posttoday

8 ยาพิษเคลือบแฝงการศึกษาไทย..."วรากรณ์ สามโกเศศ"

16 กันยายน 2558

"การว่านอนสอนง่าย นับเป็นยาพิษ เพราะเชื่องมากเกินไป คิดเองไม่ได้หรือไม่เป็น ซึ่งเราคงไม่ต้องการคนเเบบนี้ เราต้องการคนที่ยืนด้วยขาตัวเองในขอบเขตหนึ่ง"

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

"การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด ที่เราจะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลก"

เนลสัน แมนเดลา  อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของแอฟริกาใต้

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “การศึกษากับยาพิษแอบแฝง”  ภายในงานสัมมนา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 6 ณ ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เขาเลือกนำคำว่า "ยาพิษ" มาอธิบายอีกด้านของวงการศึกษาไทยด้วยเหตุผลสั้นๆว่า “มันแปลกดีครับ”

การศึกษาคืออะไร...?

ดร.วรากรณ์ เริ่มต้นเล่าให้ฟังเกี่ยวกับวิธีคิดที่เรียกว่า Via negativa  หรือ วิธีคิดแบบลบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา

“เมื่อ 450 ปีที่แล้ว ไมเคิล แองเจิลโล  ประติมากรชื่อดังชาวอิตาลี สกัดรูปปั้นเทพเจ้าเดวิด ผลงานชิ้นเลิศขึ้นมา ถึงขนาดพระสันตะปาปาเอ่ยถามว่า คุณสกัดรูปหินอ่อนอัศจรรย์นี้ได้อย่างไร ไม่เคยมีใครกล้าสกัดรูปผู้ชายแก้ผ้ามาก่อนในสมัยนั้น ไมเคิลตอบกลับไปว่า ผมไม่ได้ทำอะไรหรอกครับ ผมเเค่สกัดสิ่งที่ไม่ใช่เดวิดออกไป เหลือเเต่เดวิดเท่านั้นเอง”

สิ่งที่ไมเคิลแองเจอโลพูดไม่ได้เป็นการเล่นคำ แต่เป็นแนวคิดที่มาจากกรีกสมัยก่อน คือ “ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เเต่รู้ว่าไม่ใช่อะไร”   นี่คือวิธีการคิดของ Via negativa

จากแนวคิดดังกล่าว ดร.วรากรณ์ อธิบายต่อว่า ถ้าไม่รู้ว่าการศึกษาคืออะไร อะไรที่ไม่ใช่การศึกษานั้นสำคัญ

โดยการศึกษาในที่นี้หมายถึงการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ซึ่งประเทศไทยมีคนอยู่ในระบบเพียง 9 ล้านคน ขณะที่อีก 61 ล้านคนอยู่นอกระบบ

"ตัวเลขเมื่อ 12 ปีที่แล้ว จาก 100 คนที่เข้าโรงเรียนอนุบาล พบว่ามีคนที่เรียนจบในชั้นมัธยมปลายเหลือเพียง 42 คนเท่านั้นเอง หายไประหว่างทาง 58 คน ฉะนั้นถ้าเราดูแต่คนในระบบแล้วเราจะขาดคนที่มีการศึกษาอีกมากมาย"

ดร.วรากรณ์ บอกว่า การศึกษาไม่ใช่แค่การท่องจำเเต่อย่างเดียว บางอย่างอาจมีการท่องจำประกอบ แต่เป็นเพียงระดับเดียวไม่ใช่ทั้งหมด

"การศึกษาไม่ใช่แค่การรู้หรือไม่รู้ ไม่ใช่แค่ 0 หรือ 1 การศึกษาไม่ใช่เครื่องมือยกฐานานุภาพ เหมือนที่หลายคนในประเทศไทยคิดกัน การศึกษาไม่ใช่เกมส์ในห้องเรียนเพื่อสอบให้ผ่าน เราไม่ได้เรียนเพื่อสอบ เเต่สอบเพื่อสร้างเเรงกดดันให้ตั้งใจเรียน

