posttoday

"ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ" จากกระเป๋ารถสู่บิ๊กสวนสยาม

13 สิงหาคม 2558

"ช่วง 20 ปีที่ต่อสู้เพื่อสวนสยาม ผมเป็นเหมือนกบจำศีล โดนกะลาครอบไว้ที่นี่ ไม่ไปไหน ผมโชคดีที่ไม่เจ็บไม่ไข้ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เกือบ 24 ชั่วโมง ไม่มีคำว่าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์"

เรื่อง...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ / ภาพ...วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

หากเอ่ยถึง “ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” คนจำนวนมากรู้จักบุคคลท่านนี้ ในนามผู้ก่อตั้งสวนสยาม สวนสนุก และสวนน้ำที่มีทะเลเทียมใหญ่ที่สุดในโลก แต่กว่าจะเป็นเจ้าของอาณาจักรสวนสนุกสวนน้ำอันยิ่งใหญ่ได้ทุกวันนี้ ชีวิตผู้ชายคนนี้ผ่านอุปสรรคและความยากลำบากมาโชกโชน เริ่มต้นจากคนที่แทบไม่มีอะไรเลย กระทั่งผลักดันตัวเองจนมีฐานะมั่นคงได้เช่นทุกวันนี้

ไชยวัฒน์ ในวัย 77 ปี ย้อนเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตให้ฟังว่า พ่อของผมเป็นคนจีนมาจากจีนตั้งรกรากในไทย ส่วนคุณแม่เป็นคนจีนที่เกิดในไทย เมื่อคุณพ่อและคุณแม่แต่งงานกันก็อาศัยอยู่ที่บ้านคุณยายในตลาดบางเขน มีญาติๆ คนอื่นอาศัยรวมอยู่ด้วย ส่วนผมก็เกิดและอาศัยอยู่ในย่านนี้ ในวัยเด็กรูปร่างเตี้ยๆ คนย่านนี้มักเรียกผมว่า “เด็กชายโอ๊ย”

ด้วยความที่มีญาติอาศัยรวมกันมาก ทำให้รายรับไม่พอกับรายจ่ายเลี้ยงดูคนทั้งหมด คุณแม่ก็ออกขายขนมถ้วยฟูและขนมอื่นๆ ตามงานแสดงงิ้ว กระทั่งตัวผมอายุ 4-5 ขวบ ประเทศไทยเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ “โอ๊ย บางเขน” ต้องระเห็จระเหไปอาศัยบ้านญาติที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ช่วงนั้นผมเป็นคนขยัน เป็นคนน่ารักในสายตาผู้ใหญ่ จึงได้รับความไว้ใจให้เก็บไข่ไก่ ไข่เป็ด เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย จับปลา แลกอาหาร

การอยู่ต่างจังหวัดทำให้มองเห็นว่า คนจีนที่เป็นชาวนาเก่งจริงๆ แม้มาเมืองไทยด้วยมือเปล่าตัวเปล่า แต่ทำมาหากินจนเลี้ยงลูกหลาน ญาติๆ ได้เป็นขบวน

ระหว่างอาศัยในต่างจังหวัด เพื่อนที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายด้วยกันทุกคนเรียนหนังสือ ก็ชวนให้เราเรียน แต่เราไม่มีโอกาส เพราะบ้านที่อาศัยเป็นบ้านญาติ กระทั่งสงครามสงบ มีน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลังจากนั้นได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ตลาดบางเขน แต่เพราะข้าวยากหมากแพง ทำมาหากินลำบาก คุณตาก็เสียชีวิตไม่มีหัวเรือช่วยทำมาหากิน คุณยายเลยขอให้แยกย้ายไปทำมาหากิน ซึ่งคุณพ่อและคุณแม่พร้อมผมและพี่น้องที่ขณะนั้นมี 4 คน ได้ย้ายครอบครัวไปย่านตลาดบางบัว ช่วงนั้นผมอายุ 12 ปี เลยเกณฑ์เข้าเรียนแล้ว ผู้ใหญ่บ้านย่านนั้นจึงมาเกณฑ์ให้เข้าเรียนที่โรงเรียนบางบัว (เพ่งตั้งตรงจิตรวิทยาคาร)

ช่วงที่เรียนก็เป็นเด็กโข่งในชั้นเรียนป.1-2 ซึ่งเมื่อเรียนได้ 2 ปี ครูใหญ่ก็บอกให้เหล่าเด็กโข่งที่ไม่อยากเสียเวลาและอยากจบ ป.4 แสดงตัว เพื่อทำข้อสอบให้สอบสำหรับจบ ป.4 ผมและเด็กโข่งกว่า 10 คนที่หนีสงครามเหมือนๆ กันจึงได้ลัดคิวจบ ป.4 จากนั้นก็ได้ไปเรียนต่อ ม.1 ที่โรงเรียนสารวิทยา โดยมีเพื่อนๆ ที่เป็นลูกหลานทหารแนะนำให้ แต่เรียนได้ไม่นานก็ต้องลาออก เพราะคุณแม่บอกว่าขาดคนมาช่วยทำมาหากิน ซึ่งผมขยันในช่วงที่เรียนกลับไปก็ช่วยแม่โม่แป้ง หาบน้ำ แต่ช่วยได้ไม่เต็มไม้เต็มมือ จึงขอให้ผมไม่ต้องเรียนต่อ เพราะสมัยนั้นจบเกณฑ์ ป.4 ก็ทำงานค้าขายได้แล้ว

หลังจากนั้นผมก็กลายเป็นพ่อค้าอย่างเต็มตัว ช่วยคุณแม่ขายของชำ ขายขนมถ้วยฟู ขนมเข่ง และขนมอื่นๆ ที่ทำขึ้นตามเทศกาล แต่หลังช่วยแม่ทำขนมขายได้ไม่นาน เมื่อผมอายุ 14-15 ปี ช่วงนั้นมีพี่น้องรวม 8 คนแล้ว จึงเริ่มรู้สึกว่าขายขนมคงไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว เลยขอคุณแม่ออกไปทำมาหากินนอกบ้าน ซึ่งในใจตอนนั้นอยากขับรถเมล์ เพราะสมัยนั้นคนขับรถหายาก ที่สำคัญคนขับรถเป็นคนที่สาวๆ ชอบ เลยอยากขับรถเผื่อจีบสาวด้วย แต่ก็ไม่ได้ขับรถตามเป้าหมาย ช่วงเวลานั้นมีเปิดรับสมัครกระเป๋ารถเมล์พอดี เส้นทางเดินรถจากวงเวียน 22 ไป จ.อุดรธานี จึงไปเป็นกระเป๋ารถเมล์

“การเดินทางลำบาก ไปถึงสระบุรีแล้วเส้นทางจากนั้นต้องดำฝุ่น (เผชิญกับฝุ่นตลอดทาง) ไปถึงอุดรธานีก็ค้างคืน อีกวันก็กลับกรุงเทพฯ การขับรถเส้นทางนี้อันตรายมาก คนขับต้องแข็งแรง ส่วนกระเป๋ารถเมล์ก็ต้องเจ๋ง นอกจากเก็บเงิน ดูแลผู้โดยสาร ก็ต้องแก่งแย่งผู้โดยสารกับคู่แข่ง มีการต่อยตีเป็นประจำ ได้ฝึกวิทยายุทธ์จากงานนี้ ได้เรียนรู้ว่า การเป็นอะไรสักอย่างต้องเป็นให้จริงจัง ต้องสู้ ถ้าไม่สู้ก็ไม่มีโอกาส”ไชยวัฒน์ กล่าว

"ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ" จากกระเป๋ารถสู่บิ๊กสวนสยาม

ไชยวัฒน์ เล่าว่า เป็นกระเป๋ารถเมล์ได้ไม่นาน คุณแม่ก็ขอให้ออก เพราะเป็นห่วงกลัวมีอันตราย ซึ่งก็ได้ลาออกมาอยู่บ้าน ช่วงเวลานั้นก็อยากได้รถสักคันมารับส่งของที่ตลาด เพราะช่วงที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ก็ได้ไปหัดขับรถมาแล้ว แต่ความฝันนี้ยากเย็นเหลือเกิน เวลานั้นดาวน์รถออสตินแวน ต้องใช้เงิน 5,000 บาท และต่อกระบะเพิ่มอีก 3,000-4,000 บาท ซึ่งคุณแม่ก็มีไม่พอ เมื่อไปขอความช่วยเหลือจากญาติๆ ที่เคยอาศัยอยู่บ้านยายและเริ่มมีฐานะ ก็ไม่มีใครกล้าช่วยเหลือ เพราะมองผมเป็นเด็กเกเร เกรงว่าลงทุนซื้อรถไปแล้วจะผ่อนรถไม่ไหว ไม่มีเงินมาจ่ายคืน คุณแม่ร้องไห้ทุกวันที่ไม่มีใครช่วย

