posttoday

เปิดเบื้องหลังสรรหา สปช.สายสื่อมวลชน

23 ตุลาคม 2557

จำนรรค์ ศิริตันไขทุกข้อข้องใจในการสรรหาสปช.สายสื่อมวลชน พร้อมชี้ทีวีดิจิทัลแสนสับสนและยุ่งเหยิง

โดย...พรเทพ เฮง

จำนรรค์ ศิริตัน คณะกรรมการสรรหา สปช. สายสื่อมวลชน และนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  ไขทุกข้อข้องใจในการสรรหา พร้อมชี้ทีวีดิจิทัลแสนสับสนและยุ่งเหยิง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จำนรรค์ ศิริตัน ซึ่งนั่งในตำแหน่งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายสื่อมวลชน และนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ อีกด้วย

เพราะฉะนั้นในขั้นตอนการปฏิรูปสื่อและการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลของเมืองไทยที่กำลังแจกคูปองแลกกล่องรับสัญญาณกันเอิกเกริก เธอย่อมรู้ลึกในเส้นสนกลในอย่างปรุโปร่งคนหนึ่ง

แน่นอน การอยู่ในวงการโทรทัศน์ในฐานะผู้ผลิตรายการมายาวนานเกือบ 40 ปี ประสบการณ์ทั้งในด้านธุรกิจจึงสั่งสมผ่านยุคสมัยจนสามารถมองวงการโทรทัศน์เหมือนมองเส้นลายมือของตัวเอง รวมถึงการเข้าร่วมในฐานะผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อผลักดันร่างกฎหมายมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2540 จนมาถึงการปฏิรูปสื่อในปัจจุบัน

การรวบรวมผู้ประกอบการ ผู้ผลิตรายการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับวงการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จากที่ต่างๆ ที่กระจายตัวกันแบบตัวใครตัวมันจนกลายมาเป็น “สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์” และได้ก่อตั้ง
“รางวัลนาฏราช” ขึ้นมาเพื่อมอบให้กับรายการและบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมทีวีในแต่ละปี แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นสามัคคีของภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจทีวีได้อย่างชัดเจน

ล่าสุดกับการปฏิบัติภารกิจลุล่วงในฐานะคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายสื่อมวลชน เพื่อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกในลำดับต่อมา ซึ่งในตอนนี้ก็ได้ สปช. ครบ 250 คน และเริ่มกระบวนการทำงานเรียบร้อยไปแล้ว มาย้อนอดีตไปฟัง จำนรรจ์ ที่มีเบื้องหลังในการทำงานมาบอกเล่ากัน

สรรหา สปช. สายสื่อมวลชน ด้วยอิสระและสบายใจ
 
จากการทำงานในฐานะคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายสื่อมวลชน มีด้วยกัน 7 คน คือ
+ พล.อ.นพดล อินทปัญญา ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา คสช.
+ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
+ พิรงรอง รามสูต นั้นเป็นอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
+ วรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT)
+ สำเริง คำพะอุ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาวุโส และเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2530-2531
+ อรุณ งามดี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
+ จำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
 
“เป็นการทำงานที่ราบรื่นและสบายใจมาก ไม่มีใครมาบีบบังคับอะไรเราทั้งสิ้น ทุกคนมีความเป็นอิสระมีความคิดเป็นตัวของเราเอง ซึ่งอาจจะมีการแชร์กันในคณะกรรมการสรรหากันนิดหน่อยว่า คนไหนที่ไม่รู้จักคนที่รู้จักก็จะบอกว่าเป็นไงบ้าง พอผลออกมาก็ไม่มีใครด่าหรือต่อต้าน จริงๆ แล้วในชุดที่สรรหานี้มีทหารอยู่ท่านเดียว หลายคนคิดว่าเราจะถูกสั่งให้เลือกทหาร บังเอิญนายทหารท่านนั้นก็มีประสบการณ์เป็นคณะทำงานอยู่ใน กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็คิดว่าเราน่าจะเลือกใครที่มีประสบการณ์บ้าง เพราะว่าใน กสทช. เอง ก็เป็นองค์กรที่จัดตั้งมาเพื่อคุมเรื่องสื่อ เราเลยต้องการคนที่รู้ข้างในบ้าง เพราะว่าคนที่ไม่รู้อะไรเลยเขาก็ไม่รู้ว่าปัญหามีหรือเปล่า ถ้าปัญหามีก็ต้องไปปฏิรูป ส่วนอะไรที่ดีอยู่แล้วก็ต้องไปปฏิบัติ” จำนรรค์เริ่มต้นเล่าประสบการณ์ในการทำงาน พร้อมกับขยายความต่อว่า
 