สุดท้าย การศึกษาไม่ใช่แค่การเรียนในห้องเรียน ซึ่งการศึกษาไทยจำนวนมากขาดการเชื่อมโยงระหว่างนอกและในห้องเรียน จนเข้าใจว่าสิ่งในห้องเรียนคือการศึกษาเท่านั้น" 

ดร.วรากรณ์ ยกคำพูดของอัจฉริยะชื่อก้องโลกอย่าง อัลเบิร์ด ไอสไตล์ ที่ระบุว่า “การศึกษาไม่ใช่การเรียนรู้เกี่ยวกับความจริงแต่เป็นฝึกฝนการคิด”

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การศึกษาคือ กระบวนการสร้างความใฝ่รู้ การยกระดับความคิดความอ่าน พูดถึงไอเดีย และทำให้คนมีทัศนคติที่กว้าง เข้าใจโลก โดยเฉพาะการมีความคิดที่เป็นบวก ประกอบกับกลไกสร้างจริยธรรมเเละคุณธรรม

"การศึกษาคือกระบวนการที่มันทำให้เราเกิดศรัทธาในความจริง มันฝึกฝนทักษะในการคิด ในการใช้ตรรกะ ถ้าไม่มีการศึกษาเราจะไม่มีตรรกะ”

ในมุมมองของอดีตรมว.กระทรวงศึกษารายนี้ เป้าหมายสำคัญของการศึกษา ประกอบด้วย 6 ข้อดังนี้

1.knowledge ความรู้  สามารถจดจำไอเดีย เนื้อหา และปรากฎการณ์ต่างๆ ได้

2.comprehension ความเข้าใจ จับความหมายได้

3.application  การประยุกต์ การใช้คอนเซปต์ หลักการและกฎเกณฑ์ในสถานการณ์ใหม่ นำความรู้ที่ได้รับมาสร้างสถานการณ์ใหม่

4.analysis การวิเคราะห์ การแยกแยะสารสนเทศ การจับประเด็นความสัมพันธ์ต่างๆ ของสารสนเทศ

5.Synthesis การสังเคราะห์ การเอาองค์ประกอบและส่วนต่างๆ มารวมกันเพื่อสร้างภาพรวมใหม่ สามารถเอาองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้รับมารวม เพื่อสร้างขึ้นมาใหม่

6.Evaluation การประเมิน การตัดสิน

“สรุปว่าการศึกษาเป็นกระบวนการคิดใฝ่รู้ การสร้างจริยธรรมคุณธรรม ไม่ใช่แค่รู้หรือไม่รู้ การศึกษาต้องมีกระบวนการการคิดและรู้ ถ้าเพียง 0 หรือ1 เท่านั้น การศึกษาง่ายมากเลย”

8 ยาพิษเคลือบแฝงการศึกษาไทย..."วรากรณ์ สามโกเศศ"

ยาพิษเคลือบแฝงทำลายการศึกษา

ไม่มีอะไรตื่นเต้นเท่ากับได้ยินคำว่ายาพิษ เพราะมันคือสารที่ก่อให้เกิดความผิดปกติในระบบการทำงานในร่างของสิ่งมีชีวิต

ดร.วรากรณ์ บอกว่า สำหรับวงการศึกษาที่ทุกคนเข้าใจว่าเป็นของดีก็กลับกลายเป็นยาพิษได้เช่นกัน ถ้าหากการศึกษานั้นไม่ใช่การศึกษาที่สมควรจะเป็น หรือเป็นการศึกษาที่ไม่ได้ทำให้คนเห็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นถูกต้อง คล้ายกับสุภาษิตไทยที่ว่า 'เห็นกงจักรเป็นดอกบัว' นั่นเอง

ต่อไปนี้คือ 8 ยาพิษแอบแฝงอยู่ในการศึกษา ในมุมมองของดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

1.teacher (parent) - centered มิใช่ student - centered การที่ผลประโยชน์นั้นเน้นไปที่ครูหรือพ่อแม่ ทั้งที่ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน 

“เวลาสอนในห้องเรียนธรรมดานั้นมีกั๊กบทเรียน เพื่อให้ได้สอนพิเศษ แล้วคิดว่าเด็กไม่รู้หรอว่า เป็นความไม่ถูกต้อง เด็กรู้ แต่จะพูดหรือไม่พูดเท่านั้นเอง ไม่แน่ใจว่ามีกี่ประเทศที่หลังเลิกเรียนเด็กต้องเรียนพิเศษต่อเพื่อเป็นรายได้ให้กับครู นี่เป็นอุปสรรคต่อระบบการศึกษา

เด็กหลายคนไม่อยากเรียน เพียงแต่ไม่อยากเป็นคนแปลกแยก พ่อแม่ก็ไม่อยากให้ลูกเรียน แต่ไม่อยากให้ลูกมีปัญหา กลัวไม่รู้ข้อสอบหรือแม้กระทั่งกลัวครูไม่ชอบหน้าขึ้นมา ลูกจะเดือดร้อน สุดท้ายก็ให้เรียนๆ ไป เดือนละ 300-400 บาทต่อคน เรื่องแบบนี้เป็นยาพิษ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เด็กเคยชินกับความไม่ถูกต้อง สิ่งที่ตามมาก็หนีไม่พ้นความไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ผมเห็นว่า การที่ครูมีรายได้จากการสอนพิเศษเป็นยาพิษที่จะต้องพูดเเละหาทางเเก้ในส่วนนี้"

2.ครอบงำความคิดของศิษย์

นักเขียนชาวอเมริกันคนหนึ่งบอกว่า วัตถุประสงค์ของการศึกษา คือการทำให้กระจกกลายเป็นหน้าต่าง  หมายความว่า ไม่ใช่สอนเด็กให้เหมือนตัวเอง แต่ต้องการให้มีความหลากหลายเป็นหน้าต่างที่เกิดขึ้น

“ถ้าคิดแบบแคบ อคติแบบแคบ ครอบงำศิษย์หรือลูกแบบแคบ ผมว่าไม่สอดคล้องกับโลกใบนี้ และคิดว่าเป็นยาพิษอย่างหนึ่ง ราล์ฟ วัลโด เอเมอร์สัน นักเขียนและนักปรัชญาชาวอเมริกัน ที่บอกว่า 'ความลับของการศึกษา อยู่ที่เรื่องของการเคารพนักเรียน'  ในที่นี้หมายความว่า เคารพในสิทธิของความเป็นศิษย์ เคารพความคิดของเขาและไม่ยัดเยียด"

3.จงใจล้างสมอง

อ.วรากรณ์ บอกว่า การศึกษาในโลกใบนี้มากมายไปด้วยการล้างสมอง โดยยกตัวอย่างประเด็นสุดคลาสสิคในสังคมไทย คือ “ชาตินิยม” ซึ่งเป็นยาพิษที่แรงมากและทำให้เด็กมองโลกผิดกว่าที่ควรจะเป็น

“สังคมเราจะมองว่ามีคนไทยอยู่สองประเภท คือ คนไทยแท้และคนไทยไม่แท้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะทุกชาติในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เคยเป็นคนอพยพมาแล้วทั้งหมด ชาติไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยคนชาติพันธ์ แต่ชาตินั้นประกอบขึ้นด้วยคนที่มีความเชื่ออย่างเดียวกัน มีผลได้ผลเสียเหมือนกันหรือร่วมกัน 

