posttoday

เปิดตัวเต็งผู้นำศาลรัฐธรรมคนใหม่

17 กรกฎาคม 2556

ตัวเต็งที่มีการคาดการณ์ว่าจะขึ้นมานำทิศทางของศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้มีด้วยกัน 2 คน

โดย...ทีมข่าวการเมือง

ทันทีที่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประกาศยืนยันเจตนารมณ์ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งออกจากการเป็นตุลาการฯ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป ส่งผลให้เริ่มกระบวนการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ทันที

ทั้งนี้ขั้นตอนเริ่มต้นจาก สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาประกาศรับสมัครบุคคลที่สนใจเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะนำรายชื่อผู้สมัครส่งไปให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยบุคคลสำคัญอย่างประธานศาลฎีกา ,ประธานศาลปกครองสูงสุด ,ประธานสภา ,ผู้นำฝ่ายค้าน และตัวแทนประธานองค์กรอิสระ ทำการคัดเลือกภายใต้กรอบเวลาคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนเสนอชื่อนำขึ้นโปรดเกล้าฯต่อไป

เมื่อได้ตุลาการฯคนใหม่ เป็นอันครบองค์ประชุมทั้ง 9 คนแล้ว ที่ประชุมตุลาการฯจะพิจารณาตัวบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ผู้ที่จะยืนหยัดผดุงความยุติธรรมรักษาไว้ซึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ตัวเต็งที่มีการคาดการณ์ว่าจะขึ้นมานำทิศทางของศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้มีด้วยกัน 2 คนคือ นายจรูญ  อินทจาร และ นายนุรักษ์  มาประณีต โดยการคัดเลือกจะเรียงลำดับจากความอาวุโสจากสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 ( 3)

 

เปิดตัวเต็งผู้นำศาลรัฐธรรมคนใหม่ จรูญ

เริ่มด้วย นายจรูญ ตุลาการผู้อาวุโสสูงสุด อุปนิสัยอารมณ์ดี ยิ้มแย้ม ดูดวงเป็น พูดน้อยแต่ต่อยหนัก เกิดวันที่ 29 พ.ค. 2497 จบการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ตุลาการฯคนนี้ เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ,รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ,ผู้พิพากษาศาลฎีกา ,ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดสมุทรปราการ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ,ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กระทั่งปัจจุบันเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551

ทว่าชื่อของนายจรูญ ปรากฏขึ้นให้จากการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์  อดีตเลขานุการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขย่าศรัทธาตุลาการฯ และ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ร่วมกันกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว กรณีจัดทำคลิปวิดีโอที่เป็นข้อมูลปลอมเผยแพร่โจมตีศาลรัฐธรรมนูญให้เสียหายขาดความน่าเชื่อถือ โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา

ตัวเต็งคนถัดมา นายนุรักษ์  มาประณีต เกิดเมื่อวันที่ 24เม.ย.2492 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เคยรับราชการโดยเป็น อัยการผู้ช่วย, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดไชยา, ศาลจังหวัดภูเก็ต, รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 8, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ภาค

 

แต่บทบาทหลังการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ชื่อของเขาถูกเสนอให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญคณะที่ทำการตัดสินคดียุบพรรคการเมือง จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ซึ่งคำพิพากษาส่วนบุคคลของนายนุรักษ์ ตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี และให้ยกคำร้องพรรคประชาธิปัตย์

ต่อมายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ซึ่งคำพิพากษาส่วนบุคคลของเขา ให้ยกคำร้องพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม

สำหรับตุลาการฯที่อยู่ในองค์คณะและมีความประสบการณ์ความรู้ความสามารถไม่แพ้บุคคลอื่น คือ นายเฉลิมพล  เอกอุรุ เกิดวันที่ 19 ส.ค. 2488 มีประวัติการศึกษาจบจาก นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , Master of Arts (M.A.) International Law and Relations, Columbia University, New York ประเทศสหรัฐอเมริกา  ,Diploma in International Relations, Institute of Social Studies, The Hague ประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เปิดตัวเต็งผู้นำศาลรัฐธรรมคนใหม่ นุรักษ์

เคยดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ,เอกอัครราชฑูต ณ กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการี ต่อจากนั้นเป็น เอกอัครราชฑูต ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ขณะที่ตุลาการฯคนถัดมา นายสุพจน์  ไข่มุกด์ เกิดวันที่ 1 ก.ย.2488 มีประวัติการศึกษาจบจาก รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการฑูต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาการฑูต, Institut International d'Administration Publique   (IIAP) ประเทศฝรั่งเศส และปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ Universite des Sciences Sociales   de Toulouse ประเทศฝรั่งเศส

ด้านการทำงานที่ผ่านมา เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชฑูต ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ เมื่อวันที่18 ต.ค. 2546 และเอกอัครราชฑูต ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2543

ดังนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันล้วนผ่านประสบการณ์ทำงานมาอย่างโชกโชน ท่ามกลางภาวะกดดันการทำงานจากกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง