posttoday

วิพากษ์ยับ"สินบนจราจร"สร้างภาพ(ลักษณ์)ตร.ไทย

10 ตุลาคม 2557

ฮือฮากับนโยบายให้เงินรางวัล 1 หมื่นบาท กับตำรวจที่มีหลักฐานผู้ขับขี่ให้สินบนแลกใบสั่ง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ฮือฮากับนโยบายให้เงินรางวัล 1 หมื่นบาท กับตำรวจที่มีหลักฐานผู้ขับขี่ให้สินบนแลกใบสั่ง

ผู้โชคดีรายแรก ด.ต.นริทร์ ฟักบำรุง ผู้บังคับหมู่งานจราจร สน.วัดพระยาไกร เข้ารับเงินรางวัลก้อนโตจาก พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อสามารถจับกุมผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ที่พยายามติดสินบนเจ้าพนักงาน 100 บาท เพื่อแลกกับการไม่ออกใบสั่ง หลังทำผิดกฎจราจร

นโยบายนี้ ตำรวจอธิบายว่า มุ่งหวังให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายโดยชำระค่าปรับเมื่อทำผิดกฎจราจร หาใช่มาจ่ายใต้โต๊ะ 100-200 บาท ซื้อเครื่องดื่มยาชูกำลังมาแลก และเพื่อแก้ปัญหาส่วยจราจร!!

แว่วว่า ตำรวจตามด่านตรวจต่างๆ จะติดกล้องขนาดจิ๋วประจำตัวตามเครื่องแบบตำรวจจราจร โดยมี 3 จุด 1.กล้องเม็ดกระดุม ด้านบนของเครื่องแบบตำรวจ จุดที่ 2 กล้องปากกาที่เสียบแนบไว้ในกระเป๋าเสื้อบนหน้าอกของชุดตำรวจไม่ด้านซ้ายก็ด้านขวา และบริเวณหัวปากกาจะมีกล้องติดซ่อนอยู่ทำการบันทึกภาพ

และจุดที่ 3 กล้องแว่นตา หากพบเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรใส่แว่น ให้ตั้งสมมติฐานว่าต้องเป็นกล้องแอบถ่าย ให้สังเกตบริเวณมุมขอบแว่นจะมีกล้องจิ๋วติดอยู่

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นถึงนโยบายอันเข้มข้นของตำรวจจราจรว่า อะไรจะเป็นหลักประกันให้เกิดความโปร่งใสในการแก้ไขปัญหา ส่วยข้างถนนตามทาง โดยส่วนตัวตั้งข้อสงสัยใน 2 ประเด็น คือ 1.การตั้งค่าตอบแทน 1 หมื่นบาท ไม่ได้เป็นมาตรฐานหรือหลัก ประกัน กระบวนการนี้ไม่ได้ทำเพียงรายประเด็น เพราะ ส่วยบางอย่างก็ทำสัญลักษณ์ชัดเจน ตำรวจไม่จำเป็นต้องเรียกจับก็ได้ มันมีระบบขบวนการสมรู้ร่วมคิดกัน และ 2.การถ่ายภาพหรือบันทึกก็ไม่ได้เป็นหลักประกันเรื่องความโปร่งใสเช่นกัน เพราะอาจมีตำรวจบางคนไปถ่ายอย่างอื่นซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เรากังวลในส่วนนี้มาก เพราะตำรวจจะเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานอาจมีการดิสเครดิตได้ในภายหลัง

วิพากษ์ยับ"สินบนจราจร"สร้างภาพ(ลักษณ์)ตร.ไทย

มุมมองของผู้ขับขี่บนท้องถนน ต่างวิพากษ์นโยบายนี้อย่างดุเดือด

สิทธิชัย พนักงานส่งเอกสารจากบริษัทแห่งหนึ่งย่านอโศก บอกถึงเงินนอกระบบที่ตัวเขาเองต้องจ่ายให้กับตำรวจจราจรเมื่อทำผิดกฎหมาย หรือแม้แต่บางครั้งจะไม่ได้ทำผิดอะไรเลยก็ตาม

