posttoday

"สุเมธ"สื่อแนวพระราชดำริถึงรัฐบาล

10 พฤศจิกายน 2554

"ผมถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้วผมเลือกไม่ได้หรอก ผมเลือกได้เฉพาะชาติบ้านเมือง"

"ผมถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้วผมเลือกไม่ได้หรอก ผมเลือกได้เฉพาะชาติบ้านเมือง"

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ และเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)  เปิดเผยโพสต์ทูเดย์ว่า ในฐานะที่ปรึกษา กยน.จะไม่เสนอแนะแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าขณะนี้  เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล กทม.  ศปภ.  แต่ที่จะเสนอแนะรัฐบาลต่อไปคือ  ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ 

ประการแรก ป่าอนุรักษ์หรือโซน 1 ซึ่งรัฐบาลประกาศเขตห้วงห้ามแต่มดปลวกเข้าไปทำลาย ต้องรักษาที่มีอยู่ให้ได้   ภูเขาหัวโล้นต้องฟื้นฟูบูรณะอย่างจริงจัง พระองค์ทรงแนะที่ห้วยห้องไคร้ เข้าไปฟื้นฟูจนขณะนี้เป็นป่าดงดิบไปแล้วขณะเดียยวกันต้องทำความเข้าใจภาคประชาชนรักษาสมบัติของตัวเอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งตลอดเวลา ห้วยหนองคลองบึงทำไมปล่อยทิ้งให้โทรม เปรียบเทียบกว๊านพะเยาขณะนี้   ต้องบูรณะแหล่งน้ำใหญ่ๆให้ฟื้นฟู  ต้องจัดหางบประมาณทำให้จงได้ 

"อย่าได้รุกล้ำอีกเลย เลิกออกโฉนดกลางบึงสักที ผมเห็นกันตำตาไม่ได้หาเรื่อง ถ้าไม่มีการร่วมมือกันมันจะออกได้อย่างไร"นายสุเมธ กล่าว

"สุเมธ"สื่อแนวพระราชดำริถึงรัฐบาล

ข้อเสนอต่อไป  บรรดาลำน้ำเกือบทุกลำน้ำมีรับสั่งทำแก้มลิง เพราะความแตกต่างระหว่างหน้าแล้งหน้าน้ำแตกต่างฟ้ากับดิน จุดเหลื่อมตรงนี้จะทำอย่างไร ความแตกต่างเมื่อน้ำทะลักจะให้ไปที่ไหน  จะต้องสร้างห้วยหนองคลองบึงให้น้ำทะลักไป เมื่อปล่อยให้เต็มก็ปิดมาใช้หน้าแล้ง

สำหรับเขื่อนใหญ่ๆ ที่มีเกือบครบทุกร่องน้ำ ปัญหาตามมาลุ่มน้ำที่ยังไม่ได้บริหารจัดการ จะทำอย่างไร จะเล็กใหญ่ ไม่เป็นไร ตรงไหนสมควรจะสร้างอย่างไร อยากฝากเลิกซะทีวิธีคิดว่าเขื่อนทำงานไม่ได้ เขื่อนเหมือนตุ่ม เมื่อเต็มก็เต็มที่เหลือมาว่าไร้ประสิทธิภาพ ก็ทุบเขื่อนทิ้งสิ ถ้าพูดอย่างนี้ก็เหมือนกำปั้นทุบดิน ดังนั้นต้องกลับไปดูจะกักเก็บไว้อย่างไร

พระองค์ทรงเตือนไว้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มักจะไม่ค่อยศึกษาเรื่องทางน้ำทำให้ขวางทางน้ำ น้ำมาก็จะหาทางเจาะทลายแล้ว ตรงไหนจะผ่านถนนก็ลดระดับ ดูทางน้ำ ก็จะเคลื่อนอย่าไปเบรกล็อคเอาไว้

สำหรับพื้นที่ชั้นในกทม.  มีหนองคลองบึงต้องไปดูว่าอยู่ในสภาพอย่างไร  ที่ผ่านมาไม่มีการควบคุม ทั้งขยะ การก่อสร้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด  กรณีที่หาดใหญ่น้ำท่วมมโหฬาร  พระองค์มีพระราชดำริบริหารคลองที่หาดใหญ่ จัดระเบียบคูคลอง น้ำไหลผ่านสะดวก ย้อนกลับมาดูกทม.เป็นอย่างไร มีทั้งที่นอน ยางรถยนต์ลอยมาติดประตูระบายน้ำ        

ทั้งหมดมาดูภาพรวมอีกครั้ง ดูลุ่มน้ำ วิธีการบริหารจัดการ เพราะกทม.ยอมรับบริหารยากเหลือเกินเพราะอยู่ระดับเดียวกับน้ำทะเลบวกลบห่างกันไม่กี่เมตรจะดันไปไหน

ข้อเสนอแนะอีกประการ ตามที่พระองค์ทรงตรัสคือ การสร้างฟลัดเวย์ เป็นทางที่ให้น้ำไป แทนที่จะใช้วิภาวดีรังสิตหรือให้น้ำมาแย่งถนนกับรถยนต์ก็ต้องหาทางให้เขาไปบังคับให้เขาไป