ขณะที่ผมบอกกับคุณแม่ว่า เป็นปกติของมนุษย์ เราช่วยเขาขึ้นฝั่งไปถึงปลายทางแล้ว เขาก็ต้องช่วยตัวเองให้รอดก่อน แต่จากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ผมจำมาตลอดว่า หากมีใครมาขอความช่วยเหลือก็จะช่วยเหลือเต็มที่ และเป็นโชคดีของผมที่เวลานั้นมีคนมาขอพี่สาวแต่งงานพอดี เป็นคนมีฐานะ จึงให้ผมยืมเงิน 5,000 บาท แต่ก็ยังไม่พอ ผมจึงตัดสินใจไปดาวน์รถมาก่อน จากนั้นก็ไปหาเจ้าของอู่ต่อกระบะให้ช่วยเหลือ เพราะไม่มีเงินจริงๆ จะขอให้ต่อกระบะให้ก่อนจากนั้นจะผ่อนใช้คืนให้รวม 4,500 บาท ซึ่งเจ้าของอู่ต่อกระบะเห็นว่าผมเอาจริงเลยใจอ่อน จากนั้นมาผมก็หากินบนรถตลอด 24 ชั่วโมง

ไชยวัฒน์ กล่าวว่า ผมตื่นตั้งแต่ตี 4 ขับรถไปรับปลาที่สะพานใหม่ ดอนเมือง ไปส่งที่หัวลำโพง แล้วไปต่อที่องค์การสะพานปลา จากนั้นกลับมาตลาดบางบัวและบางเขนเพื่อส่งปลาให้ขาประจำ เสร็จแล้วก็ไปต่อที่รังสิตเพื่อล้างรถและจอดรอรถบรรทุกปอจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักจะบรรทุกมาสูงเกินไปเพื่อรับจ้างขนถ่ายปอบางส่วนไปส่งต่อยังโกดังย่านถนนตก เสร็จแล้วก็จะกลับมาจอดรถที่สถานีรถไฟหลักสี่ เพื่อรอป้าเปรมคนเลี้ยงวัว ที่มาจ้างขนฟางไปเลี้ยงวัวควายที่ขนมาพักไว้กลางทุ่งย่านนั้น และหากมีวัวควายตัวไหนที่ขาหัก ก็จะจ้างรถต่อเพื่อส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์ย่านถนนตก

จนถึงช่วงบ่ายจะได้กลับบ้านอาบน้ำและรับประทานอาหารที่คุณแม่เก็บไว้ให้ในตู้กับข้าว พอถึงช่วงเย็นก็ออกนำเข่งไปรับผักที่พ่อค้าสั่งซื้อที่ปากคลองตลาด ตลาดเก่า ท่าเตียน แล้วนำมาส่งที่ตลาดบางเขน บางบัว รังสิต แล้วพอได้เวลาหนึ่งทุ่ม ก็จะไปนอนพักแถวตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ จีบสาว กินขนมจนถึงสามทุ่ม

จากนั้นก็จะเดินทางไปโรงฆ่าหมูเพื่อนำเนื้อหมูไปส่งตามเขียงหมูลาดพร้าว บางบัว บางเขน ไปจนถึงสะพานควาย ส่งเสร็จแล้วเที่ยงคืนก็จะกลับไปรับประทานข้าวต้มที่ทางโรงหมูนำหมูและเครื่องในที่เหลือมาทำให้รับประทาน จบที่ตี 1 ตี 2 ก็จะนอนแล้วกลับมาเริ่มวงจรการทำงานใหม่ตั้งแต่ตี 4

