posttoday

ย้อนรอยชุมนุมใหญ่3ครั้งเมื่อไหร่จะชนะ?

19 ธันวาคม 2556

การต่อสู้กับระบอบทักษิณยังอีกยาวไกลนัก การนัดชุมนุมใหญ่จึงยังจะมีอยู่ต่อไป...อีกหลายรอบ

โดย... ทีมข่าวการเมือง

เริ่มจากสามเสน 31 ต.ค. 2556 ถึงราชดำเนิน จากต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสู่การขับไล่ระบอบทักษิณ จากประชาชน 3 เครือข่ายควบรวมเป็น กปปส. จากวันนั้นถึงวันนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป่านกหวีดระดมพลชุมนุมใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง ล่าสุดกำหนดนัดแสดงพลังครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้

ตลอดระยะเวลาการชุมนุมสถานการณ์ได้พัฒนาขึ้นตามลำดับ ยุทธศาสตร์ของแกนนำปรากฏทั้งความเฉียบขาดและความพลั้งพลาด การเดินหมากในแต่ละตาฉายภาพผ่านการชุมนุมใหญ่แทบทั้งสิ้น

การเช็คกำลังครั้งแรกภายหลังประเด็นความไม่ชอบธรรมในการออกกฎหมายล้างผิดฉบับสุดซอยสุกงอม เกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. 2556 ซึ่งก่อนหน้านั้น 3 วัน สุเทพ ขึ้นเวทีประกาศชัด “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องตายไปจากสภา ก่อน 18.00 น. ของวันที่ 11 พ.ย.” และนัดหมายพี่น้องมวลมหาประชาชนมารับฟังคำตอบจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

“ขอประกาศให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้ยินอย่างชัดเจน ทุกเรื่องจะชำระความกันในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 18.00 น. เราจะตั้งศาลประชาชนขึ้นบนถนนราชดำเนิน แล้วจะพิจารณาพฤติกรรมความผิดทั้งหลายทั้งปวงของคนในตระกูลชินวัตร ที่ได้กระทำย่ำยีประเทศไทย”สุเทพ กล่าวไว้ในคืนวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา

ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศมุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างไม่ขัดสาย บรรยากาศอึกทึกไปด้วยเสียงนกหวีดทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร และทันทีที่ถึงเส้นตาย 18.00 น. สุเทพ ในฐานะแกนนำต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นเวทีประกาศยกระดับการชุมนุม
 
ในวันนั้น สุเทพ พร้อม สส.พรรคประชาธิปัตย์ อีก 8 คน ได้แสดงความจริงใจที่จะร่วมต่อสู้กับประชาชนด้วยการ “ลาออกจากตำแหน่ง” พร้อมทั้งประกาศ 4 มาตรการ “อารายะขัดขืน” ประกอบด้วย 1.หยุดงาน 3 วัน 2.ชะลอการจ่ายภาษี 3.แขวนนกหวีดและพกธงชาติ 4.เป่านกหวีดไล่นายกฯ และบริวารทุกที่ที่พบ

แม้ว่ามวลชนจะเบ่งบานตื่นตัวขยายวงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อจับอารมณ์ในภาพกว้างแล้วพบว่ามีบางส่วน “อกหัก-ไม่พอใจ” ด้วยคาดหวังมาตรการที่เข้มข้นและเด็ดขาดมากกว่านี้ แต่ในเวลาต่อมาพรรคเพื่อไทยยอมถอยกฎหมายสุดซอย

ย้อนรอยชุมนุมใหญ่3ครั้งเมื่อไหร่จะชนะ?

ครั้งต่อมาเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. เพื่อ “โค่นล้มระบอบทักษิณ” โดย สุเทพ ประกาศกร้าวว่า วันที่ 24 พ.ย.จะเป็นวันประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ ถือเป็นวันออกศึกต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสระบอบทักษิณ จึงเชิญชวนมวลชนเข้าร่วมให้ถึง 1 ล้านคน

เป็นอีกครั้งที่มวลชนจากทั่วทุกหัวระแหงเดินทางมายังราชดำเนินชนิดมืดฟ้ามัวดิน และมากกว่าการชุมนุมในครั้งแรกอย่างผิดหูผิดตา มีการประเมินตัวเลขผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 2 แสนราย วันนั้น สุเทพ ได้ประกาศเตรียมเดินขบวนดาวกระจาย 13 เส้นทาง “ปิดกรุง” ในเช้าวันที่ 25 พ.ย. พร้อมกล่าวหนักแน่น “ระบอบทักษิณจะสิ้นสุดใน 3 วัน”

การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเดินทางไปถามจุดยืนสื่อมวลชนตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ซึ่งเข้าข่ายคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งการบุกยึดสถานที่ราชการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ด้านที่เป็นคุณต่อสุเทพและมวลชนคือความสำเร็จในการช่วงชิงพื้นที่ข่าวจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ โดยเฉพาะการเกี่ยวสัญญาณให้ “ฟรีทีวี” นำเสนอข้อมูลการเคลื่อนไหวการชุมนุม นอกจากนี้การ “บุกยึด” ด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวได้เรียกความศรัทธาจากมวลชนคืนสู่แกนนำ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่ามีโอกาส “ปิดเกม” ใน 3 วัน ได้จริง...แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น

การชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของ สุเทพ ภายหลังหลอมรวมกับเครือข่ายแนวร่วมกลายเป็น กปปส. และยึดศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ สำเร็จแล้ว จัดขึ้นอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค.

