posttoday

อย่าเอาบ้านเมืองเป็นตัวประกัน

17 กุมภาพันธ์ 2556

สัมภาษณ์พิเศษ "ทวี ประจวบลาภ" อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กับประเด็นความขัดแย้งแตกแยกของบ้านเมือง

โดย...ชุษณ์วัฏ ตันวานิช

ไม่ว่าจะเริ่มสักกี่ศักราชใหม่ แต่ประเทศไทยยังพายเรือวนอยู่ในอ่างความขัดแย้งไม่จบสิ้น วิกฤตการเมืองอันมีบ่อเกิดจากรัฐประหารกันยาฯ 49 ลากดึงหลายองค์กรเข้ามาพัวพัน แม้แต่สถาบันตุลาการที่ขึ้นชื่อว่าอิสระ เที่ยงตรงเป็นกลาง ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย

 “ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองไทยผ่านมาถึงจุดนี้ มันไม่มียุคใดสมัยใดที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้นะ เผลอๆ มองย้อนไปสมัยกรุงแตก 2 ครั้งยังร้ายแรงน้อยกว่านี้ด้วยซ้ำ” ทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเริ่มต้นสนทนากับ “โพสต์ทูเดย์” อย่างออกรส

“มันแตกแยกตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 มาจนถึงปัจจุบัน ผมเห็น 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ความวุ่นวายมันเกิดขึ้น แต่เหตุการณ์มันยุติ อดีตที่ผ่านมาเมื่อเกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร สังเกตดูว่าบ้านเมืองจะชะงักพักหนึ่งแล้วเดินหน้าต่อไปได้ แต่ปี 2549 ทำแล้วมันไม่ยุติ ไม่สะเด็ดน้ำ แล้วดันไปรื้อขยะใต้พรมขึ้นมาทั้งหมด”

หลังปี 2549 เป็นต้นมา เกิดคดีความทางอาญาหลายคดีอันเป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะคดีก่อการร้ายและสลายการชุมนุม ซึ่งเข้ามาเกี่ยวพันกับ“ศาลอาญา” ที่ต้องตัดสินคดีความ ทวียอมรับว่า ถูกแรงกดดันทั้งสองทาง เนื่องจากตัวจำเลยไม่ว่าจะเป็น อภิสิทธิ์เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ถูกสังคมจับจ้องมาก ขณะเดียวกันหากเป็นแกนนำเสื้อแดงก็มีมวลชนจับตาไม่น้อย ทั้งยังเกิดภาวะเปรียบเทียบการดำเนินคดีกับกลุ่มเสื้อเหลืองด้วยจึงต้องพิจารณาลักษณะคดี ข้อหา และตัวจำเลยอย่างรอบคอบ

“สำคัญคือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่พนักงานสอบสวนไล่ขึ้นมาถึงพนักงานอัยการ ต้องรีบจัดการนำคดีเข้าสู่ศาลให้หมดโดยเร็วจะดีที่สุด เพราะการส่งฟ้องศาลล่าช้า เช่น คดีเสื้อเหลืองยึดสนามบินบ้าง ยึดทำเนียบฯ บ้าง กลุ่มเสื้อแดงวิจารณ์ว่ามันช้ามาก ทั้งที่เกิดเหตุการณ์ก่อนเขาตั้ง 2-3 ปี แต่คดียังไม่ได้นำมาสู่ศาล นี่เป็นจุดที่ทำให้เกิดปัญหา”

เขาอัพเดตความคืบหน้าคดีว่า ขณะนี้ทางอัยการทยอยฟ้องจำเลยกลุ่มพันธมิตรฯ เข้ามาหมดทุกคนแล้วในคดียึดทำเนียบฯ รวมถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมืองและสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มด้วย สาเหตุที่ล่าช้าเพราะมีจำเลยร้อยกว่าคน คาดว่าการพิจารณาคดีในส่วนจำเลยจะใช้วิธีการเดียวกันกับกลุ่มคนเสื้อแดง คือ ผูกรวมคดี 10-20 สำนวนเข้าด้วยกัน นัดพิจารณาทีเดียวจะทำให้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อหาของกลุ่มเสื้อเหลืองที่ฟ้องเข้ามานั้นไม่ใช่ข้อหาก่อการร้าย แต่ฟ้องในข้อหาปลุกระดม ชุมนุม ผิดกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งฝ่ายคนเสื้อแดงที่ผ่านมาถูกวางข้อหานี้เช่นกัน รวมถึงข้อหาก่อการร้ายด้วย ดังนั้นลักษณะตามข้อหาของฝ่ายเสื้อแดงจะหนักกว่า

