posttoday

นายกฯ ยังไม่ขยายล็อกดาวน์เพิ่ม ยัน มาตรการสธ. ยังใช้ได้อยู่

30 กรกฎาคม 2564

นายกรัฐมนตรี เผย ยังไม่ขยายมาตรการล็อกดาวน์ เผย มาตรการสาธารณสุข ยังใช้ได้อยู่ พร้อมระบุ ความร่วมมือปฏิบัติคือสิ่งสำคัญ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมตอบคำถามสื่อมวลชนที่ส่งผ่านคณะทำงาน โดยเป็นการบันทึกเทปไว้ในช่วงเวลา 17.00 น. วันที่29ก.ค.ที่ผ่านมา โดยพล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถาม กรณี ศบค.ประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. ซึ่งจะครบกำหนด วันที่ 2 ส.ค. แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ลดลง มีแนวทางที่จะขยายเวลาล็อกดาวน์หรือเพิ่มมาตรการที่สูงขึ้นหรือไม่ ว่า ทั้งหมดนี้ต้องปรึกษาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของแพทย์ สาธารณสุข และมีการประชุมร่วมกันของ ศบค. ชุดเล็กทุกวัน ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการประชุมทุกวันเช่นเดียวกัน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอมาตรการมาที่ ศบค. ชุดเล็ก การจะอนุมัติอะไรต่างๆ ต้องนำเข้าที่ประชุมศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งเรื่องทั้งหมดจะต้องมีความรวดเร็ว เนื่องจากมีการประชุมทุกวัน แต่หากมีเรื่องเร่งด่วนตนจะอนุมัติในฐานะที่เป็นผอ.ศบค. อย่างต้องการให้ผ่านศบค. ชุดใหญ่ ให้เข้าใจตรงกันเพื่อให้ทุกกระทรวงทุกหน่วยงานได้มาช่วยกันเพราะหลายมาตรการต้องช่วยกันไม่ใช่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

ส่วนมาตรการที่จะล็อกดาวน์เข้มข้นหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะแพทย์ทีมสาธารณสุข ยังคงเห็นชอบในมาตรการเดิมอยู่ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลงมีปัจจัยจากหลายประการด้วยกัน เราสามารถปฏิบัติการตามมาตรการที่ประกาศไปแล้วทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็อาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือในการปฏิบัติมาตรการดังกล่าว มีการประกาศห้าม ขออย่าทำเลย หากมีการทำอยู่อะไรไม่ได้การแพร่ระบาดจะมากขึ้น การเดินทางการมั่วสุมวันนี้มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด หากมองดูการแพร่ระบาดของเราในวันนี้อาจจะดูน่าตกใจ การเสียชีวิตในแต่ละวัน จึงขอให้สนใจตัวเลขต่างๆ ของเพื่อนบ้านของต่างประเทศบ้าง มีทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น มากบ้างน้อยบ้าง ระดับต้นๆ ก็มีหลายประเทศให้เห็นอยู่ ซึ่งมากกว่าเราหลายเท่า ของเราตั้งใจว่าไม่อยากให้มีคนเสียชีวิต ทำตามมาตรการที่กำหนดครบทุกอย่าง อย่างน้อยก็สามารถป้องกันตัวเองได้ก่อน หรือไม่

คนที่ออกไปนอกบ้านได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมาทำหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุม ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนแล้วแต่ปรากฏว่ามีการติดเชื้อเพราะการฉีดวัคซีนไม่ใช่จะไม่ติดเชื้อ ใกล้ชิดกับคนมีเชื้อก็มีปัญหาแน่นอน และอาจจะนำไปสู่การติดคนที่บ้าน บางครอบครัวมีหลายคนออกไปทำงานนอกบ้านและนำเชื้อมาติดคนในครอบครัว ดังนั้น มาตรการในครอบครัวจึงสำคัญ ซึ่งมาตรการที่ผ่านมา มีทั้งล็อกดาวน์ ไม่ล็อกดาวน์ การประกาศใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินเช่นเดียวกัน ก็ยังระวังไม่อยู่ ไม่มีความร่วมมือกันซึ่งยอมรับว่า ต้องมีปัญหาในระบบ เพราะคนจำนวนมาก แต่ก็เชื่อว่า ระบบที่เรามีอยู่ไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ต้องอาศัยอาสาสมัคร อสม. จิตอาสา

ทั้งนี้ อยากให้มองตัวเลขผู้ที่รักษาหายซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระบบ ส่วนนอกระบบ มีการดูแลกันเองในชุมชนในพื้นที่ มีใช้แพทย์ทางเลือก ใช้สมุนไพร ขอให้ความสำคัญ มาตรการขั้นต้นของตัวเอง และมาตรการตามที่รัฐกำหนด มีผลกระทบอย่างแน่นอน ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ไม่ใช่เขาทำได้ดีจนไม่มีผลกระทบอะไรเลยเป็นไปไม่ได้ วันนี้ต้องพูดถึงเรื่องของระบบที่เราจะต้องปรับเพิ่มเติม คือ มาตรการเดิม ต้องปรับปรุงในทางการรักษา เช่นการใช้ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งตนได้สอบถามทางแพทย์ตรวจครั้งเดียวอาจจะยังไม่แน่นอนและอาจจะต้องตรวจอีกครั้ง หากติดเชื้อจริงๆ ต้องตรวจ RT-PCR เพื่อแก้ไขการแออัด ซึ่งการตรวจ ATK ครั้งแรกยังไม่ 100% แต่สามารถเตือนได้ ว่าอาจมีเชื้อ ซึ่งตนเองจะต้องหยุดกิจกรรมประมาณ 7 วัน และตรวจอีกครั้ง และหากติดเชื้อก็เข้าสู่ระบบการรักษา ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแยกคนออกได้ มีความแออัด คนไม่ติดก็จะติดตอนไปรอตรวจ ทั้งนี้ ที่ช่วงแรกยังไม่ให้ใช้การตรวจ ATK เนื่องจากผลไม่ 100% แต่วันนี้ยอมรับได้ เพราะต้องการให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการตรวจด้วยตนเอง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีความกังวลใจต่อกรณีผู้ป่วยติดเชื้อรอรับการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งอาจไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อหน่วยงานต่างๆได้ เพราะมีคนใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน แต่วันนี้ได้มีการปลดล็อกและเปิดช่องทางการติดต่อให้มากขึ้น และมอบหมายให้กสทช.มาช่วยดูแลเรื่องการให้บริการฟรีในการติดต่อด้านสาธารณสุขแล้ว