“ก็มีคณะกรรมการสรรหา สปช. หลายท่านที่ดิฉันไม่เคยได้เห็นตัวหรือรู้จักมาก่อน อย่างเช่นคุณสำเริง คำพะอุ ท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส หรือท่านอาจารย์อรุณ ท่านก็เป็นรุ่นพี่ที่อักษรศาสตร์ ก็ไม่ได้สนิทอะไรกับท่าน แต่ก็ทราบดีว่าท่านเป็นคนที่มีเกียรติคุณ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงด้านอักษรศาสตร์ และเคยเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ท่านพลเอกนพดลเองก็ได้เจอท่านแต่ไม่ได้สนิทอะไรกัน ทุกคนที่มาในวันนั้นจะมีที่รู้จักกันก็มีคุณวรรณี คุณฐากร เพราะว่าดิฉันเคยเป็นอนุกรรมการ กสทช. ซึ่งในการสรรหาเรามาดูและตกลงกันว่าจะเลือกคนที่มีความคิดตรงกัน คือ เลือกคนที่มีความรู้ ประสบการณ์ ที่สำคัญต้องมีโปรไฟล์ที่ดีไม่มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่น หรือว่าเป็นนอมินีของใคร ก็ตกลงกันตรงนี้ ท่านพลเอกนพดลเอง ท่านเป็นประธานก็บอกว่าขอให้เลือกกันตามสบาย ไม่มีการมาล๊อกสเป๊กอะไรกัน เราก็สบายใจ ส่วนท่านอาจารย์พิรงรองท่านก็ไม่สะดวก เพราะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไปแอฟริกา อาจารย์พิรงรองก็เลยไม่ได้เข้าไปเป็นกรรมการสรรหา เรามาคุยกันว่าต้องหากรรมการเพิ่มเติมหรือเปล่า สรุปว่าไม่ต้อง สามารถเลือกได้โดยใช้คณะกรรมการสรรหาเพียง 6 คน”
 
จากวงในของคณะกรรมการสรรหา สปช. สายสื่อมวลชน ได้ตกลงกันว่า ต้องเลือกคนที่อินไซด์และเอ้าต์ไซด์ ทั้งภาคโทรทัศน์ โฆษณา วิทยุ และอีกหลายด้านที่น่าพร้อมให้หมดรอบด้าน รวมทั้งนักวิชาการที่มีประสบการณ์ จำนรรจ์บอกว่า กุญแจหรือคีย์ในการสรรหาที่สำคัญก็คือ คนที่สามารถทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้
  
"ถ้าเราได้คนมาแบบขวาจัดมากซ้ายจัดมาก เมื่อทำงานร่วมกันกับคนอื่นก็ลำบาก ไม่ประนีประนอมกับใครตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา ตอนนี้ประเทศชาติต้องการคนที่จะมาแชร์กัน รับฟังกัน เอาประสบการณ์ของตัวเองที่มีอยู่มาช่วยกันแก้ปัญหา มากกว่าเอาคนที่โดดเด่นเก่งแต่มาคนเดียวแล้วชี้นำทั้งกลุ่มหรือคณะ ดิฉันมองว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะเขาจะมองอะไรในมิติที่เขาคิดว่าถูกต้องสวยงาม ทุกคนต้องทำตาม บางทีคนเราถ้าฟังกัน เปิดใจเปิดตา และรับฟังคนอื่นมากกว่านี้ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่คนอื่นคิดมาก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน คณะกรรมการสรรหากลัวคนที่ไม่ประนีประนอม"

"การที่มีจุดยืนของตัวเองเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่เราจะเลือกคนที่อ่อนแอปวกเปียกไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง มันไม่ใช่ คนเราก็ต้องมีอุดมการณ์มีความคิดของตัวเองอยู่ในนั้น ต้องมีใจกว้าง เรื่องการปฏิรูปเราไม่ได้เข้าไปปฏิรูปคนเดียว การเข้ามาเป็นหมู่คณะใจเราต้องกว้างและพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ"

กระบวนการสรรหาของคณะกรรมการสายสื่อมวลชนนั้น จำนรรจ์ ฉายภาพให้เห็นว่า ทั้งหมดมานั่งดูโปรไฟล์ต่างๆ ซึ่งเธอเห็นว่าต้องชมทาง กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ที่ทำข้อมูลมาให้แบบละเอียดมาก ซึ่งละเอียดกว่าตอนที่เลือก กสทช.ด้วยซ้ำไป

"ทั้งเรื่องของประวัติและหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบเรื่องประวัติต่างๆ นั้นดีมาก ก็ทำให้มีการสกรีนไปตั้งแต่เบื้องต้น ดูแล้วก็มีทั้งคนที่เรารู้จักและไม่รู้จัก ก่อนโหวตเราก็ดูว่าคนไหนที่คณะกรรมการเห็นว่าน่าจะเข้ามาทำงานในฐานะ สปช. ได้ หรือคนไหนที่ไม่เคยรู้จักก็ต้องดูที่ประวัติว่าโดดเด่นจริงๆ มีความดี มีประสบการณ์ที่จะเข้ามาเสริมมาเติมในส่วนที่เราคิดว่าประเทศเราต้องการคนแบบนี้ ซึ่งต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ดูเกียรติประวัติที่โดดเด่น ตรงนี้เป็นข้อตกลงกัน เสร็จแล้วก็มาเลือกกัน หา 50 คนจากเกือบ 200 คน มีการคัดมาและโหวตให้คะแนนกัน ต่างคนต่างโหวตอย่างเป็นอิสระ โหวตแล้วก็ได้คะแนนออกมา บางคนก็ได้คะแนนเต็มไปเลยเพราะคณะกรรมการพร้อมใจกันเลือก บางคนก็อาจจะได้ 3 คะแนน 2 คะแนนบ้าง
“สุดท้ายแล้วคนที่ได้อันดับ 1-15 เราก็คัดเอาไว้ก่อน แล้วก็ส่งไปให้ทางคณะ คสช. พิจารณาดู ซึ่ง คสช.พิจารณาแล้ว เขาก็ไม่ได้ตัดทอนอะไรเลย ซึ่งท่านประธานพลเอกนพดลกำชับไว้เลย ห้ามไปเผยแพร่ทั้งสิ้นเพราะไม่รู้ว่า คสช. จะเลือกใคร เกิดเลือกคนที่เราไม่ได้คัดสรรไปก็จะกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ก็ต้องรอและทราบผล สปช. พร้อมๆ กับที่ข่าวออกมาจากราชกิจจานุเบกษา เหมือนกับประชาชนทั่วไปที่ตามข่าวว่าคนที่จะได้เข้าไปปฏิรูปมีใครบ้าง อยากจะเรียนว่าทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีการมาขออะไรกันที่จะทำให้เราสูญเสียการตัดสินใจ เป็นอิสระในการเลือกคนอย่างเต็มที่"

 

เปิดเบื้องหลังสรรหา สปช.สายสื่อมวลชน

วิพากษ์ทีวีดิจิทัล "ยุคแห่งความสับสนและวุ่นวาย"

ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ การเคลื่อนไหวของ จำนรรค์ครั้งล่าสุด ได้ร่วมกลุ่มกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่อง ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อขอความชัดเจนและเร่งรัดการแจกคูปองใช้แลกซื้ออุปกรณ์รับชมทีวีดิจิทัลให้เร็วที่สุด และเร่งรัดการขยายโครงข่ายดิจิตอลให้เป็นไปตามกำหนดเงื่อนไข
นอกจากนั้น ยังได้ยื่นขอเชิญชวนต่อคณะกรรมการธุรกิจการค้ากระจายเสียงพร้อมด้วยธุรกิจโทรทัศน์ (กสท.) เพื่อที่จะขอให้ช่วยลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหม่ 4% เช่นเดียวกับการออกอากาศคู่ขนาน จากเดิมที่มติบอร์ดกสท.มีมติลดหย่อนให้ทีวีดิจิทัลรายใหม่ 2 % โดยมองว่าหากจะอาจลดหย่อนก็มักมีความเท่าเทียมกัน ไม่ควรให้กับรายใดรายหนึ่ง ส่วนการขยายระยะเวลาในการชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 คือจำนวนเงิน 8,124 ล้านบาท ออกไปเป็นระยะเวลา 1ปี ที่มองว่าน่าจะก็จะสามารถกระทำได้ แต่เช่นนี้ต้องรอกระบวนการขั้นตอนการตีความด้านกฎหมายต่อไป

"ทีวีดิจิทัลตอนนี้มีอยู่ 24 ช่อง แล้วมาจากผู้ประกอบกิจการที่แตกต่างกันไป บางรายก็มีพื้นฐานมาจากหนังสือพิมพ์ เขาก็มีแนวโน้มวิธีคิดมาในแนวนั้นแบบนักข่าวแบบสื่อมวลชน แล้วก็มีผู้ประกอบการที่เคยเป็นผู้จัดมาก่อน หรือบางรายก็มีทีวีเคเบิลทีวีดาวเทียมด้วย รวมทั้งทีวีอนาล๊อกเก่าด้วย มันก็แตกต่างกันไป การที่จะให้เขามาคิดอะไรแบบเดียวกันคงเป็นไปได้ยาก"

"จริงๆ แล้วสมาพันธ์ก็ทำงานกันค่อนข้างหนัก เพราะว่าการที่จะให้คนมาทำงานด้วยกัน มาคิดอะไรแล้วจูนเป็นสิ่งเดียวกันทำได้ค่อนข้างยาก คนๆ หนึ่งก็คิดในมุมของตัว อีกฝ่ายก็คิดไปอีกอย่าง ความแตกต่างมันมีเยอะ ดิฉันไม่อยากให้ความแตกต่างตรงนี้กลายเป็นความแตกแยก ยิ่งในยุคสมัยนี้การที่จะเข้ามาต่อสู้หรือว่าเรียกร้องขอร้องอะไรก็แล้วแต่ มันต้องมากันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้วไม่ควรแตกไปคนละทาง อย่าง กสทช. เองก็ทำอะไรไม่ถูก สองช่องนี้คิดอย่างนี้ สามช่องนั้นคิดอย่างนั้น สี่ช่องโน้นก็ไปอีกทางก็เลยเอาใจใครไม่ถูกเลยสักทีเดียว ดิฉันเคยพูดกับทาง กสทช. บอกว่า ยุคนี้เป็นยุคที่มันแตกกันมาก ทั้งผู้ประกอบการและ กสทช. เอง ผู้ประกอบการแตกกันก็ว่าแย่แล้ว ยิ่งกสทช. แตกอีก มันไม่มีชิ้นดีเลย แล้วต่อไปใครจะดูแลใคร ใครจะทำงานให้ใคร มันลำบากมาก ยุคนี้เป็นยุคแห่งความสับสนและวุ่นวาย มันมีเรื่องของความแตกต่างไม่ลงตัว ซึ่งต้องค่อยๆ ปรับกันไป"
 
ความขัดแย้งในอุตสาหกรรมทีวี โดยเฉพาะการปกป้องธุรกิจที่กำลังเริ่มต้นเข้าสู่ทีวีดิจิทัล รวมถึงความไม่ชัดเจนในการกำกับดูของ กสทช. ที่ยังลักลั่นอยู่ จำนรรค์ ชี้ว่าทำให้การพัฒนาหรือการเปลี่ยนผ่านก็ยิ่งช้าเข้าไปกันใหญ่

"ประชาชนที่เอาคูปองไปแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล แต่เขาต้องถอดดาวเทียมหรือเคเบิลที่เคยใช้ของเขาออก ทั้งที่เขาดูได้ 200-300 ช่อง แล้วทำไมเขาจึงเหลือแค่ 20 กว่าช่อง ก็ไม่รู้จะไปเปลี่ยนผ่านอะไร เพราะไปปิดกั้นสิทธิของเขา มันก็เลยกลายเป็นประเด็นที่ต้องสู้กันจนตัวตาย แต่ดิฉันอยากบอกว่าสู้กันครั้งนี้จะทำให้เราตายทั้งวงการ เพราะว่ามันจะทำให้การเปลี่ยนผ่านทุกอย่างมันช้า แล้วก็เกิดความแตกแยก อย่างทางผู้ประกอบการเคเบิลก็ออกมาพูดแล้ว ไม่มัสต์ แคร์รี่แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ ถ้ามัสต์ แคร์รี่ ก็ต้องเสียเงินต่อช่อง ช่องละ 2 ล้าน จะต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่ มันเกิดความแตกแยกอย่างที่มันไม่ควรจะเกิด บางทีถ้าเราคิดว่าเราได้บ้างเขาได้บ้าง ถัวๆ กันไปมันก็จบได้ แล้วเกิดการหันหน้าเข้าหากัน มาช่วยกันคิดว่าเราต้องมาช่วยกันต่อสู้ต่อไปข้างหน้า"

"อย่างเรื่องเรตติ้งก็ยังไม่ออก จะเอาเกณฑ์ยังไง โฆษณาก็ยังไม่เข้า เราจะช่วยกันอย่างไง กำหนดขายให้เหมือนกัน ไม่ให้มาตัดราคากันได้ มันมีอะไรตั้งหลายอย่างที่ต้องคุยกัน โครงข่ายยังไม่เสร็จเราต้องต่อรอให้มันมีประสิทธิภาพกว่านี้ โครงข่ายไปถึงแล้วกล่องยังไม่มีประชาชนยังรับสัญญาณไม่ได้ ปัญหามันเยอแยะไปหมด ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องมานั่งทะเลาะกันเกี่ยงกันแค่ตรงนี้ว่า นี่เงินของฉันนี่เงินของแก เพราะจริงๆ แล้ว ประชาชนยิ่งมีทางเลือกมากเท่าไหร่ การเปลี่ยนผ่านก็ยิ่งเร็วขึ้นเท่านั้น”
หันหน้าเข้าหากัน มองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
 
จำนรรค์ ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากคนในวงการทีวีคิดเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม  รวมถึงใน กสทช. เอง ที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ

"กสทช. เอง ก็ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวกันมาก คนนี้เก่งคนนั้นไม่เก่ง คนนี้ใช่คนนั้นไม่ใช่ คนนี้เสนอเป็นความคิดของตัว เพราะฉะนั้นถ้าคนนั้นเสนอฉันจะไม่เอา มันกลายเป็นสภาพที่เห็นแล้วไม่มีอนาคต นอกจากว่า กสทช. จะมีความเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ว่าอะไรก็ว่าด้วยกันแล้วให้มันจบ อย่างตอนนี้เราจบที่คนนี้แต่มันไม่จบต้องไปอีก 3 คน ไปอีก 4 คน ไปอีก 5 คน อย่างนี้มันไม่ไหว ผู้ประกอบการก็สับสน แม้ปัจจุบันช่อง 3 ก็ยังงงๆ อยู่เลยว่า เอายังไง เพราะความคิดเห็นของ กสทช. กับ กสท. ก็ยังไม่เหมือนกัน 3 คนนี้บอกว่า ทำได้ไม่มีปัญหา อีก 2 คนก็มาบอกว่าไม่ได้นะ มันผิดกฎหมายนะ ต้องทำให้ชัดเจน ซึ่งดิฉันไม่ทราบว่าวันหนึ่งข้างหน้าถ้าเปลี่ยน กสทช. ชุดนี้ไปแล้วจะมีใครมารื้อค้นอีกหรือเปล่า

