posttoday

ไทยสร้างไทยชี้รัฐบาลบริหารโควิดรอบใหม่ล้มเหลว7ด้าน

14 เมษายน 2564

คุมไม่ได้แล้ว! ไทยสร้างไทยชี้ รัฐบาลบริหารโควิดระลอกใหม่ล้มเหลว 7 ด้าน แนะคนไทยมีสติตลอดเวลาตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

นายรณกาจ ชินสำราญ คณะกรรมการคนรุ่นใหม่และกิจกรรม พรรคไทยสร้างไทย โพสเฟสบุ๊ก ระบุ ณ ตอนนี้ ประเทศเราอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของจำนวนผู้ติดเชื้อ ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ ทะลุ 1,000 คน ถ้าหลังสงกรานต์ควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ จะเป็นสัญญาณที่ดี ถ้าคุมไม่ได้ ประเทศน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซากว่าปีที่แล้ว วันนี้ประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ออกมา 1,335 คน เป็นการตรวจแบบยังไม่ได้ปูพรม-เชิงรุก ยังไม่รู้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ไมได้รับการตรวจอีกเยอะขนาดไหน

ที่ผมบอกแบบนี้เพราะว่า :

1. รัฐบริหารสถานการณ์ได้บกพร่อง :

การบริหารสถานการณ์ COVID ของรัฐ ณ ปัจจุบัน ถือว่ามือไม้ปั่นป่วนมาก จากคำกล่าวของนายกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า "อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด" คือรัฐก็คิดไม่ออกจริงๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ท่านถึงพูดแบบนี้ออกมา ยินยอมปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

2. ท่านรัฐมนตรีสาธารณะสุข หายตัวไปครบอาทิตย์แล้ว :

ผู้นำหมายเลข 1 ของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงยังนิ่ง ไม่ปรากฏตัว แทบจะไม่มีการสร้างความมั่นใจหรือประกาศดำเนินการอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมาให้กับประชาชน

3. วัคซีนคุณภาพไม่น่าเชื่อถือ :

วัคซีนที่จัดหามาได้ และถูกพูดถึงตลอดหลายเดือน คุณภาพยังไม่น่าเชื่อถือ ข้อสรุปง่ายๆของวัคซีนนี้ก็คือ ป้องกันอาการโคม่าได้ แต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อเท่าไหร่ ดังนั้นวัคซีนจะช่วยป้องกันการเสียชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อและการชลอตัวของเศรษฐกิจ

4. วัคซีนที่จัดหาได้ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ :

ยังหาได้ไม่ครบตามจำนวนประชากร ยังขาดอีกจำนวนมาก ถึงแม้จะจัดหามาเพิ่มได้ แต่กว่าเราจะได้รับวัคซีนก็น่าจะช่วงปลายปี จากการที่มีหลายหน่วยงานวิเคราะห์ไว้

5. ได้วัคซีนมาแล้ว ยังฉีดได้ช้า :

จำนวนที่หามาได้แล้ว ยังใช้ความสามารถในการฉีดให้ประชาชนได้ไม่รวดเร็วพอ ตัวเลขตั้งแต่ได้รับวัคซีนมาจนถึงปัจจุบัน ฉีดแล้ว 1 เข็มไปประมาณ 500,000 กว่าคน และฉีดครบ 2 เข็มแล้วประมาณ 70,000 กว่าคน

คิดเป็นประมาณไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถ้าฉีดด้วยความเร็วเท่านี้ น่าจะใช้เวลาหลายปีมากกว่าจะครบ

6. ไทยยังมีประสบการณ์น้อยมาก ในการรับมือการติดระลอกใหญ่ :

ไทยพึ่งเริ่มติดระลอกใหญ่ครั้งนี้ครั้งแรก ต่างจากต่างชาติที่มีประสบการณ์มาเป็นปีแล้วในการบริหารผู้ติดเชื้อปริมาณมาก ถ้าจำนวนเราเพิ่มสูงขึ้นมากและต่อเนื่อง ความวุ่นวายในประเทศจะเยอะกว่าต่างประเทศมากๆ

เพราะเราบริหารไม่ทีประสิทธิภาพ (ไม่สร้างความมั่นใจให้ประชาชน, ไม่ตรวจเชิงรุก, เตียงและโรงพยาบาลไม่พอ, หลายโรงพยาบาลยังต้องรับบริจาคจากภาคประชาชนอยู่, บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ, ฯลฯ)

7. เงินคงคลังไม่เพียงต่อการรับมือ และกระตุ้นเศรษฐกิจ :

ตั้งแต่ COVID มานี้ รัฐกู้เงินไปแล้ว หลักล้านล้านบาท ตามที่เราได้อ่านข่าวกันตลอดว่า เงินที่ใช้สำหรับ COVID ใช้ไม่ตรงจุดบ้าง / มีการพูดถึงเรื่องคอรัปชั่นกับงบก้อนนี้เยอะ / วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหลายแสนล้านปล่อยออกมาน้อยมากและยังมีเงินเหลือยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รวมไปถึงการหาเงินให้กับประเทศได้ไม่เข้าเป้า ทั้งจากการเก็บภาษีได้น้อย และความสามารถในการหาเงินเข้าประเทศ

จากหลายข้อที่กล่าวมานี้ เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง และเงินที่คนใช้จ่ายในระบบจะถูกเก็บไว้ใช้สำรองไม่เอาออกมาใช้จ่ายกันเท่าที่ควร (ใครที่มีเงินอยู่ก็ไม่กล้าใช้)

สำหรับพวกเราเอง ไม่ว่าจะคนทำงาน หรือผู้ประกอบการ คนทำมาค้าขายทั้งหลายก็ต้องพยายามประคองสถานการณ์กันต่อไปครับ เตรียมแผนรองรับสถานการณ์กันให้รัดกุมตลอดเวลา เช่น

- ถ้าจำนวนติดเยอะขึ้นเรื่อยๆ จะทำยังไง ?

- ถ้าเริ่มควบคุมได้ จะทำอะไรต่อ หรือจะเรียกลูกค้าให้กลับมาหาเราได้เร็วยังไง ?

- บริหารเงินสดของเรายังไงให้เพียงพอ หาแหล่งเงินทุนสำรองทางไหนได้บ้าง ?

- เตรียมการสื่อสารกับลูกค้าและทีมงานของเราไว้ตลอดเวลา และรวดเร็ว ทันการณ์

และที่สำคัญ อย่าลืมเตรียมสติไว้กับเราตลอดเวลาครับ ณ เวลานี้ "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน"