posttoday

วงเสวนาหนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศเพื่อปลดล็อกท้องถิ่น

26 มิถุนายน 2565

เครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการจัดเสวนาหนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แนะแก้พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินก่อนเลือกตั้งใหญ่

เครือข่ายภาคใต้มูฟออน และเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปลดพันธการ...เดินหน้า เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ” พร้อมเสวนา “ถอดรหัสผู้ว่าฯ กทม. สู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ” โดยมี รศ.ดร.ประพาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. พรรคก้าวไกล นายจตุพร พรมพันธ์ อดีตผู้นำนักศึกษา (พฤษภา 35) และประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายสันติสุข กาญจนประกร ผู้ก่อตั้ง We’re All Voters ร่วมเสวนา ในโอกาสเดียวกันนี้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายปกรณ์ อารีกุล ผู้แทนคณะก้าวหน้า ยังได้เดินทางมาให้กำลังใจ และรับมอบ 5,000 รายชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ปลดล็อคท้องถิ่น” ด้วย ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีการผลักดันมานาน แต่ไม่สำเร็จ หรือเป็นการกระจายอำนาจที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เกิดจากปัญหา 2 ประการ คือ 1.ทัศนคติการปิดกั้นกดทับ และการผลิตซ้ำในทางมายาคติว่ากระจายอำนาจท้องถิ่นมีแต่เรื่องการทุจริต ความรุนแรง ไร้ประสิทธิภาพ ก่อปัญหามากกว่าแก้ปัญหา 2.ปัญหาโครงสร้างรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ไม่สามารถปลดล็อคการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เพราะกำหนดโครงสร้างรัฐของประเทศไทยให้มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ต้องมีส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และระบุให้ผู้ว่าฯ ต้องสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นหากไม่ปลดล็อคตรงนี้ ถึงจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็เกรงว่าจะเสมือนการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ยกระดับขึ้นมา สุดท้ายยังเป็นแขนขา มือไม้ของกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นจุดตั้งต้น ต้องปลดล็อคตรงนี้ก่อนไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งนี้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นตัวสะท้อนการเมืองภาพใหญ่ ทั้งความชอบธรรมในการเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด รวมถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชนด้วย

วงเสวนาหนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศเพื่อปลดล็อกท้องถิ่น

“ทั้ง 2 อย่างนี้ คือหัวใจหลักที่ทำให้การกระจายอำนาจไม่สามารถออกจากกรงขังได้ ขังสิทธิชุมชนท้องถิ่น ขังโอกาสท้องถิ่น ขังกระบวนการพัฒนาของท้องถิ่น ขังความเชื่อมต่อชุมชนกับรัฐและขังประชาชนเอาไว้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นความหวังของประชาชน” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า การผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ มีมากว่า 30-40 ปี แล้ว แต่ไม่สำเร็จโดยส่วนกลางอ้างว่าถ้าประชาชนเลือกจะได้คนไม่ดี เสี่ยงแบ่งแยกดินแดน อำนาจตกในมือผู้มีอิทธิพล แต่แท้จริงเป็นการหวงอำนาจ ทั้งๆ ที่ควรจัดการให้การเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เคารพความเห็นประชาชน ทั้งนี้กรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนให้เห็นว่า ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงจริง และรวดเร็ว เพราะทำงานไม่มีวันหยุด ต่างจากคนที่มาจากการแต่งตั้งตามระบบราชการ แม้กระทั่งตัวนายกรัฐมนตรีเองที่ทำงานตามเวลา มีวันหยุด ในขณะที่ปัญหาของประชาชนไม่มีวันหยุด การพัฒนาต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นขอให้ประชาชนลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นการเอาอำนาจมาจากกระทรวงมหาดไทย ต้องมีแรงต้านมากแน่นอน แต่หากประชาชนยืนหยัดสู้จริงๆ ฝ่ายการเมืองเอาจริง ทุกภาคส่วนเอาจริง เชื่อว่าสามารถทำได้ ประชาชน 76 จังหวัดควรมีความเท่าเทียมคนกทม. คนกทม.เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ทำไมคนต่างจังหวัดจะเลือกตั้งผู้ว่าไม่ได้ เพราะเราต่างก็กินข้าวเหมือนกัน