"อย่างทุกวันนี้ทั้งช่อง 3 ก็ดี หรือช่อง 7 เองก็ตาม ช่อง 5 เองก็ถูกขู่ว่าจะรื้อสัมปทาน ซึ่งผู้ประกอบการก็จะอยู่กับความหวาดกลัวว่าทำผิดกฎหมายหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นคนมีอำนาจก็จะมีสิทธิบอกว่าตรงนี้ถูกตรงนี้ผิด เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการเองเขาก็ต้องการความชัดเจน ตอนนี้ก็อยู่กันด้วยความที่เป็นพวกใครพวกมัน เชื่อใครก็เชื่อ ไม่เชื่อคนนี้ก็ไม่เชื่อ ซึ่งมันไม่ใช่ เราควรที่จะจัดการให้เป็นเอกภาพ กสทช.ก็ต้องเป็นเอกภาพ แล้วการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบอะไรก็ต้องให้รัดกุม ไม่ใช่คิดว่าปัญหาตรงนี้แก้ได้กลับมีปมมีปุ่มอีกข้างหน้า ก็ต้องไปแก้อีกสามปม มันก็ไม่ไหว ต้องคิดเป็นภาพใหญ่ จบก็คือจบ และให้หน่วยงานมารับทราบกันว่าใช้ได้ไหม บางทีคนเราไม่ต้องฟ้องร้องกันหรอก มานั่งเจรจากันบนโต๊ะ คุยกันดีๆ ขอความเห็นใจ ขอความเข้าใจกัน มันจบได้ด้วยดี ไม่ต้องมาเสียเวลาฟ้องร้องกัน ทุกวันนี้เป็นอย่างนั้นใครร้องก่อนก็ได้เปรียบ ผลัดกันร้องคนละทีสองทีตกลงประเทศนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน” จำนรรค์ บอกถึงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ว่า การปฏิรูปสื่อก็คือ หาข้อผิดกันแล้วฟ้องร้องกันไป สภาพเป็นอย่างนั้น

"ดิฉันอยากจะพูดกับผู้ประกอบการในฐานะนายกสมาพันธ์ ขอให้ร่วมมือร่วมใจกัน แล้วก็มองปัญหากันและกัน ต้องหันหน้าเข้ามาหากัน แล้วก็ต้องรู้ว่าอะไรที่เราต้องไปจัดการเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งอยากให้ทุกคนคิดมากๆ ถ้าเราคิดแต่ประโยชน์ส่วนตนแล้วยิ่งแตกแยกกันไปใหญ่เลย อยากให้พวกเราบรรดาผู้ประกอบการรวมตัวกันขับเคลื่อนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อย่างเช่นตอนนี้พวกเราก็มีปัญหากันมาก ในเรื่องของอัตราค่าธรรมเนียมอะไรต่างๆ รวมถึงการที่จะต้องจ่ายเงินงวดที่ 2 แล้วในขณะที่ กสทช. มัวแต่ทะเลาะกันอยู่ ไม่ได้มาดูแลหรือทำอะไรเลย ออกกฎมาประมูลแล้วเอาเงินเราไป แล้วยังไม่ได้ช่วยเราทำอะไรเลย ก็ต้องมาช่วยเราเยียวยาในสิ่งเหล่านี้ก่อน ตอนนี้พวกเราต้องมาร่วมมือร่วมใจทำตรงนี้กัน เพื่อว่าให้ธุรกิจจะได้เดินต่อไปได้  ซึ่งจะได้ผลิตรายการดีๆ ให้กับประชาชน ตอนนี้ไม่มีใครกล้าลงทุน แล้ว 24 ช่องที่เกิดมาก็ไม่ได้ดีกว่าช่องอนาล๊อกเก่า ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดมาทำไมตั้งเยอะแยะ คุณภาพก็ไม่ดี เพราะโครงข่ายไปยังไม่พร้อม กล่องรับสัญญาณยังไปไม่ถึงประชาชน คนยังไม่รับทราบ

