posttoday

"ตรีนุช"มอบ12นโยบาย7วาระเร่งด่วนให้ผู้บริหารศธ.เร่งขับเคลื่อน

29 มีนาคม 2564

รมว.ศึกษาธิการคนใหม่เข้ากระทรวงมอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงไปปฎิบัติ ชูวาระเร่งด่วน 7 ด้าน และ 12 นโยบายที่ต้องขับเคลื่อนในภาวะการระบาดของโควิด

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูง ศธ.ว่า ศธ.เป็นพื้นที่ของทุกคน ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การมีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา โดยการทำให้ผู้เรียนมีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากลสอดคล้องกับพลวัตในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับสำนึกและความเข้าใจในความเป็นไทย ผ่านการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงการเรียนรู้ (Learning)

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561 - 2580) ประเด็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ จึงนำเสนอนโยบายการจัดการศึกษาทั้ง 12 ข้อ ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 212.การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล 3.การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน

4.การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน 5.การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ6.การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน 7.การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ 8.การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย

9.การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 10.การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา 11.การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และ 12.การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น ได้มีนโยบายเร่งด่วน(Quick Win) อีก 7 ด้านประกอบด้วย 1.เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน 2.หลักสูตรฐานสมรรถนะ 3.Big Data 4.ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) 5.พัฒนาทักษะทางอาชีพ 6.การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพและมาตรฐาน และ 7.การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งทั้ง 7 ด้านเพื่อตอบสนองในสถานการณ์ โควิด-19 ที่มีการเรียนการสอนออนไลน์มากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเตรียมผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ปัญหาความปลอดภัยของสถานศึกษาและปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น