สุเทพ ประกาศเดิมพันด้วย “ชีวิต” หากในวันที่ 9 ธ.ค.ล้มระบอบทักษิณไม่สำเร็จจะยอมเดินเข้าคุก ในวันนั้นจะเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีหมุดหมายปักธงที่ทำเนียบรัฐบาล และจัดตั้ง “สภาประชาชน” ให้สำเร็จ

กระแสมวลมหาประชาชนลงเดินถนนสนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมประกาศ “ยุบสภา” ทันทีในเวลา 08.45 น. ของวันที่ 9 ธ.ค. แต่ก็ไม่สามารถลดทอนกำลังของมวลมหาประชาชนที่ออกมาบนท้องถนนได้แต่อย่างใด

...เป็นชัยชนะที่ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

จำนวนคนนับล้าน (รวมต่างจังหวัดที่เข้ายึดศาลากลาง) ทำให้ สุเทพ ไม่ยอมผ่อนปรนจากเงื่อนไขเดิมที่เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยประกาศว่า “ไม่ยอมรับการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.” และเดินหน้ารณรงค์ขอให้ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

ด้วยท่าทีเช่นนั้นเองทำให้ กปปส. ถูกวิพากษ์อย่างรุนแรงว่ากำลัง “ข้ามเส้น” ของกรอบกติกา และเคลื่อนไหวโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ความไม่พอใจเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากฝั่งวิชาการที่ออกมาคัดค้านแนวคิดนี้กันกระหึ่ม ไม่รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อต้านระบอบสุเทพสุดลิ่มทิ่มประตูมาต่อเนื่อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มคนรักสุเทพบางกลุ่ม ที่ก่อนหน้านี้เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด เริ่ม “เอาใจออกห่าง”

หนำซ้ำต้องยอมรับว่านาทีนี้ สุเทพ ได้ลดทอน “ความศักดิ์สิทธิ์” ของคำประกาศของตัวเองลงจากพฤติกรรมยื่นคำขาดแต่ไม่เป็นจริงเสียที โดยเฉพาะคำประกาศ “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย-สงครามครั้งสุดท้าย” ที่มีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “วิกฤตศรัทธา” ต่อแกนนำเริ่มปรากฎขึ้นบ้างแล้ว

...ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยระยะเวลาที่ยาวนานร่วม 2 เดือน ความเหนื่อยล้า ท้อแท้ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ย้อนรอยชุมนุมใหญ่3ครั้งเมื่อไหร่จะชนะ?

การชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 4 กำหนดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค. สุเทพนัดมวลชนปิดกรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ 13.00 น. จนถึง 18.00 น. กำหนดตั้งเวที 3 แยกหลักๆ ใจกลางกรุงเทพฯ ทั้งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สี่แยกปทุมวัน แยกราชประสงค์ โดยเชิวนให้ประชาชนลงเดินบนถนนที่เชื่อมต่อกันทั้งหมดกลางเมืองหลวง
 
แน่นอนว่าบ่ายวันอาทิตย์ 22 ธ.ค. จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ซึ่งสุเทพคำนวณแล้วพื้นที่ถนนทั้งหมดอยู่ที่ 5.7 หมื่นตารางเมตร คูณตารางเมตรละ 3-4 คนจะมีคนเต็มพื้นที่ประมาณ 1.7-2.3 ล้านคน

สำหรับคนใจเกินร้อยที่เทให้สุเทพไม่พลาดโอกาสนี้แน่ๆ แต่อีกจำนวนหนึ่งอาจเริ่มลังเลและเหนื่อยล้ากับการเดินวันแล้ววันเล่า แต่ไม่บรรลุเป้าหมาย ที่สำคัญเรื่อง "ปริมาณคน"  ได้ผ่านการพิสูจน์ไปแล้วเมื่อประวัติศาสตร์การเมือง 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา
 
22 ธ.ค. 2556 จึงไม่ใช่การสร้างสถิติ แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงการสร้างสัญญะแห่งการต่อสู้ แต่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายใดได้แท้จริงหรือไม่
 
1.ล้มเลือกตั้งได้ใช่หรือไม่ 2.ยิ่งลักษณ์ยอมลาออกใช่หรือไม่ 3.กำลังเข้าสู่เส้นชัยแล้วใช่หรือไม่

...ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามที่ยังต้องเฝ้ารอคำตอบ

การต่อสู้กับระบอบทักษิณยังอีกยาวไกลนัก การนัดชุมนุมใหญ่จึงยังจะมีอยู่ต่อไป...อีกหลายรอบ