กังวลจะเกิดความไม่พอใจหรือไม่ หากโทษฝ่ายเสื้อเหลืองเบากว่าเสื้อแดง? ทวี บอกไม่อ้อมค้อม

“ตามที่ฟ้องมาเป็นคดียึดทำเนียบฯ ข้อหาเบากว่าการก่อการร้ายของกลุ่มเสื้อแดงมีโทษหนัก ทางฝ่ายเสื้อเหลืองข้อหาก่อการร้ายยังไม่มี จึงซอฟต์กว่ามาก เพราะพนักงานอัยการส่งเรื่องมาแบบนี้ ท่านคงมีเหตุผลจากที่พนักงานสอบสวน|ได้สวบสวนและตั้งข้อหามา เมื่อพิจารณาตัดสินคดีศาลจะอธิบายได้ว่าทำไมลงโทษน้อย ซึ่งต้องอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ”

อย่าเอาบ้านเมืองเป็นตัวประกัน

แม้เผชิญหน้ากับแรงกดดันขนาดไหน แต่ทวี ระบุว่าศาลอาญาโชคดีที่เป็นศาลใหญ่ ผู้พิพากษามีประสบการณ์ ผ่านงานหัวหน้าศาล ผู้พิพากษามาแล้วไม่ต่ำกว่า 6-7 ปี โดยทางฝ่ายผู้บริหารอย่างเขาหรือรองอธิบดีศาลอาญาจะช่วยแนะนำ ตรวจสอบ และให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วกระชับมากขึ้น

“แต่คดีเหล่านี้มันไม่จบในมือผมแน่นอน จนกว่าจะถึงการทำคำวินิจฉัยยังต้องใช้เวลาอีกนาน ต้องเปลี่ยนองค์คณะหลายชุดกว่าจะถึงจุดตัดสิน อย่างเอกสิทธิ์ สส.ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมไม่ให้ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งฝ่ายแกนนำเสื้อแดง อภิสิทธิ์ สุเทพ หากถูกฟ้องมาในขณะที่ยังเป็น สส. พอเปิดสมัยประชุมมันก็เรียกไม่ได้ กว่าจะถึงจุดที่ต้องตัดสินคดี ผมคงจะย้ายไปที่อื่น แต่ผู้พิพากษาไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานแทน มั่นใจว่าคงใช้หลักเดียวกัน”

คลุกคลีกับคดีนักโทษทางการเมืองเป็นเวลานาน เมื่อให้วิเคราะห์ถึงหนทาง “นิรโทษกรรม” นักโทษการเมืองทุกสีเสื้อที่กำลังแตกเป็นทางหลายแพร่งอยู่ในขณะนี้ เจ้าตัวย้ำชัดว่า การปกครองด้วยระบบรัฐสภา การออกกฎหมายผ่านสภาชอบธรรมที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่เกินไป แก้ไขยากกว่ากฎหมายธรรมดา ในส่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ที่ฝ่ายเสื้อแดงเสนอให้ออก ก็เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา184 เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ฉะนั้นควรจะนำเสนอเป็นร่างพ.ร.บ.เท่านั้น 

“ในชั้นออก พ.ร.ก.รัฐบาลสามารถออกได้โดยอิสระไม่ต้องไปขอความเห็นใคร แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบขั้นตอนนี้ เพราะเป็นกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะเดียวกันหากส่ง พ.ร.ก.ให้สภารับรองว่าเร่งด่วนหรือไม่จะตอบได้ยาก เพราะหากเร่งด่วนมันต้องทำมาตั้งนานแล้ว นี่ผ่านมาตั้งหลายปีไม่เห็นทำอะไรเลย จะอ้างว่าเร่งด่วนก็ลำบาก”

ทวี ยังชี้อุปสรรคการนิโทษกรรมเวลานี้ว่า แท้จริงไม่ได้อยู่ที่จะเลือกใช้กฎหมายใดในการนิรโทษ หากอยู่ที่แต่ละฝ่ายยังไม่มีความจริงใจในการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ยังคงยึดผลประโยชน์ที่ขัดกันไปมา คำนึงถึงอนาคตพรรคการเมืองตัวเองเป็นหลัก ดังนั้นเขาเห็นว่าผู้เล่นในสนามเวลานี้ต้องใช้วิธีคล้ายมาตรการของศาล ในเมื่อตกลงกันในศาลไม่ได้ ก็ต้องใช้หลักการไกล่เกลี่ยไปเจรจากันนอกศาล ! เพื่อให้ได้ข้อยุติ 

“จะให้ยุติมันไม่ง่าย เพราะแต่ละฝ่ายคิดถึงแต่ข้างตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องอะไร พอข้างนี้เสนอ อีกข้างก็พยายามค้านต่างๆ นานา แต่ไม่เคยหาจุดยุติร่วมกัน ดังนั้นทั้งสองขั้วอำนาจระดับบนไปเจรจากันให้ได้ข้อยุติก่อน เสร็จแล้วถ้าทุกฝ่ายพอใจ ก็อาจจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม”

ถามย้ำไปว่า การนิรโทษต้องเริ่มที่ผู้มีอำนาจระดับบนเจรจากันก่อน? ทวี บอกว่า “ถ้าคน 2 กลุ่ม 2 คน มาตกลงในประเด็นกันได้ จะทำให้ปัญหาที่ไม่เห็นพ้องลดลงไปเรื่อยๆ แต่บางกลุ่มต้องยอมรับว่าเขามีมวลชนสนับสนุน จึงอาจทำได้ลำบาก ผมเชื่อว่าแม้มวลชนจะสนับสนุน แต่ถ้าหัวขบวนเห็นด้วย สุดท้ายแล้วเขาจะอธิบายให้มวลชนกลุ่มที่|สนับสนุนเห็นได้ว่ามันจำเป็น”

ฝ่ายเสื้อเเดงยืนยันว่า มวลชนยึดอุดมการณ์ก้าวข้ามแกนนำ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว? ทวี เห็นแย้งว่า “มวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของแกนนำนั้นมันมีแน่นอนที่บางกลุ่ม บางพวก กลุ่มย่อยๆ จะไม่เห็นด้วย เพราะโลกมันเปลี่ยนไปเยอะ การติดต่อสื่อสารรวดเร็วมากขึ้น ทำให้เข้าใจปัญหาต่างๆ มากขึ้น จนการจะทำให้ทุกคนในกลุ่มเห็นชอบกับฝ่ายผู้นำความคิดนั้นเป็นเรื่องยาก

...แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าแกนนำทั้งสองฝ่ายเจรจากัน ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องฟังผู้นำกลุ่มมากกว่า เป็นไปได้ว่าถ้าผู้นำกลุ่มหรือเสียงข้างมากในกลุ่มเห็นอย่างนี้แล้ว โอกาสที่กลุ่มย่อยๆ จะออกมาตีรวนนั้นยาก เว้นแต่ว่าผู้นำกลุ่มตอนแรกบอกเห็นด้วย พอมีคนตีรวนอาจจะทำแบบประเภทที่ว่ากลับลำ ไม่ยอม หรือว่าเล่นละครสองหน้า เราก็ไม่รู้ไง แต่ลึกๆ เชื่อว่าถ้าหัวขบวนความคิดของแต่ละกลุ่มเขาคุยกันได้ ยอมกันได้ อย่างน้อยมันจะช่วยให้บ้านเมืองผ่อนคลายได้แน่นอน”

