posttoday

“วิชา” เตือน จนท.รัฐ ใช้กฎหมาย ต้องระวัง ย้ำ “กัญชา” หลุดจาก “ยาเสพติด” แล้ว

14 มกราคม 2565

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เตือน เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้กฎหมาย ต้องระวัง ย้ำ “กัญชา” หลุดจาก “ยาเสพติด” แล้ว

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.65 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา กล่าวถึงกรณี ความขัดแย้งระหว่างฝ่าย พรรคภูมิใจไทย กับทางเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีจับผู้ปลูกกัญชา ภายหลังประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ว่า กฎหมายใดก็ตามที่ออกมา ไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกว่า ออกมาแล้ว บังคับใช้ไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ ใช้แล้วเกิดปัญหา จนทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมาย มันถูกทำลายไป ขอย้อนกลับไปที่การเกิดขึ้นของประมวลกฎหมายยาเสพติด มาจากแรงผลักดันของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมท่านหนึ่ง  พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา  ซึ่งตอนนี้ ท่านไปเป็นองคมนตรีแล้ว กฎหมายฉบับนั้นมีคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา แล้วมาที่ชั้น สนช. แล้ว มันก็ตกไป เพราะประเด็นของกัญชา สนช.เลยปรับมาเป็นให้กัญชานำมาใช้ได้ แต่ในทางการแพทย์ การวิจัย การศึกษา

วันนี้ กัญชา เป็นยาเสพติดไหม ให้ไปดูประมวลกฎหมายยาเสพติด ออกมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 และใช้ในอีก 1 เดือนต่อมา คำตอบคือ กัญชา มันหลุดไปแล้ว และมีการเขียนไว้ในมาตรา 8 ของประมวลกฎหมายฉบับนี้ ว่า บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ ตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิม ให้ใช้อยู่ แต่ต้องไม่ขัด หรือแย้งกับประมวลฯ ฉบับปัจจุบัน ทีนี้ ก็ต้องไปดูว่า ที่ตำรวจไปจับ มันขัดไหม เวลาเทียบ ต้องเทียบให้ชัด กับประกาศที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกมา เขาบอกว่า สิ่งที่ไม่เป็นยาเสพติดมีอะไรบ้าง

"ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวา 64 ที่มีข้อถกเถียงกันว่ากัญชามันหลุดไปจากประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือเปล่า หลุดไปแล้ว จริงๆ ก็ไม่มีที่เขียนไว้ในประเภทของยาเสพติดจริง ๆ คุณศุภชัย (ใจสมุทร) หนะ พูดถูกแล้ว"ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา กล่าว

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตระบุด้วยว่า นอกจากนี้แล้วยังมีมาตรา 9 ในประมวลกฎหมายยาเสพติด กำหนดให้การลงโทษผู้กระทำผิด หรือขออนุญาต หรืออนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ในกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ  ดังนั้น การลงโทษ จะเกิดได้ ต่อเมื่อมีการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้น  ท่านต้องอ่านกันให้ถี่ถ้วน นี่เป็นเรื่องทางเทคนิค ตามหลักการคือ ความผิดบางอย่าง มันผิด เพราะกฎหมายบอกให้ผิด อันนี้ ต้องใช้กันอย่างระมัดระวัง แต่บางอย่าง มันเป็นความผิดโดยธรรมชาติ อันนี้จะพิจารณาลงโทษได้ง่ายกว่า เช่นไปขโมยของเขา แบบนี้ คือ ผิดโดยธรรมชาติ จะบอกว่า ว่าไม่รู้ไม่ได้ แต่บางเรื่อง มันไม่ผิด ที่ประชาชนจะไม่รู้ เพราะ มันมีความซับซ้อน มีรายละเอียด อย่าเหมารวมว่าชาวบ้านรู้หมด เพราะท่านๆเอง ก็อาจจะไม่รู้

“ผมขอเตือนเลยนะ กระบวนการบังคับใช้ มันต้องดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ให้ไปดูรายละเอียดให้ลึกๆ ต้องไปดูเทคนิคการใช้ ต้องไปดู พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด แต่ผมมีจุดสำคัญหลักว่า  กฎหมายอาญา วางไว้ตั้งแต่ กฎหมายโรมัน และใช้กันอยู่ จำไว้นะ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีกฎหมาย ไม่มีโทษ และอยู่ในมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น อย่าไปกล่าวหาใครทำผิด  แต่ให้พิจารณาให้รอบคอบ ถี่ถ้วน ให้ดูว่าผิดอย่างไร และจะต้องลงโทษอย่างไร ขอให้ระมัดระวัง”