดยหากประชาชนประสบกับเหตุการณ์ฉุกเฉินในชีวิตจริงขึ้นมา แล้วกระทำในสิ่งที่ผิดไปจากความถูกต้อง ย่อมเป็นเรื่องเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรงจากเดิมได้ เช่น กระทำการนวดหัวใจผิดที่ แล้วเกิดซี่โครงหัก

การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ผิด หลายครั้งพบว่าฉากในละครมีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ความผิดตรงนี้หากมีการนำเสนอและมีคนเสพสื่ออย่างต่อเนื่องจำนวนมาก อาจทำให้ผิดกลายเป็นถูก และตั้งข้อสงสัยกับแพทย์ในสถานการณ์จริงว่าทำไมไม่เหมือนในละคร

“ใช่ว่าทุกคนจะสามารถแยกแยะความผิด ความถูก หรือมีความแตกฉานทางสุขภาพได้ทุกคน หากสื่อยังส่งสารที่ผิดพลาดหรือไม่สมบูรณ์ออกไปเรื่อยๆ คนเสพก็จะคิดและเข้าใจไปกับสารที่ถูกส่งมา เนื่องจากเข้าใจว่าภาพนั้นคงได้รับการกลั่นกรองมาแล้ว หรือแม้แต่คิดว่าตัวเองเสพสื่อด้วยความบันเทิง เพลิดเพลิน ก็อาจจะซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อถึงขั้นตอนการตัดสินใจ ก็จะใช้ประสบการณ์จากที่เคยพบเคยเห็นจากสื่อเหล่านั้นมา โดยมองข้ามการใช้ปัญญาไป”

"ละครไทยกับการแพทย์"...เมื่อความมักง่ายอาจกลายเป็นหายนะ? ฉากใช้ช้อนงัดลิ้นคนป่วยโรคลมชักที่ถูกระบุว่าไม่ถูกต้อง

ผศ.นพ.ธีระ ฝากไปถึงผู้ผลิตละครไทยใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

ต้องนำเสนอเรื่องราวอย่างถูกต้อง  เวลาเราจะส่งสินค้าหรือบริการ อะไรออกไปสู่สาธารณะจำเป็นต้องเช็คให้ดี สาระตรงนั้นมีความถูกต้องเหมาะสมหรือก่อให้เกิดประโยชน์ใดบ้างกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสาระนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคนยิ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว และต้องระวัง จำเป็นต้องมีการกลั่นกรองและศึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้หลายช่องทาง

เลี่ยงการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือรังเกียจเดียดฉันท์ต่อคนบางกลุ่ม สื่ออาจปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมความสร้างสรรค์ลงไปในละคร โดยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในวงการต่างๆ ตัวอย่างเช่น การนำเสนอภาพผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ในละคร แทนที่จะไปฉายสภาพร่างกายที่เลวร้ายสุดขั้ว  อาจนำเสนอวิธีการจัดการดูแลตัวเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนที่ได้รับเชื้อไม่จำเป็นต้องตกนรกทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นพัฒนาไปมาก

รับผิดชอบกับสิ่งที่นำเสนอออกไป  ผู้จัด ผู้สร้าง รวมถึงผู้กำกับ จำเป็นต้องมีกระบวนการทบทวน ติดตาม สิ่งที่นำเสนอออกไป หากมีผลกระทบในแง่ลบ จำเป็นต้องมีการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น อาจปรับสคริปต์ในตอนถัดมาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่ขึ้นข้อความประกอบหรือขยายความ ในฉากที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดปัญหา ซึ่งอนาคตอาจถึงเวลาที่ต้องมีกลไกกลางที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ คอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือให้คำแนะนำกับผู้จัดละคร"

นอกจากผู้จัดละครแล้ว ผู้ชมเองก็ต้องปรับตัวในการเสพสื่อมากขึ้น  ผศ.นพ.ธีระ บอกว่า ในยุคที่ข่าวสารท่วมท้น ประชาชนจำเป็นต้องมีความตื่นตัวในการค้นหาความรู้เพิ่มเติม หากเกิดข้อสงสัยหรือรู้สึกไม่แน่ใจ อย่าลังเลที่จะหาคำตอบ อย่าเชื่อหรือยึดมั่นถือมั่นกับข้อมูลและภาพจากสื่อหรือละครเท่านั้น หากมีข้อสงสัยให้ถามบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง

ถึงเวลาแล้วที่ผู้จัดละคร ผู้กำกับ ทีมสร้างภาพยนตร์ ต้องปรับปรุงการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ถูกต้องออกสู่สังคม เพราะบางครั้งความไม่สมจริงในจอ อาจกลายเป็นหายนะในชีวิตจริงอย่างคาดไม่ถึง