posttoday

"ผมทำไปเพราะความจริงใจ"... จากใจนักเรียนถึงนายกฯตู่

06 กันยายน 2558

ความในใจของ เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนชั้นม.5 ผู้กล้าตั้งคำถามนายกรัฐมนตรี

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

"มีใครจะถามอะไรไหม?"

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดโอกาสให้ผู้ฟังตั้งคำถามหลังจบการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ผลงานความก้าวหน้าของรัฐบาลในการปฏิรูปการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน" เนื่องในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2558 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.

ตอนนั้นเองที่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักเรียนชั้น ม.5 และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ได้ลุกขึ้นถามเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทย พร้อมชูป้ายข้อความว่า "สอนเด็กไทยไม่ให้โกง ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรมหรือดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง " สุดท้ายกลับถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบคุมตัวออกจากห้องประชุม โดยที่ยังไม่ทันได้รับคำตอบ

นักเรียนคนนี้คือใคร? มาจากไหน? และคำถามที่เขาต้องการคำตอบคืออะไร?

พริษฐ์ เล่าให้ฟังว่า ทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น จึงได้ใช้เวลาทั้งคืนนั่งร่างคำชี้แจงผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงวิชาพลเมือง เพื่อส่งให้ถึงมือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในวันนี้

"ทันทีที่นายกบอกว่า ใครมีคำถามอะไรไหม ผมเลยยกมือขึ้น เดินออกมา พร้อมเอ่ยปากว่าท่านนายกฯ ครับ จากนั้นผมก็ชูป้ายที่เขียนข้อความว่า "สอนเด็กไทยไม่ให้โกง ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรมหรือดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง'  และพยายามเดินเข้าไปที่เวทีเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก เเต่โดนรวบตัวเสียก่อน จริงๆ ทำใจไว้ก่อนเเล้วครับว่าจะโดนรวบ คงไปไม่ถึงนายก เเต่ผมจริงใจที่จะทำ โดยใจความสำคัญในจดหมายก็คือเปลี่ยนวิชาหน้าที่พลเมืองเป็นวิชาปรัชญาเเละจริยธรรม เพราะมองว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษา การศึกษาเป็นการเเก้ปัญหาที่ดีเเละยั่งยืนที่สุด เเต่ผมเเอบผิดหวังนิดนึงว่า ความหวังดีของผม ข้อเสนอที่ดีต่อประเทศไทยของผมไปไม่ถึงมือนายก"

เพนกวิ้น บอกต่อว่า เข้าใจในวัตถุประสงค์ของการเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง เพียงเเต่เห็นว่าเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เป็นการเรียนรู้ที่ข้ามขั้นตอนของการวิพากษ์วิจารณ์เเละการคิดวิเคราะห์ไป

"วิชาหน้าที่พลเมืองเป็นการกำหนดคุณค่าให้มันเลยว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี เเต่วิชาปรัชญาเเละจริยธรรมจะทำให้ผู้เรียนรู้เข้าใจเเละบอกได้ว่าทำไมเราถึงรู้ว่าสิ่งนั้นถึงดีหรือไม่ดี เมื่อเจอเหตุการณ์หนึ่งเราจะได้รู้ว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก"

นักเรียนชั้นม.5คนนี้ยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ได้ปรึกษาใครมาก่อน ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง เมื่อความคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีจะได้รับจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ล้มเหลว จากนี้ไปคงต้องหาวิธีสื่อสารใหม่ๆ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนปรัญชาเเละจริยธรรมต่อไป

นอกเหนือจากความหวังดี อีกเหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกที่เเสดงออกเเบบที่เห็นคือ ทุกคนควรให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของเด็ก

"ผมทำเเเบบนี้ เพราะเห็นว่าความเห็นของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เด็กไทยหลายคนกล้าคิดเเต่ไม่กล้าที่จะพูด ผมไม่ได้บอกว่าเป็นตัวเเทนของเยาวชนทั้งหมด เเต่ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง ผมหวังว่าต่อไปจะไม่ใช่เเค่ผมหรือไม่ใช่เเค่คนในเเวดวงด้วยกันที่กล้าเเสดงออก เเต่หวังว่าทุกคนจะสามารถออกมาพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดได้ ถึงเเม้ว่าผมจะถูกรวบ เเม้ว่าความเป็นเด็กของผมจะทำอะไรไม่ได้มาก เเต่ถ้าคุณครูเเละผู้ใหญ่ในวงการศึกษาจะร่วมกันผลักดันสิ่งที่ผมคิดเเละผลักดันจนเป็นรูปธรรม ผมก็จะภูมิใจมากครับ"

เพนกวิ้นบอกว่า วิชาปรัชญาเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับประชาธิปไตย เพราะเป็นวิชาที่ว่าด้วยการตั้งคำถาม การถกเถียงเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งระบอบประชาธิปไตยต้องมีเสรีภาพทางความคิด  การเเสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกปิดกั้น

"วันนี้ถือเป็นก้าวหนึ่งของสังคมไทยที่เรากำลังเผชิญมรสุมที่ยังมองไม่เห็นว่าสังคมไทยในอนาคตจะออกมาเเบบไหน ประชาธิปไตยของประเทศไทยจะเกิดมาอย่างไรผมไม่ทราบ เเต่ผมก็หวังว่าผมจะได้เห็นสักวัน"

นี่คือความในใจของ เพนกวิ้น-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนชั้นม.5 ผู้กล้าตั้งคำถามนายกรัฐมนตรี