posttoday

"ประจิน"เล่นกับไฟ ฟื้นทางด่วนเกษตร-นวมินทร์

10 พฤศจิกายน 2557

การสร้างทางด่วนสายนี้มีค่าเวนคืนร่วม 4 หมื่นล้านบาท และมีโครงสร้างทับซ้อนกับแนวรถไฟฟ้า

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไปรวบรวมข้อมูลโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และ อีสท์-เวสท์ คอร์ริดอร์ ด้านตะวันออก เพื่อขอทราบความเป็นมาเดิมเป็นอย่างไร ทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วนได้ทำอะไรไปบ้าง ปัจจุบันเป็นอย่างไร และติดปัญหาอะไรอยู่ โดยขอทราบเป็นข้อมูล เนื่องจากไม่ทราบความเป็นมาจึงได้ให้ไปสรุปให้ทราบความเป็นมาเท่านั้นเอง

"ผมเคยผ่านบริเวณนั้น และเห็นว่าเป็นอนุสรณ์เสาตอม่อโผล่อยู่ ก็เลยอยากจะรู้เท่านั้นเองว่า คืออะไร ความเป็นมาอย่างไร โดยยืนยันว่า ไม่ได้สั่งให้ทบทวนแต่เป็นการสั่งให้ทำข้อมูลมาให้ทราบเท่านั้น ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ จะต้องขอเวลาศึกษารายละเอียดข้อมูลให้ชัดเจนก่อน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาพิจารณาต้องชัดเจนเมื่อไร" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

ขณะที่ สร้อยทิพย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ยอมรับว่า เพิ่งได้รับคำสั่งจาก พล.อ.อ.ประจิน ให้รวบรวมข้อมูลโครงการดังกล่าวให้ทราบ จึงยังไม่มีรายละเอียดโครงการว่า เป็นอย่างไรบ้าง คงต้องขอเวลารวบรวมข้อมูลทั้งหมดก่อนจึงจะสามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนได้

แม้ข้อมูลที่ออกมาจะเป็นเสมือนเพียงดำริทางนโยบาย แต่ในความเป็นจริงนั้น ข้าราชการกระทรวงคมนาคมบอกว่า นี่คือการยกเรื่องที่ซุกไว้ในตู้ ขึ้นมาหารือกันบนโต๊ะ

สำหรับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1, 2, 3) ระยะทาง 42.9 กม. มีเป้าหมายเพื่อรองรับปริมาณจราจร East-West Corridoor (อีสท์-เวสท์ คอร์ริดอร์) ของกรุงเทพฯ

ช่วง N1 เริ่มต้นจากทางพิเศษศรีรัช มาตามถนนรัตนาธิเบศร์ ผ่านแยกแคราย มาตามถนนงามวงศ์วานถึงแยกเกษตรศาสตร์ ระยะทาง 19.2 กม.

ช่วง N2 เริ่มจากแยกเกษตรฯ-ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนนวมินทร์ ระยะทาง 9.2 กม. โดยแนวสายทางจะซ้อนทับบนเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ ของกรมทางหลวงถึงถนนนวมินทร์

ช่วง N3 เริ่มจากถนน นวมินทร์-ถนนเสรีไท-ถนนรามคำแหง สิ้นสุดที่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (มอเตอร์เวย์) บริเวณถนนศรีนครินทร์ ระยะทาง 11.5 กม.

เพราะในปัจจุบันปัญหาการจราจรด้านเหนือที่ยังไม่มีโครงข่ายทางด่วนเชื่อมจากแนวตะวันตก-ตะวันออก ทำให้ถนนงามวงศ์วาน ถนนรัตนาธิเบศร์ และถนนเกษตรนวมินทร์ รถติดขัดอย่างมาก

ที่ผ่านมาการทางพิเศษได้มีการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงานทบทวนและออกแบบรายละเอียดของโครงการระบบตามขั้นตอนแล้ว แต่ถูกนักศึกษา และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อต้านอย่างหนัก เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จาก มลภาวะทางเสียง และอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสนอให้ทำเป็นอุโมงค์ในช่วงที่ผ่านหน้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้รถวิ่งแทนการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ แต่ในที่สุดก็หาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้

กระทรวงคมนาคม จึงให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นทดแทน

ขณะที่ สนข.ได้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปศึกษา และสรุปออกมาว่า จะก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีน้ำตาล ระหว่างแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 21.6 กิโลเมตรแทน

ข้อมูลของ สนข. ที่ได้เสนอให้ลงทุนรถไฟฟ้า โมโนเรลสายสีน้ำตาล (แคราย-บึงกุ่ม) นั้นใช้เงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทางบนเกาะกลางถนนงามวงศ์วาน ถนนเกษตร-นวมินทร์ โดยช่วงเกษตร-นวมินทร์ จะใช้ตอม่อทางด่วนที่การทางพิเศษสร้างค้างไว้ 281 ตอม่อ ซึ่งสามารถรองรับโครงสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลได้ เนื่องจากฐานทางด่วนเดิมออกแบบไว้กว้าง 28 เมตร รองรับถนนขนาด 6 ช่องจราจร ขณะที่โครงสร้างโมโนเรลจะใช้ฐานกว้างแค่ 10 เมตร ทำให้ประหยัดค่าเวนคืนได้มากกว่า โดยจะมีเวนคืนบริเวณจุดที่ตั้งสถานี

สนข.ประเมินว่า การสร้างทางด่วนสายนี้มีค่าเวนคืนร่วม 4 หมื่นล้านบาท และมีโครงสร้างทับซ้อนกับแนวรถไฟฟ้าบนถนนรัตนาธิเบศร์ด้วย

แนวเส้นทางจะเป็นแนวเดียวกับทางด่วน จุดเริ่มต้นโครงการจะต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) มีสถานีร่วมกันที่หน้าศูนย์ราชการนนทบุรี

จากนั้นจะวิ่งตรงมาถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกวิภาวดี เชื่อมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ตรงมาถึงแยกเกษตรฯ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ตรงมาบนถนนเกษตร-นวมินทร์ (ถนนประเสริฐมนูกิจ) ช่วงจุดตัดกับทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ในอนาคตจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเทา (โมโนเรล) จากนั้นจะตรงไปผ่านแยกนวมินทร์เลี้ยวขวาเข้าถนนนวมินทร์ ไปตามแนวถนน ช.2 ของ กทม.ที่จะสร้างใหม่เพื่อเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่ แล้วตัดเข้านวมินทร์ซอย 50 และซอย 42 ผ่านถนนเสรีไทย ซอย 35 ข้ามถนนเสรีไทยและไปตามถนนรามคำแหง ซอย 129/1 บรรจบกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางกะปิ-มีนบุรี) ที่สถานีมีนบุรี

ผลศึกษาเบื้องต้นของ สนข.ระบุว่า ถ้าลงทุนรถไฟฟ้าโมโนเรลขนาดกลาง กว้างประมาณ 2.40-3 เมตร ยาว 12-15 เมตรต่อตู้ เป็นฟีดเดอร์คล้ายกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง ใช้เงินลงทุนทั้งโครงการ 6.17 หมื่นล้านบาท

นี่คือแผนการก่อสร้าง "ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ" (N1, N2, N3) แต่จะมีการปรับเปลี่ยนไปเป็น "โมโนเรล" หรือไม่ ฝ่ายนโยบายคือผู้ตัดสินใจ

แนวสถานีรถไฟฟ้าโมโนเรล

1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
2.สถานีแคราย ซอยงามวงศ์วาน 3
3.สถานีงามวงศ์วาน ซอย12
4.สถานีประชาชื่น (แยกพงษ์เพชร)
5.สถานีชินเขต ซอยงามวงศ์วาน 43
6.สถานีคลองเปรม (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
7.สถานีบางเขน (ตัดกับโลคอลโรด)
8.สถานีเกษตรศาสตร์ (ประตู1)
9.สถานี ธ.ก.ส.
10.สถานีบางบัว (ตรงสะพานข้ามคลอง)
11.สถานีลาดปลาเค้า (แยกลาดปลาเค้า)
12.สถานีประเสิร์ฐมนูกิจ 18 (เฟสติวัลวอล์ก)
13.สถานีสุคนธสวัสดิ์ (แยกสุคนธสวัสดิ์)
14.สถานีเกษตร-นวมินทร์ (จุดตัดเลียบทางด่วน)
15.สถานีคลองลำเจียก
16.สถานีนวลจันทร์ 11
17.สถานีนวมินทร์
18.สถานีนวมินทร์ 50
19.สถานีนวมินทร์ 42
20.สถานีบึงกุ่ม
21.สถานีเสรีไทย ซอย 35
22.สถานีสัมมากร (รามคำแหง 129)