posttoday

"บิลลี่"หายตัว!สะเทือนคดีต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยง

21 เมษายน 2557

ก่อนที่ชายนักสู้วัย 30 ปี จะหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ เขาได้ร่างเอกสารความยาว 2 หน้ากระดาษ สำหรับถวายฎีกาขอความเป็นธรรม

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

ศาลปกครองกลางเรียก “พยาน” ในคดีชาวบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คดีนำกำลังเข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัว เข้าให้ข้อมูลในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ค.นี้

นับเป็น “ครั้งแรก” ที่พยานจะขึ้นให้การต่อศาล หลังจากใช้เวลาการต่อสู้ในกระบวนการกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันยื่นฟ้องในเดือน ก.ค. ปี 2554

ทว่า เพียง 1 เดือน ก่อนถึงวันนัดหมาย “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยง พยานปากเอกและคีย์เวิร์ดของคดี กลับหายตัวไปอย่างลึกลับ

18 เม.ย.ที่ผ่านมา เขาหายตัวไปพร้อม “ความหวัง” ของชาวกะเหรี่ยงกว่า 500 ชีวิต ที่ต้องการจะใช้ชีวิตอย่างปกติสุขโดยปราศจากความหวาดกลัว และ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้นำกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเผาบ้านบางกลอยบนและหนึ่งในผู้ถูกฟ้องคดี คือคนสุดท้ายที่ได้พบ “บิลลี่”

วันดังกล่าว “บิลลี่” มีนัดหารือกับผู้ใหญ่บ้านและเครือข่ายภาคประชาสังคมถึงแนวทางการสู้คดีที่ตัวเมือง เขาขี่รถจักรยานยนต์จากหมู่บ้านซึ่งอยู่ภายในเขตอุทยานแก่งกระจาน ผ่านอุทยานฯ เพื่อเข้าเมือง โดยเส้นทางเข้า-ออก มีเพียงทางเดียว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุทยานฯ ได้

“เจ้าหน้าที่ด่านตรวจมะเร็วจับกุมผู้ต้องหาลักลอบขนน้ำผึ้งไว้ได้ เมื่อผมไปถึงก็พบว่าเป็นบิลลี่พร้อมน้ำผึ้ง 5-6 ขวด จึงให้เขาขึ้นรถไปด้วยกัน โดยระหว่างที่นั่งมาด้วยกันก็ได้ตักเตือนเพราะทราบว่าบิลลี่เป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง ซึ่งเท่ากับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่กลับทำผิดกฎหมายเสียเอง แต่ก็ไม่ได้ติดใจเอาความอะไร เมื่อขับรถกันมาได้สัก 4-5 กิโลเมตร บริเวณแยกหนองมะค่า ก็ได้ปล่อยตัวเขาไปพร้อมกับรถจักรยานยนต์ที่อยู่หลังรถ” ชัยวัฒน์ อธิบาย พร้อมยืนกรานว่ามีพยานเห็นเหตุการณ์ ทั้งเจ้าหน้าที่และนักศึกษาฝึกงาน

จนถึงวันนี้ “บิลลี่” หายตัวไป 4 วันแล้ว และถึงแม้ว่าญาติ ชาวบ้าน รวมทั้งผู้นำชุมชน จะเดินหน้าทวงถามการดำเนินการจากหน่วยงานรัฐแต่ดูเหมือนว่าไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

ชาวบ้านบางกลอย จึงเขียนจดหมายร้องทุกข์สั้นๆ ถึงสภาทนายความด้วยลายมือของตัวเอง ความว่า “เนื่องจากบิลลี่ได้หายตัวออกจากบ้านบางกลอย วันที่ 17 เม.ย.2557  ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้ เกรงว่าจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงร้องขอความช่วยเหลือให้ติดตามตัว”

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ บอกว่า บิลลี่มีความสำคัญกับคดีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นคนเดียวที่พูดและเขียนภาษาไทยได้ดี เป็นล่ามแปลภาษาให้ชาวกะเหรี่ยง เป็นแกนนำของชาวบ้านและเป็นหัวแรงหลักในการฟ้องร้องคดี การหายตัวไปของบิลลี่จึงเกี่ยวโยงกับคดีโดยตรง

ตลอดระยะเวลาการต่อสู้คดี เขาเป็นทั้งคนเก็บข้อมูล เป็นผู้ประสานงาน เป็นคนจัดกิจกรรม เป็นผู้จัดทำเอกสาร และในการให้ข้อมูลกับศาลปกครองกลางในเดือนหน้า บิลลี่ถือเป็นพยานปากเอก เป็นผู้ประสานกับพยานปากอื่นๆ รวมถึงเป็นคนจัดเตรียมยานพาหนะเพื่อการเดินทางด้วย ดังนั้นเมื่อบิลลี่หายตัวไปชาวบ้านที่เหลือจึงตกอยู่ในความหวาดกลัวขวัญหนีดีฝ่อ ไม่กล้าสู้คดีต่อไป

“ในวันที่ศาลเรียกไปให้ข้อมูล เมื่อขาดบิลลี่ไป พูดได้ว่าเสียรูปคดีแน่ๆ”สุรพงษ์ ระบุชัด

ก่อนที่ชายนักสู้วัย 30 ปี จะหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำ เขาได้ร่างเอกสารความยาว 2 หน้ากระดาษ สำหรับถวายฎีกาขอความเป็นธรรม และพกติดตัวไว้เสมอ

“ตอนนี้พวกเราลำบากมาก เพราะข้าวของพิธีกรรมทางความเชื่อของชาวบ้านถูกทำลายทุกอย่างที่เขาพบเห็นจนหมด ไม่ว่าเด็ก คนป่วย หรือคนท้อง ต้องทุกข์ทรมานอดอยากไม่มีกิน ถึงขั้นมีคนตายและแท้งท้อง ขณะหลบหนีเจ้าหน้าที่เราต้องนอนอยู่ในป่าในถ้ำ”

“พวกเราเคยบอกผู้นำหมู่บ้านทั้งโป่งลึก-บางกลอย รับรู้แต่ไม่มีใครกล้าช่วยเหลือพวกเรา เพราะพวกเขากลัวเดือดร้อนเพราะเจ้าหน้าที่รังแกพวกเขา ... พวกเราขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้พวกเราได้มีสิทธิอยู่ในพื้นที่โดยไม่มีเจ้าหน้าที่มารังแก ขับไล่จับกุม เผาบ้าน เผายุ้งข้าว”

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (ฮิวแมนไรทส์วอทช์) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยให้ออกมาอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนรายนี้

“ทางการไทยไม่ควรนิ่งเฉยต่อกรณีของบิลลี่ และอุทยานแห่งชาติควรเป็นสถานที่สำหรับชื่นชมความงามทางธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สงบเงียบ ไม่ใช่สถานที่ที่ทางการจะไปข่มเหงชาวบ้าน และตราบใดที่ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนนี้ ความหวาดกลัวก็จะปกคลุมไปทั่ว ชุมชนจึงควรออกมาเรียกร้องสิทธิของพวกเขา”แถลงการณ์ระบุ

ทางด้าน นิพนธ์ โชติบาล รักษาการอธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ชัยวัฒน์มีความผิดหรือไม่ และยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน จำเป็นต้องใช้เวลาตรวจสอบและรอให้ชัยวัฒน์ชี้แจง ยืนยันว่าจะไม่ดำเนินการสองมาตรฐานหรือเข้าข้างใคร

ทั้งนี้ เหตุการณ์เจ้าหน้าที่อุทยานฯ สนธิกำลังเข้ารื้อค้นและเผาบ้านเรือนบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 โดยขณะนั้น มีการอ้างว่า กะเหรี่ยงที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวไม่ใช่คนไทย ถือเป็นผู้บุกรุกและเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะคนเหล่านั้นเป็นแนวร่วมกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด

จากการตรวจสอบของสภาทนายความ พบว่า ชาวบ้านบ้านบางกลอยเป็นคนไทยและเกือบทั้งหมดมีบัตรประชาชน ที่สำคัญคนเหล่านั้นตั้งรกรากมาเป็นเวลานานกว่า 100 ปี ไม่ใช่ผู้บุกรุกอย่างแน่นอน จึงนำมาสู่การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในที่สุด