มวลชนบางกลุ่มมีพลังต่อรองแต่ไม่มากพอ ? ทวี ตอบทันที “ใช่ ผมเชื่ออย่างนั้น ไม่น่าจะมีพลังมากมายใหญ่โต ต้องยอมรับว่าปัญหาที่มีพลังใหญ่โตทุกวันนี้ เพราะแกนนำความคิดอาจเข้าไปจัดการแฮนเดิลนำกลุ่มเล็กๆ ขึ้นมา เว้นแต่ที่ผมบอกว่าหัวขบวนเปลี่ยนใจกลับคำหรือว่าเล่นละคร 2 หน้าอีกหน้าหนึ่งหนุน อีกหน้าหนึ่งก็ให้ประท้วงต่อ

...ถ้าเจรจากันในที่สุด เชื่อว่าส่วนใหญ่มันน่าจะลงเอยกันได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันผ่านมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันมันยังไม่เริ่มนับหนึ่งเลย หากยังเอาบ้านเมืองเป็นตัวประกัน พอมีข้อพิพาทกันก็ยึดประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ไม่ว่าคุณจะอ้างเหตุผลอะไรขึ้นมา แต่จริงๆ ลึกๆ แล้วพอสาวต่อไป มีบางอย่างที่แฝงเอาไว้โดยไม่เปิดเผย ทำให้ไม่ยอมตกลงร่วมกันได้ ฉะนั้นเมื่อไม่ตกลงคดีความก็เดินไปเรื่อยๆ และผมเชื่อว่าต่อไปจะหนักกว่านี้อีก เพราะว่าเขาถือว่าแต่ละข้างพอฝ่ายไหนสูญเสีย ฝ่ายไหนมีบทบาท โอกาสที่จะทำให้สถานการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นก็มีสูง”

“หนักกว่านี้” หมายถึงอะไร? “คือ อาจจะมีเหตุการณ์กระชับพื้นที่ เคลียร์พื้นที่ สลายม็อบ มีคนตายเป็นร้อยเกิดขึ้นอีกก็ได้ ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์บ้านเมือง 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีคนตายเยอะขนาดนี้ และผมก็เชื่อว่ามันไม่น่าเป็นครั้งสุดท้ายด้วย”

ม.112โทษหนักเกินไป

คำพิพากษาจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ถึง 10 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จุดชนวนให้กลุ่มเสื้อแดงลุกขึ้นมาประท้วงหน้าศาลอีกครั้ง ซ้ำรอยกรณี อำพล ตั้งนพคุณ หรือ “อากง SMS” ที่เสียชีวิตระหว่างถูกจำคุกในข้อหามาตราเดียวกันเมื่อกลางปีที่ผ่านมา

ไม่ใช่แค่กิจกรรมบุกเผาตำราหน้าศาลอาญา แต่คำพิพากษา สมยศ ยังปลุกองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล เรียกร้องให้ทบทวนคำตัดสินดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จนเกิดวาทะตอบโต้ไปมาระหว่างอธิบดีศาลอาญาและนักวิชาการสายเสื้อแดง

ทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เปิดใจถึงเรื่องนี้ว่า ต้องยอมรับว่าตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร กันยา 2549 คดีหมิ่นสถาบันพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ถึงแม้ศาลจะตัดสินไปบ้างแล้ว แต่ข้อเท็จจริงยังมีกรณีนี้อีกเป็นจำนวนมากที่เจ้าพนักงานรัฐไม่ได้ดำเนินคดี อาทิ เว็บไซต์ที่ลงถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่นให้พระมหากษัตริย์ได้รับความเสียหายมันเกิดขึ้นจำนวนมาก คดีส่วนหนึ่งที่ถูกสั่งฟ้องเข้ามาจึงมีลักษณะเหมือนเป็นตัวแทนของคดีอื่น เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินคดีทั้งหมด

“จำนวนคดีมันยิ่งสะท้อนว่าข้างใดข้างหนึ่งใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง ต้องยอมรับว่าพอกฎหมายมันหนักมากขึ้น แทนที่จะทำให้ประชาชนเกรงกลัว ผลกลับกันจะทำให้สถาบันได้รับการกระทบกระเทือนไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทั้งที่สถาบันพระมหากษัตริย์ พระองค์ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง ท่านอยู่เฉยๆ ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย

อย่าเอาบ้านเมืองเป็นตัวประกัน

...อย่างไรก็ดี คดีนี้อัยการเป็นผู้ฟ้อง ประชาชนฟ้องเองไม่ได้อยู่แล้ว เพราะรัฐเป็นผู้เสียหาย หลังพนักงานสอบสวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องแล้ว ศาลก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องพิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างเดียว จะให้ไปพิจารณาว่าควรจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ คดีแบบนี้ไม่น่าจะฟ้องมา ก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้พิพากษา ดังนั้นฝ่ายพนักงานสอบสวนควรจะต้องประชุมร่วมกันให้ชัดเจนว่ากรณีที่ถูกกล่าวหาระดับไหน แค่ไหน ควรจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง”

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แจงทัศนะอีกด้านที่มองไม่ต่างกับกลุ่มนักวิชาการว่า ม.112 กลายเป็นเครื่องมือทำลายทางการเมืองมากกว่ารักษาสถาบัน

ต้องมีกระบวนการกลั่นกรองเรื่องเข้ามา? ทวีแจงว่า “ที่ผ่านมามีนักวิชาการบางฝ่ายเรียกร้องว่าควรจะมีระบบกลั่นกรองก่อนคดีจะร้องเข้ามาสู่ศาล ถึงแม้ ม.112 เป็นความผิดอาญาแผ่นดินก็ตาม แต่มีช่องทางที่สามารถดำเนินการกลั่นกรองได้ตามกฎหมาย จึงมีหลายฝ่ายเสนอความเห็นให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาว่าสมควรให้นำแต่ละคดีมา|สู่ศาลหรือไม่

...แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะการที่บอกว่าควรจะตัดคดีบางคดีที่เข้าองค์ประกอบ ม.112 เหมือนกัน แต่ไม่ดำเนินการ มันต้องมีเหตุผลด้วย เพราะพอไม่ทำ|ชาวบ้านที่ต้องการทำหมดทุกคดีจะมาแจ้งความดำเนินคดีเจ้าพนักงานที่ไม่ทำว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีกฎหมายหรืออะไรรองรับ ก็ตายเหมือนกัน ดังนั้นเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่จะหาช่องทาง เพราะศาลมีหน้าที่พิจารณาคดีอย่างเดียว”

ส่วนที่นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษแทนนั้น ทวี แย้งว่า ไม่เห็นด้วย เพราะสำนักราชเลขาฯ เกี่ยวข้องกับสถาบันโดยตรง จะยิ่งเป็นการดึงสถาบันเข้ามาอย่างเต็มตัว เสี่ยงทำให้ผู้ที่ไม่ชอบมาตรานี้เป็นทุนเดิมพานไปเรื่องอื่น ยิ่งจะกระทบต่อสถาบันหนักขึ้น

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา|ยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นอัตราโทษหรือกระบวนการกลั่นกรองเรื่องเพื่อป้องกันไม่ให้มาตรานี้กลายเป็นอาวุธโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จุดสำคัญ|ล้วนอยู่ที่ “การแก้ไขกฎหมาย” แต่ยังเป็นเรื่องยาก เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ย่อมเกิดการเห็นค้านของคนในสังคมตามมาจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ตัวกฎหมายผมว่าแก้ยาก ตราบใดที่สถาบันกษัตริย์ของไทยจำเป็นต้องมี แต่ขณะเดียวกันยิ่งมีคนถูกฟ้อง ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีเยอะๆ ก็ไม่ดีต่อทุกฝ่าย ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม อย่างในยุโรปที่มีระบบกษัตริย์ก็ไม่มีข้อหานี้ แต่สภาพ|บ้านเมืองเราแตกต่างกัน แนวคิดวิธีการมันแตกต่างกัน มาตรานี้จึงคงอยู่ตลอดมา และกลับมาหนักขึ้นไปอีกหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

...เราต้องยอมรับว่าโทษมันหนักเกินไป ศาลก็มีหน้าที่พิพากษาวางโทษ ตามพยานหลักฐานที่อัยการสั่งฟ้องมา และหลักกฎหมายอาญาที่มีอยู่ ความเห็นของผมมันคงเลิกไม่ได้หรอก แต่น่าจะปรับปรุงในแง่ของลักษณะอัตราโทษมากกว่า แต่หลักกฎหมายคงต้องคงไว้ ต้องคงไว้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย”

