posttoday

ปชป.เตรียมศึกษาจัดทำกม.ลูก รธน.คาด14วันเสร็จ

24 กันยายน 2564

ปชป.ประชุมนัดแรก วางแนวทางแก้กม.ลูก เลือกตั้งส.ส. เทียบบัญญัติไตรยางค์คำนวณปาร์ตี้ลิสต์ คาด14วันยกร่างแล้วเสร็จ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2564 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษารวบรวมข้อมูลในการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าเตรียมการยกร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ว่า วันนี้พรรคมีการประชุมคณะทำงานเป็นนัดแรก โดยเป็นการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขกฎหมายลูกดังกล่าว ประกอบกับจะต้องคอยติดตามข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยว่าจะยกร่างเพื่อเสนอรายละเอียดต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไรบ้าง ซึ่งในทางปฏิบัติ คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับร่างที่ กกต. ยกร่าง จึงต้องถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน ที่ทุกพรรคก็จะต้องติดตาม

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นด้วยหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขครั้งล่าสุด ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเอาไว้ มีแต่เพียงกำหนดว่า การคํานวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ต้องเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์สอดคล้องกันกับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรครวมกันทั้งประเทศ มี 40 ล้านคะแนน ก็จะต้องนำ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ไปหาร ผลลัพธ์ คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จะต้องใช้ 4 แสนคะแนน จากนั้นจึงนำไปเทียบบัญญัติไตรยางค์กับคะแนนของแต่ละพรรคได้ต่อไป เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะใช้เวลาประมาณ 14 วัน ในการยกร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. หลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ นับจากที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ในวาระที่สาม เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เว้นว่างไว้ 15 วัน หรือจะครบกำหนดในวันที่ 26 ก.ย. นี้

นอกจากนี้ นายราเมศ ยังเปิดเผยอีกว่า คณะทำงานจะได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการการเลือกตั้งอีกด้วย พรรคยืนยันให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคในการมีส่วนร่วมและการกำหนดตัวแทนพรรคประจำจังหวัด โดยมีแนวโน้มว่า หนึ่งจังหวัดอาจจะมีการพูดคุยแนวทาง เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้มีเพียงตัวแทนพรรคประจำจังหวัด โดยให้มีอำนาจทุกเขตเลือกตั้ง และอาจใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นสมาชิกพรรคในการส่งตัวแทนผู้สมัคร ส.ส. แทนการหยั่งเสียงเบื้องต้น หรือไพรมารี่โหวต และในส่วนของการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็เช่นกัน ที่ดูจะขัดแย้งกับหลักการของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง แต่ปรากฏว่ากฎหมายได้บังคับให้มีการชำระค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาท หรือตลอดชีพปีละ 2,000 บาท ถือได้ว่าเป็นอุปสรรคกับพี่น้องประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองประเด็นนี้ก็จะมีการหยิบยกมาพูดคุยพิจารณาเช่นกัน