ชีวิตเป็นเช่นนี้จนคุณแม่สงสาร กลัวว่าร่างกายผมไม่ไหว ผมก็บอกแม่ว่าเลิกไม่ได้ เพราะคนรอบข้างจะดูถูกที่ซื้อรถให้แล้วต้องขาดทุน ผมต้องต่อสู้เพื่อไม่ให้กิจการของแม่ต้องมาเดือดร้อน ท่องเสมอว่าต้องอดทน สุดท้าย 4-5 ปี ก็ผ่อนรถได้หมด เป็นอิสระ มีเงินเหลือบ้าง ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นคุณพ่อคุณแม่เริ่มค้าขายได้ดีขึ้น ผมอายุ 20 ปี จึงไปบวชเรียน 1 เดือนแล้วกลับมาทำมาหากินต่อ แต่เริ่มมองว่าหากยังขับรถแบบเดิมต่อไป ชีวิตก็เหมือนอยู่ในตารางข้างหนึ่ง และเงินก็ไม่ได้เพิ่มเติม บวกกับโชคดี ที่มีวันหนึ่งว่างและทางมหาวิทยาลัยเกษตรฯ จ้างให้นำรถไปเก็บยางสนมาทำน้ำมันสนส่งร้านสี ได้พบกับนิสิตที่มาช่วยอาจารย์พูดคุยกันถูกคอ

นิสิตคนนั้นหาที่เพาะพันธุ์ปลาสาธิตส่งอาจารย์เป็นโครงการเพื่อเรียนจบ แต่หาที่ไม่ได้ เมื่อเล่าให้ผมฟัง จึงเกิดความคิดหาสถานที่เพาะพันธุ์ปลาให้ เพราะเคยอาศัยย่านบางบัวซึ่งมีที่ติดน้ำมาก สุดท้ายก็ตัดสินใจลงทุนสถานที่ ลงทุนกระชังและเครื่องมืออื่น โดยมีข้อแม้ว่า เมื่อเพาะพันธุ์ได้ลูกปลาแล้วขอให้เป็นสิทธิของผม จากนั้นจึงไปขอให้อาจารย์ที่วัดบางบัวช่วยตั้งชื่อบริษัทขายพันธุ์ปลา ได้ชื่อ “อมรพันธุ์” โดยอมรแปลว่า ไม่ตาย พันธุ์ แปลว่า ขยาย แล้วไปจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักงานอมรพันธุ์ จำหน่ายพันธุ์ปลาน้ำจืดทุกชนิด

เมื่อทำธุรกิจนี้ได้ 10 ปี ก็มีเพื่อนที่สมัยนั้นเป็นโฆษกมหาวิทยาลัยต้องการส่งเสริมเรื่องการเกษตร และเห็นว่ายังไม่มีใครคิดส่งเสริมขยายพันธุ์ปลา เลยให้ผมไปออกงานแสดงสินค้าแล้วช่วยโฆษณาธุรกิจให้จนขายดี มีทั้งคนซื้อไปเลี้ยงเล่นและเลี้ยงจริงจัง มีพ่อค้าวาณิชย์จากจันทบุรีขอซื้อจำนวนมากไปขยายพันธุ์ที่จันทบุรี มีรัฐมนตรีลาวสั่งซื้อไปส่งเสริมทหารผ่านศึกลาวสำหรับเลี้ยงชีพ จากนั้นผมก็ยังได้แนะนำเสริมให้ลาวปลูกมะพร้าวข้างบ่อเพื่อเป็นร่มบังแดด และก็ได้ส่งมะพร้าวให้ลาวด้วย ทำให้ผมมีกำไรมหาศาล จนตั้งใจว่า จะตั้งเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานขึ้น โดยเชิญ บุญชู เธียรสวน คหบดีแถวตลาดบางบัว มาเป็นประธานบริษัทให้ เพื่อให้บริษัทมีเครดิตน่าเชื่อถือ