"เพราะฉะนั้นต้องมาคิดกันเลยว่า รัฐจะจะได้เงินอย่างไรเมื่อผู้ประกอบการเจ๊งกันหมด เขาก็ไม่มีเงินมาส่งค่าสัมปทาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือเราต้องสร้างความเชื่อมั่นของพวกเราเอง ให้มองปัญหาที่สำคัญที่สุดว่า ขณะนี้เราต้องทำอะไร ไม่ใช่มานั่งโจมตีกัน แตกแยกกัน กีดกันกัน  ต้องมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ส่วนทาง กสทช. เอง ก็ต้องมามองแล้วว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้รอดกันให้หมด ถ้าผู้ประกอบการไม่รอดหรือหลุดพ้นปัญหา ทาง กสทช. เองก็ไม่สามารถปัดรับความผิดชอบได้ว่า เอาแต่เงินเขาแล้วเอาเขามาตาย ทิ้งขว้างเขา คือตอนนี้ทาง สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) เอง หรือฝ่ายรัฐเองก็ต้องดูแลผู้ประกอบการ อะไรที่ต้องแก้ไขก่อนก็ต้องไปทำตรงนั้น เพื่อไม่ให้ตรงนั้นเกิดผลร้ายในภายหลัง ดิฉันไม่นิยมในการฟ้องร้องต่อสู้กัน ด่ากันไปด่ากันมา ไม่มีประโยชน์ เสียเวลา ตอนนี้คุยเรื่องดีๆ ดีกว่าว่า เราจะทำอย่างไรให้เราอยู่กันรอดและเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เขาได้ดูช่องที่เขาเลือกและชอบ
 
"ควรต้องเปลี่ยนทัศนคติ ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปสื่อมันจะไม่เกิดขึ้น ถ้าคุณไม่เปลี่ยนที่ตัวคุณเองก่อน ต้องเปลี่ยนความคิดของคุณเอง เพราะเปลี่ยนคนอื่นนั้นเปลี่ยนยาก ถามว่าคุณคำนึงถึงแต่ตัวคุณเองมากกว่าคนอื่นมากไปหรือเปล่า บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าตัวเองคิดดี คิดว่าตัวเองเป็นคนดีทำเพื่อคนอื่น จริงๆ แล้วพอมันไปสิ้นสุดที่คำตอบสุดท้ายคือว่า อ๋อ! ก็แค่เพื่อตัวเราเอง ตรงนี้มันยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์  อย่างปัจจุบันนี้มีคำว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมั่นคง เพราะว่าเขาคิดถึงส่วนรวมก่อน ส่วนรวมดี สังคมก็ดี เราก็ดีตามด้วย จึงเป็นอะไรที่มั่นคงยั่งยืน ต้องดีตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่ดีแค่ตัวเราเอง รากฐานต้องแข็งแรง ดิฉันคิดว่าการปฏิรูปสื่อ คนที่ทำงานต้องปฏิรูปความคิดของตัวเองด้วยถึงจะเก่ง”
  
สุดท้าย จำนรรค์ ย้ำอย่างชัดถ้อยชัดคำอีกครั้งว่า อุตสาหกรรมทีวีอยู่ในช่วงที่ยุ่งเหยิงและสับสนมากที่สุด ทุกคนต้องให้ความร่วมมือกัน ปรับความคิดของตัวเองกันใหม่

"ต้องมาลำดับความสำคัญกันว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง เรื่องของกฎหมายเรื่องระเบียบต่างๆ ก็ต้องมาแก้กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้กันก่อนด้วยซ้ำไป เรื่องขององค์กรที่ควบคุมกำกับดูแลก็ต้องดูว่า ต้องทำงานขนาดไหนมีความคล่องตัวแค่ไหน และมีความศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน อะไรเป็นหน้าที่ของเขา อะไรเป็นหน้าที่ของเราต้องแยกให้ชัดเจน อะไรที่ทำให้ประโยชน์ตกอยู่กับรัฐก็ต้องทำไป ส่วนอะไรที่เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือพวกผู้ประกอบการที่จะทำให้เขาทำธุรกิจต่อไปได้ก็ต้องสนับสนุนและดูแลเขาด้วย ไม่ใช่ตีหัวแล้วเข้าบ้านเลย ปล่อยให้เขายืนตากฝน ฉันอยู่ในบ้านสบายแล้ว อย่างนี้ก็จบ"