posttoday

“กมธ.สธ.”ร้อง “อนุทิน” ขอดึงกัญชาพ้นยาเสพติดเปิดช่องใช้การแพทย์-ศก.เต็มที่

09 พฤศจิกายน 2564

“กมธ.สธ.”สภาฯ ทำหนังสือถึง “อนุทิน” ขอดึงกัญชา พ้น ยาเสพติด เปิดช่องใช้ทางการแพทย์ – เศรษฐกิจ เต็มที่

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก เอกสาร ของนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาฯลงวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ถึงข้อเรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องขอให้ทบทวนเนื้อความในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องกับนิยามของกัญชา เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และด้านอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยระบุว่า

ด้วยคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา และติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านสมุนไพรรวมทั้งการยกร่างกฎหมายว่าด้วยพืชที่เป็นยาเสพติด เพื่อประโยชน์ด้านการสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์โดยได้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมและการศึกษาจากรายงานผลการศึกษา วิจัยเพื่อเปรียบเทียบทั้งข้อดีและข้อเสียในการนำกัญชา ซึ่งกฎหมายได้กำหนดเป็นยาเสพติดมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งได้ศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพืชที่เป็นยาเสพติตโดยได้พิจารณากฎหมายของประเทศไทยเปรียบเทียบกับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และ ค.ศ. 1972 ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว

ซึ่งจากการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯ มีความคิดเห็นว่า ข้อห้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพืชกัญชาที่ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดของประเทศไทยนั้นมีบทบัญญัติที่มีนัยมากกว่า ที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายมีลักษณะที่ปิดกั้นไม่ให้มีการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือด้านอื่น ๆ ดังนั้น คณะกรรมาธิการ จึงได้มีมติให้เสนอข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางการพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขหรือจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขใน 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ควรมีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 โดยกำหนดให้กัญชา หมายถึงแค่สารเตตราไฮโตรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ที่อยู่ในช่อดอกของกัญชา ซึ่งมีปริมาณมากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 เท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น

ประเด็นที่สอง ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วและจะมีผลใช้บังคับในระยะเวลาอันใกล้ซึ่งโดยนัยของมาตรา 29 ของร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดได้กำหนดประเภทของยาเสพติดเป็น 5 ประเภท โดยไม่มีการกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทโตประเภทหนึ่งใน 5 ประเภท อย่างแจ้งชัด แต่ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจประกาศกำหนดระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่ายาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งใน 5 ประเภท ดังกล่าวได้ ซึ่งในประเด็นนี้คณะอนุกรรมาธิการมีความเห็นว่าไม่ควรจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยระบุขอกัญชาให้เป็นยาเสพติดให้โทษอีกเพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านการแพทย์หรือด้านอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป