posttoday

"ภราดร-สมเจตน์"โต้เดือดใครล้มการปกครอง?

05 กรกฎาคม 2555

เปิดเนื้อหาโต้ตอบดุเดือดระหว่าง "ภราดร-พล.อ.สมเจตน์"ต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดย....ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

"ภราดร-สมเจตน์"โต้เดือดใครล้มการปกครอง? ภราดร / พล.อ.สมเจตน์

หมายเหตุ : เนื้อหาการซักถามและตอบโต้กันระหว่าง นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะผู้ถูกร้องที่ 6 กับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา ในฐานะพยานผู้ร้อง เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ต่อหน้าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68ว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เป็นการล้มลางการปกครองหรือไม่

************************

ภราดร : พล.อ.สมเจตน์ทราบหรือไม่ว่าในพ.ศ.2491และ 2539 ได้เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ2490 และ 2534

พล.อ.สมเจตน์ : ทราบครับ

ภราดร : เมื่อท่านทราบหมายความว่าทราบด้วยว่าขณะนั้นมีการตั้งส.ส.ร.(สภาร่างรัฐธรรมนูญ)เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ

พล.อ.สมเจตน์ : ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมที่แตกต่างกันไม่จำเป็นว่าสถานการณ์ขณะหนึ่งทำได้และสถานการณ์อีกขณะหนึ่งจะทำได้ ไม่จำเป็น

ภราดร : ทราบหรือไม่ว่าปี 2539 ได้มีการรณรงค์ธงเขียวและธงแดงมีการแตกทางความคิดของสังคมขณะนั้นมีบางส่วนไม่เห็นด้วยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534

พล.อ.สมเจตน์ : รัฐธรรมนูญ 2534 ทีมีการแก้ไขนั้นไม่มีเรื่องว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และต้องดูบริบทของสังคมที่มันแตกแยกกันอย่างสิ้นเชิง บริบทของสังคมที่ไม่เหมือนกันขณะนั้นสังคมมีความหวังว่าต้องการปลดจากเผด็จการทหารเพื่อให้นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ฝ่ายทหารที่เป็นผู้ถืออำนาจในขณะนั้นมิได้คัดค้านหรือโต้แย้งใดๆถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินการไปก็มีความหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยที่ดี ซึ่งก็สมหวังได้ทั้งสิทธิเสรีภาพแต่ขณะนั้นมีกรอบมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งวางกรอบของรัฐธรรมนูญ 2540 ว่าจะมีกรอบอย่างไร มีทิศทางอย่างไรเห็นชัดเจนว่าเมื่อร่างออกมาแล้วก็เป็นความหวังของชนชาวไทยว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ดี แต่สังคมขณะนี้มีความไม่มั่นใจเกิดขึ้น

ภราดร : ปี2539 ขณะนั้นก็มีความแตกแยกทางสังคมในเรื่องรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน บริบททางสังคมจึงไม่มีความแตกต่างกันกับ2550

พล.อ.สมเจตน์ : การใช้ธงเขียวขณะนั้นเป็นการรณรงค์ให้รัฐสภารับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขไม่รณรงค์ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ภราดร : เมื่อท่านทราบว่าในประวัติศาสตร์ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งส.ส.ร.แล้ว 2 ครั้ง ท่านทราบหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 7บัญญัติไว้ว่าเมื่อไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมิได้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พล.อ.สมเจตน์ : แล้วเกี่ยวอะไรกับคำถามท่าน...ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม

ภราดร : เมื่อปี 2549 ท่านร่วมอยู่ในคณะปฎิวัติหรือไม่

พล.อ.สมเจตน์ : ไม่ได้ร่วมครับ

ภราดร : ท่านเป็นเลขาคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติใช่หรือไม่

พล.อ.สมเจตน์ : ผิดครับ

ภราดร : แล้วท่านดำรงตำแหน่งอะไรในขณะนั้น

พล.อ.สมเจตน์: ท่านยังไม่ทราบเลยท่านมาถามผมแล้ว

ภราดร : ผมถามท่านก็ตามคำถามครับ

พล.อ.สมเจตน์ : ผมเป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติครับ

ภราดร : ก็มีส่วนร่วมกับคณะปฎิวัติในขณะนั้น

พล.อ.สมเจตน์ : ผมไม่ได้ร่วมปฎิวัติครับ

ภราดร : ผมถามท่านว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

พล.อ.สมเจตน์ : ก็ได้เรียนท่านไปแล้วว่านั่นคือการล้มล้างการปกครองครับและมันก็ไม่ได้แตกต่างกับวิธีการของท่านที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาแล้วนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 มันแตกต่างกันตรงไหนครับ

ภราดร : การกระทำขณะนั้นเป็นการกระทำโดยการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดกระทำตามรัฐธรรมนูญ 291 นี่คือความแตกต่างชัดเจน พวกผมกระทำการตามระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนท่านฉีกรัฐธรรมนูญ

พล.อ.สมเจตน์ : แล้วผลการกระทำของท่านมันฉีกรัฐธรรมนูญหรือไม่ครับ

ภราดร : การกระทำของผมเป็นเพียงเพื่อตั้งส.ส.ร.ส่วนส.ส.ร.จะไปการอย่างใดนั้นเหนืออำนาจการตัดสินใจของพวกผม