“อย่ากลัวว่าถ้ามาจากการเลือกตั้งแล้วจะได้คนไม่ดี เพราะคนที่มาจากการแต่งตั้งก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าจะเป็นคนดีเสมอไป ขณะที่ผู้ปกครองที่มาจากประชาชนจะแคร์ความรู้สึกประชาชน แตกต่างจากการแต่งตั้ง ซึ่งไม่ต้องแคร์ใครเลย แคร์แค่เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาที่ให้คุณให้โทษเท่านั้น ท้ายที่สุดไม่ได้แคร์ประชาชน กรณีนายชัชชาติก็เป็นคำตอบแล้วว่าถ้าผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แตกต่างจากคนที่มาจากการแต่งตั้งอย่างไร ซึ่งพิสูจน์โดยตัวมันเอง และใช้เวลาไม่นาน” นายจตุพร กล่าว

ด้าน นายวิโรจน์ กล่าวว่า ควรให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นสิทธิที่เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดยุทธศาสตร์เมืองร่วมกัน มองและจัดลำดับปัญหาร่วมกัน มีส่วนร่วมเลือกผู้มาแก้ปัญหาร่วมกัน มีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของคนที่เลือกมาร่วมกันด้วย หากสอบไม่ผ่าน อีก 4 ปีก็มาว่ากันใหม่ กำหนดอนาคตของเมืองอีกครั้ง นี่คือการขับเคลื่อนเมืองโดยไม่ต้องมานั่งทำเอกสารจำนวนมากแบบที่มีการทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเก่า ไม่ได้ผล ทั้งนี้ กรณีที่มองว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งถูกข้าราชการประจำกดทับนั้นจริงๆ ไม่ใช่ อย่างปรากฏการณ์นายชัชชาติ เข้ามาไม่มีใครกดทับ เพราะมีประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ และตนอยากแนะนำให้นายชัชชาติเร่งแก้ปัญหาที่แหลมคมอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโรงขยะอ่อนนุช เพราะประชาชนพร้อมเดินเคียงข้าง

สำหรับ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ จะได้ยินการปล่อยวาทะกรรมด้อยค่านักการเมืองว่า นักการเมืองเลว เพื่อให้ประชาชนที่เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กอ่อน และลังเลในตัวคนที่เลือก แล้วทำให้อำนาจคนที่มาจากการแต่งตั้งทรงอิทธิพลกว่า อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้มองว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นคนไม่ดี เพราะคนดีๆ มี แต่ถึงมีคนดีประชาชนยังไม่มีสิทธิรั้งเอาไว้ หากผู้ว่าฯ ที่ดีแต่ไม่ตอบสนองอำนาจ ก็ถูกสั่งย้ายได้โดยที่ประชาชนไม่สามารถช่วยเป็นกำแพงให้ได้ จึงมีไม่น้อยที่ผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งเลือกตอบสนองต่ออำนาจ แล้วเมื่อทำอะไรให้ก็จะถือเป็นบุญคุณ ต่างจากผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง การทำอะไรต่างๆ ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ดังนั้นวันนี้หากมีแต่นักการเมืองขาดข้าราชการ ก็ทำงานไม่ได้ มีแต่ข้าราชการ ขาดนักการเมืองการบริหารก็ขาดทะเยอทะยานขาดการโอบรัดปัญหาประชาชน หมดเวลาทะเลาะกันแล้วมาร่วมกันทำงานดีกว่า

ด้าน นายสมโชติ มีชนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายใต้มูฟออน กล่าวว่า เครือข่ายอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ให้ดีกว่าเดิมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จึงหวังว่ากิจกรรมวันนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงความสำคัญในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้กับประชาชน 2.เพื่อถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศและการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ3.กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันทุกจังหวัด ทั้งนี้เชื่อว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เป็นการเพิ่มอำนาจให้การปกครองท้องถิ่น จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการพัฒนาประเทศในท้ายที่สุด