posttoday

“ค่ายทรมาน”ชายแดนใต้

11 ตุลาคม 2555

เปิดผลสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ของกสม.พบสถานที่คุมตัวมีการทรมานสารพัด

โดย....ทีมข่าวการเมือง

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 9 ต.ค. รับทราบผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระหว่างปี 2550-2553 จำนวน 34 คำร้อง  ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นำเสนอ

“ค่ายทรมาน”ชายแดนใต้ ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

ทั้งนี้ กสม.ลงพื้นที่พบผู้เสียหายหรือญาติของผู้เสียหายเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม  การจัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน และการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว ได้ประมวลข้อมูลแล้วมีข้อค้นพบอย่างน่าสนใจ

กสม.ระบุว่า จากการตรวจสอบกรณีต่างๆ และติดตามสถานการณ์การซ้อมทรมานอย่างใกล้ชิด มีข้อกังวลว่าการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรก หลักจากเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยอาจเป็นการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่และผู้บริหารระดับสูง

การทรมานโดยการซ้อมทำร้ายร่างกายและการขู่เข็ญให้กลัวได้มีการใช้กันอยางแพร่หลาย อ้างว่า เป็นการปฏิบัติการเพื่อขยายผลโดยมีวัตถุประสงค์พิเศษเพื่อหาข่าว ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบหรือเพื่อเป็นการลงโทษผู้ต้องสงสัยโดยพลการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐจริง

“ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการทรมานมักเป็นผู้ต้องสงสัยที่เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนมีทัศนคติเชิงลบกับกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยเห็นได้จากการเผยแพร่ข่าวตามสื่อมวลชน และการปฏิบัติการต่างๆของเจ้าหน้าที่ที่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติ” กสม.ระบุ

รูปแบบการทรมานที่หลากหลาย เช่น การคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติกให้หายใจไม่ออก  ใช้บุหรี่จี้ตามร่างกาย  การตบบ้องหู การล่ามสุนัขไว้ใกล้กับผู้ถูกควบคุมตัว เอาปืนและหรือมีดจี้บริเวณศีรษะ  เตะต่อย บริเวณใบหน้าและร่างกาย  ให้อยู่ภายใต้อุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นเกินไปเป็นระยะเวลานานเกินไป  ใช้ไฟฟ้าช็อตตามร่างกาย   การสอบสวนโดยใช้ระยะเวลายาวนานโดยไม่ให้พักผ่อนในเวลากลางคืน   การสอบสวนในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำมาก  การใช้ฟองน้ำพันกับไม้แล้วตีที่ลำตัว  ใช้มีดขีดที่แขน  ปิดตาแล้วทำร่างกาย  การข่มขู่ คุกคาม และการกดดันทางจิตใจ

ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทรมานมักจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจ ที่ปฏิบัติการจับกุม ควบคุมตัว และซักถามผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมภายใตค้กฎหมายพิเศษ โดยการซ้อมทรมานมักจะเกิดขึ้นในขณะหรือหลังจากการจับกุม หรือในสถานที่ควบคุมตัวของทางราชการ ที่ผู้ถูกกควบคุมตัวไม่ได้รับการเยี่ยมจากญาติหรือมีโอกาสปรึกษากับทนายความ

สภาพสถานที่ควบคุมตัวไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์สากล เนื่องจากอำนาจตามกฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสามารถกักตัวบุคคลไว้ในสถานที่ใดก็ได้ และการควบคุมตัวตามพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินก็ไม่เหมาะสม เช่น ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร และค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พบว่า มีพื้นที่จำกัดไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวที่มีเป็นจำนวนมาก สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่ำกว่ามาตรฐานโดยทั่วไป เช่น ไม่มีเครื่องนอน ห้องน้ำขาดการดูแล บรรยากาศในเรือนนอนไม่เหมาะสม เป็นต้น  นอกจากนี้ สถานที่คุมขังไม่ได้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบและดูแลของหน่วยงานอิสระ หรือหน่วยงานที่แยกต่างหากจากหน่วยงานที่จับกุมและสอบสวน ทำให้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล

กสม.ทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลดังนี้  การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาไว้ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร กองทัพภาคที่ 4  เป็นการกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระทบต่อสิทธิมนุษยชน และกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เมื่อภารกิจของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ดำเนินการโดยไม่สามารถประกันว่าจะไม่มีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว หรือการใช้อำนาจหน้าที่ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อาจมีทางเลือกดังนี้

1.ควรยุบเลิกศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์

2.มอบให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดูแลผู้ต้องสงสัยแทนศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เป็นต้น

3.ทดลองงดการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเป็นเวลา 3 เดือน ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457 พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 และ พรบ.รักษาความมั่นคงภายใน 2551

4.หากรัฐบาลยืนยันว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจนต่อสาธารณะ และมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นการกระทำต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน  รัฐบาลต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

****************************

ทหาร-ตร.แจงไม่เคยทรมาน

จาก 35 คำร้องของผู้เสียหาย และญาติเหยื่อ  กล่าวหาเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการทรมาน กสม.ได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง และให้ส่งพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบ ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ ) ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ (ฉก.หมายเลขสองตัว) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่เกิดเหตุ และสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ สรุปได้ในขั้นตอนต่างๆดังนี้

1.ขั้นตอนการปิดล้อม ตรวจค้น  บางกรณีผู้ต้องสงสัยมีเจตนาที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้ถึงแก่ชีวิต ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงมีการใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณขาเพื่อยับยั้งมิให้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันตัวตามกฎหมาย นอกจากนี้ในบางกรณีที่ผู้ต้องสงสัยมีร่องรอยหรือบาดแผล นั้น เป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นได้จากการกอดรัดฟัดเหวี่ยงหรือต่อสู้กันทั้งสองฝ่ายในระหว่างปฏิบัติการมิได้เกิดจากการซ้อมทรมานรุนแรงแต่อย่างใด

2.ขั้นตอนจับกุมหรือการเชิญตัว  กรณีบาดแผลที่ได้รับจากการเข้าจับกุมหรือถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมา นั้น เกิดขึ้นจากต่อสู้กันและกอดรัดฟัดเหวี่ยงในขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้ต้องสงสัย สำหรับกรณีที่มีการเสียชีวิตระหว่างการจับกุมตัว ได้ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกนายปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และมีการปฏิบัติตามขั้นตอนของการใช้อาวุธทุกประการ  แต่เนื่องจากผู้ต้องสงสัยได้มีการใช้อาวุธและขัดขืนการจับกุมแล้วหลบหนี จึงทำให้มีการต่อสู้กัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และผู้ต้องสงสัยได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

3.ขั้นตอนการควบคุมตัว  จะดำเนินการโดยหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่แล้วควบคุมตัวนำส่งศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ โดยในระหว่างการควบคุมตัวไม่ปรากฎการใช้ความรุนแรงในลักษณะการซ้อมทรมานอันเป็นการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด  สำหรับการควบคุมตัวก็เป็นไปตามพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และต้องได้รับอนุมัติจตากกองบัญชาการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก่อนการดำเนินการทุกครั้ง

4. ขั้นตอนการซักถาม   กระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัยของศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาศัยอำนาจตามพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยก่อนการซักถาม ได้มีการตรวจร่างกายผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัทั้งก่อนรับตัวและก่อนการส่งตัวเพื่อดำเนินคดี และในระหว่างดำเนินการซักถามผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยเจ้าหน้าที่จะดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทำร้ายร่างกาย ขู่บังคับ หรือ กระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้เสียชึ่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน หรือกระทำการใด อันเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายแต่อย่างใด

กระบวนการซักถามของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร บางกรณีมีกราซักถามผู้ต้องสงสัยโดยใช้เวลานานเกินปกติ ได้แก่ มีการเริ่มซักถามช่วงกลางคืนถึงเช้า โดยให้พักการซักถามเพื่อให้ผ่อนคลายเป็นระยะ แต่ในระหว่างการซักถามไม่มีการบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด