posttoday

"สว.วันชัย"ชี้การมองคนทำรัฐประหารเลว เป็นการมองโลกแค่ด้านเดียว

16 พฤศจิกายน 2564

"สว.วันชัย"ติงคนเสนอร่างรัฐธรรมนูญเป็นพวกเกลียด โกรธ กลัว เกินลงกา ชี้การมองคนทำรัฐประหารเลวเป็นการมองโลกแค่ด้านเดียว หวั่นเป็นการรวมศูนย์ที่นักการเมือง

วันที่ 16 พ.ย. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ฉบับภาคประชาชน จากนั้นนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า การเสนอร่างฉบับนี้มาจากการ 4 ก. คือเกลียด โกรธ กลัว เกินลงกา เป็นตรรกะที่มาจากการเกลียดส.ว. การโกรธศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ตัดสินไม่เข้าข้างฝ่ายตัวเอง การกลัวโซ่ตรวนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่สิ่งที่เสนอแก้ไขเข้ามาโดยอ้างล้างมรดกคสช. เป็นการกระทำเกินไปหรือไม่ มองคนรัฐประหารเป็นคนเลว ต้องช่วยต่อต้าน คนที่เสนอกฎหมายนี้มองโลกแค่ด้านเดียว มองบริบทการเมืองแบบอุดมการณ์เกินจริง มิใช่บริบทที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มองว่า คนมาจากการเลือกตั้ง ส.ส. อบต. มาจากการประชาชน เป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ แต่ไม่มองให้รอบด้านว่า บริบทสังคมไทยบริสุทธิ์ผุดผ่องหรือไม่ เบื้องหลังคนเลือกตั้งเป็นอย่างไร มาจากเงินทอง อิทธิพล อำนาจหรือไม่ มีคดีฟ้องกันอยู่ในศาล ส่วนการรัฐประหารนั้น ถ้าการเมืองเข้มแข็ง ไม่มีทุจริต ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ คณะทหารที่ไหนจะกล้าปฏิวัติ การเสนอแก้ไขควรเสนอแก้แบบไร้อคติ เอาบริบทการเมืองเป็นตัวตั้ง ข้อเสนอเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ แม้จะเสนอให้ส.ว.ชุดนี้อยู่ต่อไป ตนมิอาจรับร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

ด้านนายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ให้สมญาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปฏิวัติ คือ รวมศูนย์ บั่นทอนควบคุม มีการบั่นทอนความเป็นอิสระของศาล โดยเข้ามาควบคุมงบประมาณ ควบคุมคน ควบคุมการวินิจฉัยควบคุมการถอดถอน มีการห้ามศาลรัฐธรรมนูญขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรบังคับใช้กฎหมายเกินขอบเขตต่อศาล ส่วนการออกแบบถ่วงดุลสภาฯ โดยให้ฝ่ายค้านถ่วงดุลฝ่ายรัฐบาลนั้น ถามว่า เพียงพอหรือไม่ระหว่างการให้ฝ่ายค้านถ่วงดุลรัฐบาลกับการถ่วงดุลของผู้ถืออำนาจอธิปไตยที่อยู่ต่างองค์กร ด้านที่ถูกบั่นทอนเท่ากับสิ่งที่เติมเข้ามาหรือไม่ การให้ฝ่ายค้านตรวจสอบอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ การแก้ปัญหาด้านเดียวจะเป็นการแก้หรือสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ มุ่งแก้แต่รัฐประหาร แต่ไม่ดูสาเหตุการรัฐประหารที่บางครั้งเป็นพฤติกรรมของรัฐบาล หรือนักการเมืองในสภา บางครั้งเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่พรรคการเมือง การแก้ปัญหาด้านเดียว สิ่งที่จะได้มาอาจได้ระบบเผด็จการในสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญให้หนักก่อนจะตัดสินใจโหวต