posttoday

"ภราดร"ย้ำภท.เสนอแก้รธน.เพื่อปชช. ปิดสวิตซ์ส.ว.เลือกนายกฯ

23 มิถุนายน 2564

“ภราดร" สส.อ่างทอง ภูมิใจไทย ย้ำ เสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน เพิ่มหลักประกันรายได้พื้นฐานทั่วหน้า ยัน ควรแก้ไข มาตรา 272 ย้อนถาม สว. เพียงพอหรือยังกับการดำรงตำแหน่งมาหลายปี

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวอภิปรายและเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ว่า จุดยืนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทย คือ ตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด จึงออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนให้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเมื่อคราวก่อน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยเปิดช่องให้มีการตั้งสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน แล้วให้สสร. เขียนกติกา และไปรับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชน ว่าอยากจะเห็นกติกาบ้านเมืองเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ไม่ผ่านสภา จึงเป็นที่มาของร่างรัฐธรรมนูญอีก 3 ฉบับ ที่พรรคภูมิใจไทยได้ร่วมลงชื่อกันกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อที่จะนำมาสู่การพิจารณา โดยแนวคิดทั้ง 3 ร่างของพรรคภูมิใจไทย ยังคงเหมือนเดิม คือ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่หนึ่ง คือ เสนอแก้ไขในหมวดที่ 5 หมวดหน้าที่ของรัฐในมาตรา 55 โดยเพิ่มเป็นมาตรา 55/1 เรียกว่า หลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ( UBI : Universal basic Income ) หลักคิดคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน เชื่อว่าประชาชนทุกคนควรที่จะต้องมีหลักประกันรายได้ต่อปีที่เพียงพอสำหรับพวกเขาในการที่จะดำรงชีวิตในสภาพสังคมต่างๆ

"ใครก็ตามที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คนกลุ่มนั้นเรียกว่าคนจน ปี 2562 เกณฑ์การแบ่งแยกระหว่างคนจน สภาพัฒน์ ได้ขีดเส้นเอาไว้ คนต่างจังหวัดอยู่ที่ 2,700 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน ส่วนคนกรุงฯ อยู่ที่ 3,200 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน เป็นรายได้ขั้นต่ำที่คนพึงจะมี สำหรับดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือเฉลี่ยทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ 36,000 บาทต่อคนต่อปี นี่เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่เชื่อว่ารัฐจะต้องสนับสนุนคนกลุ่มนี้ให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต ส่วนเรื่องหลักประกันสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชน ควรที่จะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ของรัฐเช่นกัน ที่จะต้องทำให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีรายได้ขั้นพื้นฐานให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ถ้าบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า รัฐสามารถที่จะหาเงินเพื่อที่จะมาตอบโจทย์ประชาชนได้ "นายภราดร กล่าว 

นายภราดร กล่าวอีกว่าส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เรื่องการแก้ไขในมาตรา 65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การวางแผนในระยะยาวกับประเทศจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน แต่ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 65 เขียนกว้างเกินไป สามารถที่จะเฉพาะเจาะจงให้ชัดเจนมากกว่านี้ได้ในเรื่องของความเป็นพลวัต และควรที่จะถามประชาชนว่า เขาอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องมาร่วมกันคิด การวางยุทธศาสตร์ชาติควรที่จะต้องวางให้รอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านความมั่นคง แต่ยังมีด้านอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องอาศัยผู้รู้มาร่วมกันคิดในเรื่องนี้

“ ในวันนี้การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราต้องการความอ่อนตัวมากกว่านี้ เพื่อให้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ของประเทศและของโลกในขณะนั้นๆ “นายภราดร กล่าว

นายภราดร กล่าวว่า ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 272 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในตัวบทหลักที่เป็นเรื่องหน้าที่ และอำนาจเรื่องบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ไม่มีให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกหรือกำหนดนายกรัฐมนตรีตลอดกาล หรือตลอดช่วงอายุของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากแต่เพียงกำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาลเท่านั้น ซึ่งบทเฉพาะกาลกำหนดเอาไว้ 5 ปี

“ ที่ผ่านมา 2 ปีกว่า เกือบจะ 3 ปี เพียงพอหรือยังกับการเปลี่ยนถ่าย กับบทเฉพาะกาลที่ว่า ผ่านการเลือกตั้งมา 1 ครั้ง และวุฒิสมาชิกได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 272 ไปแล้ว เพียงพอหรือยัง ถ้าถามตนเองก็ตอบว่าเพียงพอแล้ว ถ้าถามพี่น้องประชาชน ก็คงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งถ้าหากจะย้อนกลับไปถามวุฒิสภา ว่าเพียงพอหรือยัง ก็ไม่แน่ใจกับคำตอบ พรุ่งนี้จะมีคำตอบร่วมกันว่า เวลา 2 ปีกว่าเกือบ 3 ปีเพียงพอหรือยังกับอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 272 ” สส.อ่างทอง ภูมิใจไทย กล่าว

นายภราดร กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 เรื่องการเปลี่ยนและแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง จากบัตร 1 ใบ เป็นบัตร 2 ใบ จาก 350 เขต 150 ปาร์ตี้ลิสต์ จะเปลี่ยนเป็น 400 เขต 100 ปาร์ตี้ลิสต์ หรือจะมีระบบใหม่ บัตร 2 ใบ แต่จัดสรรปันส่วนเหมือนกับบัตร 1 ใบ ที่เราใช้กติกากันอยู่ในขณะนี้ หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่พรรคภูมิใจไทยว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่ในฐานะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงไม่สมควรที่จะเขียนหรือพิจารณากติกาให้ตัวเอง หรือเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมือง นักการเมือง พรรคการเมือง แต่กติกาควรจะถูกเขียนโดยกรรมการ นั่นคือ ประชาชน นี่เป็นหลักคิดของพรรคภูมิใจไทย

“ ขอย้ำว่า รธน. ใดก็ตาม ที่เป็นผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยตรง พวกเราพร้อมที่จะสนับสนุน แต่ร่างรัฐธรรมนูญใดที่แก้ไขแล้วจะถูกครหาว่าพรรคการเมือง หรือนักการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่ขอร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว และการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ โจทย์ของพรรคภูมิใจไทยคือ ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร จึงเป็นที่มาของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่กินได้ เสนอ รธน.หลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า พวกเราขอเป็นไม้ขีดไฟก้านแรก พวกเราขอเป็นไม้ขีดไฟแห่งความหวัง ให้กับพี่น้องประชาชนในการที่จะเข้าถึงหลักประกันรายได้พื้นฐานที่พวกเขาพึงจะมี " นายภราดร กล่าว