ท้ายที่สุดท่านบุญชูก็แนะนำว่า หากขายพันธุ์ปลาต่อไปเมื่อเหล่าอาจารย์ที่เพาะพันธุ์ไม่ได้เพาะต่อ แล้วมาเพาะเอง ก็คงทำสำเร็จได้ไม่เท่าที่อาจารย์ทำ จึงชี้แนะให้ไปจัดสรรที่ดิน และผมก็โชคดีอีกครั้งได้เริ่มต้นจัดสรรที่ดินโดยการปลูกบ้านพร้อมที่ดินขายเป็นเจ้าแรกๆ ในไทย ซึ่งก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยมีธนาคารกรุงเทพมาช่วยสนับสนุนเปิดให้ขอสินเชื่อบ้านได้ ช่วยให้คนที่ไม่มีเงินซื้อบ้านเต็มจำนวนมีโอกาสซื้อบ้าน จากแค่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเล็กๆ จึงต้องขยายจดทะเบียนเป็น บริษัท ช.อมรพันธุ์ กลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ภายใต้ชื่อโครงการอมรพันธุ์ และเธียรสวน พร้อมด้วยศูนย์การค้าอมรพันธุ์ที่สามแยกเกษตร

นอกจากนั้น ยังขยายไปตั้งบริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทก่อสร้างชื่อ ปัญจมิตรวิสาหกิจ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องขายกิจการทุกอย่างเพื่อทำสวนสยาม ที่เผชิญทั้งภาวะล้มลุกคลุกคลานแทบล้มละลาย แต่สุดท้ายก็กลายเป็นสวนน้ำสวนสนุกที่แข็งแกร่งได้ในวันนี้

"ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ" จากกระเป๋ารถสู่บิ๊กสวนสยาม

ชีวิตนี้ เพื่อสวนสยาม

คนบางคนชีวิตอาจค่อยๆ ทะยานขึ้นสูงแล้วทรงตัวหรือทะยานต่อ แต่ ไชยวัฒน์ ไม่ใช่เช่นนั้น เมื่อก้าวสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ช.อมรพันธุ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงสังคม เป็นนักธุรกิจตัวอย่างของสมาคมนักธุรกิจสัมพันธ์ เป็นกรรมการเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานต่างๆ จนมีหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า หนุ่มจัดสรรที่ดินมีเงินเป็นพันล้านบาท แต่ยังไม่แต่งงาน จากนั้นก็เริ่มมีคนสนใจมาหาอยากร่วมลงทุนด้วยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพราะเรียนจบเพียง ป.4 แม้มีคนสนใจร่วมลงทุนด้วย ก็ยังไม่ร่วมลงทุนกับใคร เพราะกลัวไม่มีความรู้แล้วควบคุมลำบาก กระทั่ง ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพในปัจจุบัน และเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อให้โครงการ ช.อมรพันธุ์โดยตลอด มาบอกว่า มีที่ดิน 1,000 ไร่ ย่านมีนบุรี ให้ไปดูว่าพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง

ช่วงนั้นได้ดึงนักวิชาการ คนมีความรู้มาช่วยงาน ช.อมรพันธุ์ แต่ก็เกิดปัญหาต่างคนต่างคิด และไชยวัฒน์เองไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ต่างจากครั้งบริหารคนเดียว ท้ายสุดจึงชะลอการทำบริษัท ช.อมรพันธุ์ หันไปช่วยดูโครงการคุณชาตรีจริงจัง ซื้อที่ดินจนทำให้เป็นพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ตั้งเป็นหมู่บ้านใหญ่ชื่อ หมู่บ้านอมรพันธุ์นคร-สวนสยาม หวังจะสร้างดิสนีย์แลนด์เมืองไทยในพื้นที่นี้ ให้เป็นสวนสนุกสวนพักผ่อนหย่อนใจที่ใหญ่สุดในเอเชีย

ทั้งนี้ ได้ส่งนักวิชาการไปดูงานต่างประเทศศึกษาความเป็นไปได้ลงทุนดิสนีย์แลนด์เมืองไทย ประเมินไว้ว่าต้องใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท ไชยวัฒน์ ลงทุน 500 ล้านบาท และชาตรี 500 ล้านบาท แต่ศึกษาแล้วดิสนีย์แลนด์ ระบุว่า หากมาไทยต้องซื้อสิทธิ ซื้อแฟรนไชส์ และต้องพัฒนาในพื้นที่ตรงตามกติกาหลายอย่าง เช่น รถไฟเข้าถึง รถประจำทางสะดวก ที่จอดรถขั้นต่ำ 5,000 คัน เวลานั้นระบบสาธารณูปโภคไทยยังไม่ได้ตามกติกา ครั้นไปหวังพึ่งรัฐบาลลงทุนคงเป็นไปไม่ได้

ไชยวัฒน์ ไม่ยอมแพ้ ได้ส่งนักวิชาการไปศึกษาเพิ่ม พบว่าที่ญี่ปุ่นมีสวนสนุก สวนน้ำขนาดเล็กใจกลางโตเกียว มีจำลองทะเล ทำคลื่นไว้ให้เล่น จึงสนใจสร้างสวนสนุก สวนน้ำที่มีทะเลเทียมในกรุงเทพฯ แต่แล้วไม่มีใครเห็นด้วย มองว่าคนไทยไม่กล้าใส่ชุดว่ายน้ำ ก็คงยากที่จะดึงคนมาเล่นสวนน้ำนี้ แต่ไชยวัฒน์ยืนยันเดินหน้าต่อคนเดียว เพราะข่าวประกาศต่อสาธารณชนไปแล้วว่าจะทำสวนน้ำ หากไม่ทำจะเสียเครดิตชื่อตัวเอง ท้ายที่สุดจึงซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งหมดเดินหน้าโครงการลำพัง

ด้วยความที่ธุรกิจใช้เงินลงทุนมาก ธนาคารก็ไม่ให้กู้ จึงทยอยขายบริษัทอื่นที่มีเพื่อให้ได้เงินมาลงทุนเร็วที่สุด บางบริษัทขายถูกกว่ามูลค่ามากก็ยอม และต้องไปกู้ยืมนอกระบบบางส่วน จนเปิดสวนน้ำได้ แต่ก็ประสบปัญหาไม่มีเครดิต ผู้ส่งของ เช่น คลอรีนไม่ยอมส่งให้ พ.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ที่สมัยนั้นมาเป็นประธานเปิดสวนน้ำให้ช่วยรับรองว่า หากสวนสยามไม่จ่ายเงินให้ไปเก็บกับท่านได้ ทำให้ได้คลอรีนมาส่ง หลังจากนั้นก็ยังต้องทยอยขายกิจการ ขายที่ดินที่มีต่อเนื่อง ทรมานกับการทำเช่นนี้กว่า 20 ปี ต่อสู้เพื่อให้สวนสยามยังอยู่ต่อไป

“ถ้าเป็นคนอื่นอาจแขวนคอตายไปแล้ว แต่ผมไม่ยอมไปไหน ยอมขาดจากสังคมไปเลย ในช่วงที่ดี เป็นผู้มีเกียรติในสังคม แต่ช่วง 20 ปีที่ต่อสู้เพื่อสวนสยาม ผมเป็นเหมือนกบจำศีล โดนกะลาครอบไว้ที่นี่ ไม่ไปไหน ผมโชคดีที่ไม่เจ็บไม่ไข้ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เกือบ 24 ชั่วโมง ไม่มีคำว่าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สุดท้ายขายบริษัททั้งหมดไปแล้ว สวนสยามก็ยังไม่ฟื้น ผลการดำเนินงานยังไม่ดี จนถูกธนาคารฟ้องล้มละลาย ก็ต่อสู้กับการฟ้องร้องอีก 10 ปี จนตกลงกันได้ ยอมขายสินทรัพย์ที่เหลือเพื่อใช้หนี้ธนาคาร”ไชยวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ หลังได้อิสรภาพ ชำระหนี้ครบ ก็กู้เงินจากไทยธนาคารในเวลานั้น 3,000 ล้านบาท ลงทุนเครื่องเล่นสวนสนุก 36 ชนิด เปิดเป็นสวนสนุกใหญ่สุดในเอเชีย มีลูกชาย 2 คน ลูกสาวอีก 1 คน ซึ่งเรียนจบกลับมาเสริมทัพธุรกิจ ในที่สุดจึงมีสวนสยามที่เริ่มโตอย่างแข็งแกร่งเช่นวันนี้

หนทางของผู้ชายท่านนี้ น่าจะเป็นกำลังใจให้ใครหลายคนที่กำลังกลัดกลุ้มกับปัญหาเศรษฐกิจได้ว่า อย่างน้อยชีวิตก็คงไม่ทุกข์อย่างเดียวเสมอ มีทุกข์ได้สักวันก็คงมีสุขได้เช่นกัน

"ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ" จากกระเป๋ารถสู่บิ๊กสวนสยาม