ขณะเดียวกัน ทวี ยืนยันว่า การลดโทษไม่จำเป็นต้องแยกมาตรานี้ออกจากหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ เห็นควรให้คงเดิม เพราะถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถือว่าอยู่ในหมวดความมั่นคง หากดึงออกไปอยู่ในกลุ่มอื่น จะยิ่งลดความสำคัญของสถาบันลงไป

โชกโชนงานในศาลยุติธรรมมาเกือบทุกตำแหน่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปี วินิจฉัยคดีมานับครั้งไม่ถ้วน เเต่ ทวี เล่าให้ฟังว่า ผู้พิพากษาก็เหมือนมนุษย์ปุถุชนคนอื่น ในการพิจารณาคดีย่อมมีจิตใจหวั่นไหวบ้าง

ความอ่อนไหวที่ว่า น่าจะสะท้อนได้จากคำถามระหว่างสนทนาธรรมของผู้ช่วยผู้พิพากษารายหนึ่งที่ถามท่านอธิบดีศาลว่า “พิพากษาประหารชีวิตคน บาปหรือไม่?”

“หลายสิบปีก่อนมีผู้ช่วยผู้พิพากษาสอบคัดเลือกเข้ามาใหม่ๆ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ (อดีตนายกรัฐมนตรี) ท่านเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมในยุคนั้น ก็จัดอบรมนิมนต์ท่านพุทธทาสภิกขุ มาบรรยายถึงการดำรงตนของผู้พิพากษาในพระพุทธศาสนาว่าต้องทำอย่างไร พอบรรยายเสร็จปรากฏว่ามีผู้ช่วยผู้พิพากษาสอบถามท่านพุทธทาสว่า เราตัดสินประหารชีวิตคน คนตัดสินประหารจะบาปไหม?

...ท่านก็ตอบว่าผู้พิพากษาที่ตัดสินประหารชีวิตจำเลยไม่บาปหรอก เพราะผู้พิพากษาเป็นผู้ชี้กรรม การชี้กรรมก็คือการตัดสินคดี ดูที่พยานโจทก์ พยานจำเลย เชื่อว่าหากหาข้อเท็จจริงแล้วจำเลยทำความผิดจริง และชี้กรรมว่าจำเลยผิดแล้วให้ประหารชีวิต ผู้พิพากษาก็เป็นคนชี้กรรมไป แต่ท่านก็บอกว่าต้องชี้กรรมให้ถูก คนผิดต้องผิดจริงๆ เขาผิดก็ต้องชี้ว่าเขาผิด แต่ถ้าเขาไม่ผิดแล้วเราไปชี้กรรมว่าเขาผิดก็บาป”

ทวี เล่าด้วยท่าทีผ่อนคลาย หลังพักการพูดคุยเรื่องหนักเเล้วหันมาเล่าอีกมุมของตุลาการที่เปลี่ยนจากภาพนั่งบัลลังก์มานั่งฟังเทศน์

ไม่เท่านั้น ทวี ยังแชร์ประสบการณ์สนทนาธรรมอีกว่า “2-3 ปีที่ผ่านมา มีคนเล่าให้ฟังเยอะ จะบอกว่าเรื่องโจ๊กก็ไม่ใช่นะ ในบรรดาเพื่อนที่นั่งปฏิบัติธรรม หรือนั่งสมาธิเขาบอกว่ามีพระที่ท่านมีวัตรปฏิบัติที่ดีงาม ท่านก็นั่งสมาธิ ระหว่างนั้นท่านสามารถไปท่องเที่ยวทางจิตเข้าถึงสวรรค์นรกได้

พอถึงนรกแล้วท่านถามยมบาลว่า ใครที่ตกกระทะทองแดงเยอะที่สุด ในทำนองว่าอาชีพไหนตกนรกเยอะสุด ยมบาลบอกว่า “ผู้พิพากษา” คนกลุ่มนี้เยอะมาก (หัวเราะ) อันนี้เพื่อนเล่าต่อมา เราก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร” อธิบดีเล่าให้ชวนคิด