posttoday

เปิดสำนวนถอด "นิคม-สมศักดิ์" ย้ำความผิดตาม "พรบ.-รัฐธรรมนูญ"

06 พฤศจิกายน 2557

เปิดสาระสำคัญสำนวนและความเห็นของ ป.ป.ช. ในคดีถอดถอน นิคม ไวนรัชพานิช และ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญของเอกสารสำนวนและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550ในส่วนที่มาของสว.โดยมิชอบจำนวน 4000 หน้า ที่ส่งมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสนช.จะมีการประชุมเพื่อมีมติว่าจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาตามข้อบังคับการประชุมสนช.หรือไม่ในวันที่ 6 พ.ย.

ความผิด "นิคม"

การใช้กฎหมายและการใช้อำนาจต้องเป็นไปโดยสุจริต ปราศจากอคติ โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้องและแอบแฝง จะใช้โดยทุจริต ฉ้อฉลมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือวาระซ่อนเร้นมิได้ หลักนิติธรรมจึงเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ อันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานต่างๆของรัฐ จะต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

การที่นายนิคม อ้างว่าเมื่อมีผู้เสนอญัตติให้ปิดอภิปราย ประธานในที่ประชุมจะดำเนินการเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องขอมติจากที่ประชุมนั้น เห็นว่าการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาต้องมีความรอบคอบและมีหน้าที่ต้องควบคุมให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หากเห็นว่าญัตติที่เสนอไม่ถูกต้อง ย่อมสามารถที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้หลายวิธี ดังนั้น ข้ออ้างที่นายนิคมหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างจึงรับฟังไม่ได้

คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกระทำของนายนิคมมีมูลความผิดฐานส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 มาตรา 270 และมาตรา 272 มาตราสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62"

ความผิด "สมศักดิ์"

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2556 ก่อนที่นายสมศักดิ์ จะได้ลงนามเพื่ออนุญาตบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม นายอุดมเดช รัตนเสถียร สส. ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มอบหมายให้ผู้ช่วยของตนนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับไปเปลี่ยนกับร่างฉบับเดิมซึ่งนายอุดมเดช และคณะจำนวน 315 คน เป็นผู้เสนอเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2556 โดยมีการแก้ไขหลักการ ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวให้สว.สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันกันโดยไม่ต้องเว้นวรรค

แม้จะอ้างว่าหลักการของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวคือการให้สว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ก็เป็นเรื่องที่ต้องปรากฏอยู่ในส่วนของทั้งหลักการและเหตุผลเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกรัฐสภาได้ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้ออ้างของนายสมศักดิ์ที่ว่าเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถกระทำได้ โดยได้ถามเจ้าหน้าที่แล้วไม่อาจรับฟังได้ การกระทำของนายสมศักดิ์ ดังกล่าวถือว่าเป็นกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

การกระทำและพฤติการณ์ของนายสมศักดิ์ เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 270 และมาตรา 274 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2)พ.ศ.2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา62