posttoday

"สนธิญา"ยื่นศาลไต่สวนแกนนำม็อบราษฎร ฐานผิดเงื่อนไขประกันตัว

25 มิถุนายน 2564

นักร้องทำงาน!! "สนธิญา"ยื่นอธิบดีศาลาอาญาไต่สวน เพนกวินและพวกฐานทำผิดเงื่อนไขประกันตัวจัดม็อบหน้าสภาฯ "สิระ"ถูกทำร้าย

วันที่ 25 มิ.ย. นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือถึง นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัย กรณีแกนนำม็อบคณะราษฎร ซึ่งเป็นจำเลยคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ที่อ.287/2564 ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน , นายอานนท์ นำภา ,นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ , นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน , นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ขอนแก่น , น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ไปชุมชุมที่หน้ารัฐสภา บริเวณแยกเกียกกาย ว่า การกระทำดังกล่าวของแกนนำคณะราษฎรทั้ง 6 คน ขัดต่อเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวหรือไม่

นายสนธิญา กล่าวว่า มายื่นเรื่องให้ศาลอาญาวินิจฉัย ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ ที่ได้รับประกันตัวประมาณ 6 คน ที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนเคยมายื่นขอให้ถอนประกันนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ครั้งหนึ่งแล้ว และศาลได้เรียกแม่ของนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน กับอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ไปรับรองนายพริษฐ์ มาไต่สวน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 แล้วศาลมีคำสั่งกำชับให้ผู้ควบคุมดูแลนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ให้อยู่ในข้อบังคับหรือข้อกำหนดของศาลอาญาแต่จากการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะมาใช้บังคับ จะอ้างการชุมนุมตามสิทธิ และเสรีภาพของรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทั้งนี้มีแกนนำม็อบคณะราษฎร จำนวน 3 ราย คือ นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน นายภานุพงศ์ หรือไมค์ และ น.ส.ปนัสยา หรือ รุ้ง ที่เห็นชัดเจนว่าไปเป็นแกนนำในการชุมนุมดังกล่าวที่หน้ารัฐสภา

นายสนธิญา กล่าวต่อว่า ถือว่าการชุมนุมเมื่อวาน (24 มิ.ย.) ไม่เป็นไปตามกระบวนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเป็นการชุมนุมที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งทางม็อบคณะราษฎรที่เคลื่อนไหวตลอดมา เคยบอกว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยและจะชุมนุมอย่างสงบ และยื่นเงื่อนไขในการปฏิรูปประเทศไทย 8 ถึง 10 ข้อ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานโดยเฉพาะกับประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม สิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร หรือ นายสิระ เจนจาคะ ซึ่งออกมารับหนังสือในนามของตัวแทนรัฐบาล ตัวแทนพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล ทำหน้าที่ข้าราชการฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เมื่อมารับหนังสือแล้ว กลับเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย ถูกเทด้วยเศษโฟม เศษอาหาร ลงไปบนศีรษะ มีการทำร้ายร่างกาย และมีการเขวี้ยงแก้วใส่ ขณะที่นายสิระ เจนจาคะ ต้องวิ่งหนีออกจากสถานที่ชุมนุม แต่นายสิระเป็นนักการเมือง คงจะไม่ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดี แต่ส่วนตัวตนเองเสนอว่าให้ดำเนินการกับผู้ที่ร่วมกันทำร้ายร่างกาย หรือกระทำการหน่วงเหนี่ยวหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด กับตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตนเองมายื่นหนังสือให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้วินิจฉัยพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวของทั้ง 6 คน ขัดต่อเงื่อนไขการประกันตัวหรือไม่ เพราะเท่าที่ตนทราบวันพรุ่งนี้ก็จะมีการชุมนุมอีก และมั่นใจว่าแกนนำม็อบคณะราษฎร จากคดีอาญานี้ ก็จะเป็นแกนนำการชุมนุมอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงอยากจะให้ศาลดำเนินการให้มีการยุติการกระทำดังกล่าวด้วย