"ถามว่ามีไหม เราพบว่าแนวฟลัดเวย์ถูกกำหนดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งความเข้าใจพื้นที่สีเขียวไม่ใช่พื้นที่ปลูกต้นไม้  แต่เป็นนาข้าวก็ได้ ทีมงานเคยไปดูงานที่มิสซิสซิปปี้ เป็นทุ่งนาใหญ่ ปลูกข้าวสาลีได้แต่พอน้ำขึ้นรัฐบาลขอใช้ปล่อยน้ำเข้าตรงนี้มันก็มีพื้นที่แทนที่จะวิ่งบนถนน  เป็นฟรัดเวย์แล้วก็มีการชดเชยกันไปตามระเบียบ จ่ายค่าเช่าประจำปีให้เขา"สุเมธ กล่าว

สุเมธ บอกด้วยว่า เมื่อมีการขีดวงเป็นฟลัดเวย์แต่ความยากลำบากเกิดขึ้นคือถูกหมู่บ้านจัดสรรสร้างขวางทางหมด บทบาทฟลัดเวย์หมดไป พระองค์ท่านจึงรับสั่งหาทางซิ ซึ่งตนเองตอบไม่ได้ตรงไหนควรจะทำ จะเป็นพื้นที่ไหนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปดำเนินการ

"สุเมธ"สื่อแนวพระราชดำริถึงรัฐบาล

ถามว่าเป็นความผิดพลาดของกลไกราชการปล่อยให้บุกรุกเข้าไปครอบครองพื้นที่ที่กำหนดฟลัดเวย์ สุเมธ ย้อนถามว่า "ผมไม่รู้ วังน้ำเขียวเขากำหนดไว้เปล่า ริมคลองที่มีสลัมเกิดขึ้นเขากำหนดเป็นเขตชลประทานหรือเปล่า คุณตอบเองแล้วกัน ผมไม่ตอบ ขี้เกียจขึ้นหน้าหนึ่ง"

สุเมธ ยอมรับความยากลำบากในการทำฟลัดเวย์เมืองไทยว่า บ้านเราทำยากที่สุดอะไรเคยกำหนดไว้  แม้กระทั่งห้ามตัดไม้ทำลายป่ามีคุกตารางมันก็ตัดทุกวันนี้จะให้ทำอย่างไร คราวนี้เกิดเหตุเข็ดแล้วต้องแก้แล้วหล่ะ

สุดท้ายก็คือธรรมชาติ ตอนนี้ก็กัดฟันกันเอาไว้ลอยกระทงกันไว้ ไม่มีใครสู้ธรรมชาติได้  พระองค์ให้ไปตามธรรมชาติ เพราะฉนั้นรอน้ำทะเลถอยเมื่อไหร่ก็ลากน้ำมหาศาลลงไปด้วย หลังจากนั้นก็ฟื้นฟู

"ให้ผมเป็นที่ปรึกษาผมก็จะให้คำปรึกษาอย่างนี้ผมไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ"ที่ปรึกษากยน. กล่าว

กล่าวถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังการตัดสินใจมาเป็นที่ปรึกษา กยน. สุเมธ เปิดเผยว่า ภารกิจนี้ คือ ช่วยชาติบ้านเมือง นายกฯโทรหาด้วยตัวเองให้เป็นที่ปรึกษา ไม่ลังเลที่จะตอบรับ จากนั้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ก็ติดต่อมาภายหลัง 

"ผมรู้ว่าถ้าผมเป็นเลขาหรือประธานจะไม่มีทางสำเร็จ เราคิดว่าทำหน้าที่ปรึกษาได้โดยเฉพาะการขีดวงในการทำงานเพราะในเรื่องทางเทคนิคมีคนที่เชี่ยวชาญเยอะอยู่แล้ว เช่น คุณปราโมทย์ ไม้กลัด แต่เมื่อต้องการคอนซัลในแง่แนวทางพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวผมก็โอเคหน้าที่ผมมีแค่นี้ แต่จะให้รับผิดชอบมากไปกว่านั้นรับไม่ได้เพราะผมรู้ตัวเองดีว่ารับได้แค่ไหน ผมอายุ 72 ปี เป็นข้าราชการเกษียณพอแล้ว"

"สุเมธ"สื่อแนวพระราชดำริถึงรัฐบาล

"ผมกำลังทำหน้าที่ปรึกษาแทนท่าน(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) อยู่นะก็ได้แค่นี้ เขาจะทำหรือไม่ทำจะให้ว่ายังไง ตอนนี้ต้องมองข้ามแล้ว"

ยามนี้มันเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันแล้ว มีหลายคนมาถามว่ารับทำไมอะไรอย่างโน้นอย่างนี้จะเป็นจะตาย เวลานี้มานั่งคิดอะไรกันไม่ได้หรอก ใครทำอะไรได้ยังไงก็ต้องช่วยกัน เป็นเรื่องของชาติและคนไทยทุกคนต้องช่วยกันแก้ หยุดได้แล้วที่จะมานั่งคิดแยกส่วนกัน

"ผมถวายงานให้พระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้วผมเลือกไม่ได้หรอก ผมเลือกได้เฉพาะชาติบ้านเมือง อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ใครก็ตามจะปฎิเสธไม่ได้ ถ้าปฎิเสธก็แย่แล้วแสดงว่าไม่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่รู้ว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นแค่ไหนยังไงเพราะผมไม่ใช่เอ็กซ์เพิรซ์ (ผู้เชี่ยวชาญ) ในนั้นก็มีปราโมทย์ เสรี รอยล อยู่ คนเชี่ยวชาญก็ว่ากันไปเราเป็นเพียงส่วนประกอบ แต่ข่าวคราวออกมาอย่างกับผมเป็นพระเอก"สุเมธ เปิดใจ