posttoday

"ไพบูลย์"ยันแก้รธน.เกินมาตราที่สภารับหลักการได้ เชื่อไม่ต้องส่งศาลตีความ

08 กรกฎาคม 2564

"ไพบูลย์"ยันแก้รธน.เนื้อหาเกินมาตราที่สภาฯรับหลักการได้ เชื่อไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

วันที่ 8 ก.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ… แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 รัฐสภา กล่าวถึงกรอบการพิจารณา ว่า ในสัปดาห์หน้า วันที่ 13 กรกฎาคม ที่ประชุมจะหารือประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตราที่เสนอ

โดยจะเชิญฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภา เข้าชี้แจงรายละเอียดและเจตนารมณ์ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการที่เสนอแก้ไข เว้นแต่แก้ไขมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น จากนั้นในวันที่ 16 กรกฎาคม กมธ.จะกำหนดประเด็นพิจารณา เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อหาสัดส่วน ส.ส. โดยกำหนดให้ได้คะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1% เป็นต้น

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มี กมธ.ให้ความเห็นว่าการปรับแก้ไขมาตราอื่นนอกเหนือจากที่รัฐสภารับหลักการ จะเท่ากับแก้เกินหลักการและส่อว่าจะผิดนั้น เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไข มีสาระคือ การแก้องค์ประกอบของ ส.ส.ที่ให้มี ส.ส.เขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ดังนั้นการแปรญัตติมาตราที่เกี่ยวข้องกันก็เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น และเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่ใช่เหตุที่นำไปสู่การยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์กล่าวด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐ เตรียมเสนอคำแปรญัตติให้ปรับแก้ไขเนื้อหา รวม 7 ประเด็น คือ 1.แก้ไขมาตรา 83 ขอเพิ่มเนื้อหา วิธีการการเลือกตั้ง ส.ส. โดยตรงและลับ ด้วยบัตรเลือกตั้งแบบละ 1 ใบ, 2.แก้ไขมาตรา 85 ว่าด้วยการลงคะแนนเลือก ส.ส.เขต, 3.แก้ไขมาตรา 86 ว่าด้วยวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส., 4.แก้ไขมาตรา 90 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่ง ส.ส.เขต 100 เขต จึงมีสิทธิส่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, 5.แก้ไข มาตรา 91 กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของพรรคการเมืองที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ต้องไม่น้อยกว่า 1% จึงมีสิทธิได้รับการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ, 6.แก้ไขมาตรา 92 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ หากพบการเลือกตั้งในเขตใดที่เสียงโนโหวต มากกว่าคะแนนเลือกตั้ง และ 7.ขอยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94