เรื่อง “ชาตินิยม” คือหนึ่งในยาพิษที่เราใส่ให้สังคมไทย ทั้งที่เราควร “นิยมชาติ” คือ รักคนในชาติที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยกัน รักหวงแหนเอกราช พรมหมแดน ทรัพยากรและผลประโยชน์ของชาติ ทั้งหมดเป็นเรื่องของการใส่ยาพิษในลักษณะแฝงการศึกษาเข้ามาเเละทำให้คนตายไปหรือ โตได้ไม่เต็มที่นั่นเอง

4.การศึกษาจากคนที่เรียกว่า Haif-baked educators / Misinformation เเละ Disinformation 

กลุ่มคนที่ให้ทั้งข้อความที่ผิด ให้ทั้งข้อความที่จงให้ผิด ซึ่งอยู่ในสังคมไทยมานาน ตั้งแต่เรื่องความเชื่อแบบผิดๆ

“รู้งูๆ ปลาๆ เเต่นึกว่ารู้มาก สิ่งที่มันไม่จริงเเล้วนึกว่าจริง เป็นยาพิษที่สำคัญอันตราย โดยเฉพาะสื่อสมัยใหม่ที่ข่าวสารแพร่กระจายจนไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง”

5.การทำให้เด็กเชื่อเเละหงอย 

“การว่านอนสอนง่าย นับเป็นยาพิษ เพราะเชื่องมากเกินไป คิดเองไม่ได้หรือไม่เป็น ซึ่งเราคงไม่ต้องการคนเเบบนี้ เราต้องการคนที่ยืนด้วยขาตัวเองในขอบเขตหนึ่ง ส่วนเรื่องหงอยนั่นเกิดขึ้นเพราะเรียนมากเกินไป โดยที่หลักสูตรไม่ได้ทำให้เด็กอยากรู้อยากเห็น นอกจากนั้นแล้ว ความงมงายอย่างขาดระบบการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ก็นับเป็นยาพิษด้วย เพราะถ้าไม่คิดเชิงวิทยาศาสตร์ก็เท่ากับคิดไม่เป็น สร้างปัญหาตามมามากมาย ซึ่งคนคิดไม่เป็นนั้นยิ่งกว่าโดนพิษปรอทเข้าไปเสียอีก เรียกว่า เก่งจดจำมากกว่าการคิดวิเคราะห์ โง่ต่อไปด้วยความสามารถในการคิดที่อ่อนแอ”

อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้ว่า ทุกคนเกิดมาไม่ได้คิดเป็น แต่มีทักษะในการคิด ถ้าคิดบ่อยๆ สร้างวิธีการที่ต้องคิดหรือถูกบังคับให้ต้องคิด การคิดก็จะเข้มแข็ง แต่หากถูกครอบงำด้วยการท่องงำหรือความเชื่องมงายโอกาสในการคิดก็เกิดขึ้นไม่ได้

6.การศึกษาที่ขาดคุณภาพ

ระยะเวลา 12 ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ได้สร้างคุณภาพให้เด็กอย่างที่ ประเทศต้องการ และถึงแม้ไทยจะลงทุนกับการศึกษาปีล่าสุดถึง 4.8 แสนล้านบาท สูงสุดใน  งบประมาณทั้งหมด แต่กลับผลิดคนที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้เสียเวลาเเละเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ที่สูง  

สำคัญกว่านั้นคือ ประสิทธิภาพของระบบราชการ ซึ่งภาครัฐสูญเสียทรัพยากรอย่างไร้ ประโยชน์ โดยเม็ดเงินเกือบ 5 แสนล้านที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับ 75 เปอร์เซนต์ เป็นเงินเดือนของครูและบุคคลากร เห็นได้ชัดว่าเหลือถึงตัวเด็กและโรงเรียนน้อยมาก  เป็นเรื่องที่ ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาและยกระดับเพื่อให้ทุกคนเชื่อถือในประสิทธิภาพ

7.พ่อเเม่รังเเกฉัน 

แม้พ่อแม่จะมีความตั้งใจดี แต่การเลี้ยงดูแบบไข่ในหินนับเป็นยาพิษ และทำให้ลูกอ่อนแอ ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง

“พ่อแม่เลี้ยงดูเหมือนไข่ในหิน คงคิดว่าลูกคงจะตายก่อนพ่อแม่ เพราะสามารถดูแลได้ตลอด แต่ความเป็นจริงก็คือพ่อแม่ตายก่อนลูก คำถามคือแล้วลูกจะอยู่อย่างไร เมื่อไม่มีคุณ”

โดยลักษณะอันหนึ่งที่พ่อแม่รังแก ก็คือ เรื่องวินัย

“พ่อแม่บางคนกลัวลูกลำบาก ไม่สร้างวินัยเป็นต้นทุนชีวิตให้ลูก ซึ่งจะส่งผลให้สบายตอนต้นแต่จะลำบากไปทั้งชีวิต ผิดกับพ่อแม่ที่ให้วินัยกับลูก ตอนต้นจะลำบากแต่จะสบายไปตลอดชีวิต เพราะทุกอย่างที่ทำให้คนประสบความสำเร็จคือวินัย”

8.หลักสูตรแอบแฝงซ่อนเร้น (Hidden curriculum)

จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรงเรียนในระบบทุนนิยมของอเมริกา โดยนักเศรษฐศาสตร์ 2 คน สิ่งที่พบก็คือ เด็กถูกสอนให้เชื่อใน Work ethics คือ ขยันขันแข็งทำงานหนักทุ่มเท่สิ่งต่างๆ เพื่อที่จะให้เป็นแรงงานที่มีคุณค่า จนมองข้าม ความคิดริเริ่ม (Creativity) และอิสระ (Independent  thought) Creativity เพราะต้องการคนเพื่อส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีคนทำงานต่อไป

ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า สาเหตุที่ทุนนิยมในอเมริกาดำรงอยู่ได้ ก็เพราะการศึกษากลายเป็นรูปแบบอันหนึ่งของการควบคุมให้สังคมอยู่ในระบอบที่เป็นไปได้ (From of control) ซึ่งหลักสูตรแอบแฝงซ่อนเร้นนั้นมีอยู่ในทุกสังคม ไม่ว่าประเทศพัฒนาหรือไม่พัฒนาก็ตาม

ต้านทานยาพิษด้วยทักษะสำคัญ

คนที่มีความรู้มากไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จเสมอไป แต่ต้องมีองค์ประกอบอย่างอื่นร่วมด้วย

อ.วรากรณ์บอกว่า นอกจากความสามารถทางวิชาชีพและทักษะชีวิตแล้ว สิ่งที่จะทำให้คนประสบความสำเร็จก็คือทักษะ 4 อย่างสำคัญหรือที่เรียกว่า4C ได้แก่  Communication ทักษะในการสื่อสาร Critical Thinking  คิดเป็นวิพากษ์วิจารณ์เป็น เช่น เข้าใจสถานการณ์ที่ตัวเองเป็นอยู่ เห็นทางโน้มของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปได้ แก้ไขปัญหาได้ เรียนรู้และจดจำเป็นบทเรียนต่อไป Collaboration ความร่วมมือ Creativity  คิดอย่างสร้างสรรค์  

“ทักษะ 4 ตัวนี้บวกกับวิชาชีพ ผมคิดว่าสามารถจะต้านทาน ยาพิษแอบแฝงในการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการศึกษาที่เหมาะสมแล้วไม่ควรมียาพิษเยอะขนาดนี้”อ.วรากรณ์ทิ้งท้าย 

การศึกษาไม่ได้เป็นของที่ดีอย่างเดียว แต่ยังมีแง่มุมที่เป็นยาพิษด้วย เด็กและผู้ใหญ่รุ่นใหม่ควรตระหนักในการป้องกันและล้างพิษออกโดยเร็ว