“ครั้งละ 100-200 บาทครับ ต่ำกว่า 100 พี่ (ตำรวจ) เขาไม่รับ ผมว่านะ จะมาว่าผู้ขับขี่ให้สินบนตำรวจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตำรวจเองก็เรียกรับเงินจากประชาชนเองเหมือนกัน”

สิทธิชัย ยอมรับว่า เฉลี่ยแล้วระยะเวลา 1 เดือน เขาจะต้องเจอตำรวจจราจรตั้งด่านตรวจความผิด ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ขณะที่อุปกรณ์ควบทางรถจักรยานยนต์ของเขาถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง แต่ตำรวจก็ยังสามารถเอาผิดได้เสมอ

“ผมก็ต้องให้ล่ะครับ มันเสียเวลา แต่ผมบอกได้เลยว่า หลายครั้งที่ตำรวจทำการตกลงกับผมเอง เช่น จะจ่ายค่าน้ำชาเท่าไหร่ หรือเอางี้ จะจ่ายที่นี่หรือที่โรงพัก เลือกเอานะ”

ไม่ต่างจาก สมชาย วินรถจักรยานยนต์ย่านอโศกมนตรี บอกว่า นโยบายนี้ไม่ยุติธรรม

“ให้ผมแอบติดกล้องแล้วถ่ายตำรวจจราจรที่รีดไถบ้างมั้ยล่ะ แล้วส่งคลิปให้ตำรวจ ผมจะได้เงินบ้างมั้ย หรือตำรวจจะถูกดำเนินคดีหรือเปล่า”

ความเห็นประชาชนผ่านเพจ “เรารักด่านตรวจ” ที่ตั้งขึ้นมาจับผิดตำรวจ มีคนเข้ามาไลค์หน้าเพจ 2.6 แสนคน ก็ร้อนระอุด้วยถ้อยคำโจมตีผู้ออกนโยบายเกือบ 99.99%

SatanArrt “แล้วตอนประชาชนมีหลักฐานว่าตำรวจรีดไถประชาชน ประชาชนเคยได้รางวัลบ้างมั้ย”

เชฟ อินดี้ “แล้วถ้าถ่ายตำรวจตั้งด่านผี ขี่ย้อนศร จอดล้ำเส้น เว้นใส่หมวก กระผมจะได้รางวัลไหม”

Katayy Si “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า... ตำหนวด ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง เอาก็ได้ตัง ไม่เอาก็ได้ตัง นโยบายอะไรเนี่ย เขาเรียกว่า กินสองต่อ”

Leler “เอาภาษีประชาชนไปจ่ายให้ตำรวจอีก”

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.อดุลย์ เจ้าของนโยบายนี้ อธิบายว่า เงินรางวัลที่มาให้ตำรวจมาจาก “กองทุนสวัสดิการตำรวจจราจร” ซึ่งตนเองตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่มาของเงินบริจาคในกองทุนมาจากหน่วยงานภายนอกที่ไม่ใช่ภาครัฐ คือ กลุ่มนักธุรกิจ เพื่อสมทบช่วยเหลือตำรวจจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 88 สถานี ปัจจุบันเงินในกองทุนดังกล่าวมีอยู่แค่หลักแสนบาท

“เงินรางวัลมาจากกองทุนนี้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินกองทุนอื่นๆ ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลทั้ง 13 กองทุน ที่มีเงินหมุนเวียนกว่าหมื่นล้านบาท หรือเอานำเงินจากการจับปรับผู้กระทำผิดกฎจราจรมาใช้”

รอง ผบช.น. ชี้แจงด้วยว่า หากประชาชนผู้ขับขี่บนท้องถนนมีหลักฐานว่าตำรวจจราจรเรียกรับเงินแทนการเสียค่าปรับ ก็สามารถบันทึกหลักฐานเพื่อเอาผิดกับตำรวจจราจรนายนั้นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งหากตำรวจทำผิดเองมีโทษหนักกว่าประชาชน แต่ในส่วนนี้เราไม่มีเงินรางวัลให้ประชาชนที่แจ้งเบาะแสตำรวจรีดไถ

“ใครมีหลักฐานว่าถูกรีดไถมาแจ้งกับผมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ ผมจะดำเนินคดีกับตำรวจที่ทำผิดทันที” พล.ต.ต.อดุลย์ ทิ้งท้าย