posttoday

ชวน จ่อประกาศเลื่อนลำดับปาร์ตี้ลิสต์ “พุทธิพงษ์-ถาวร”ยังรอวินิจฉัย

25 กุมภาพันธ์ 2564

ประธานสภาฯ จ่อประกาศเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหตุคำพิพากษาคดี กปปส. ด้าน“ถาวร-พุทธิพงษ์” ยังรอวินิจฉัย อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 25 ก.พ. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สภาฯ คัดคำสั่งศาลอาญาชั้นต้นในคดีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่เกี่ยวพันถึงสถานภาพของ ส.ส. 5 คน คือ 1. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 2. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 3. นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 4. นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และ 5. นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ แล้ว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105(2) ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง หากไม่มีรายชื่อเหลืออยู่ในบัญชีที่จะเลื่อนขึ้นมาแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่”

ในส่วนของ นายณัฏฐพล และนายอิสสระ ซึ่งถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ได้พ้นสภาพความเป็น ส.ส. ตามบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยชี้ไว้ในกรณีของ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แม้คดีจะไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่ในกรณีของ นายพุทธิพงษ์ ยังมีข้อถกเถียงทางกฎหมายว่าพ้นจากความเป็น ส.ส.หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ถูกคุมขังระหว่างรอการประกันตัว ซึ่งศาลอาญายังไม่มีคำสั่งว่าไม่ให้ประกันตัว ส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้ออกคำสั่ง กรณีนี้จึงแตกต่างจากครั้งที่ นายนวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิต จากคดีจ้างวานฆ่าอดีตปลัด อบจ.ขอนแก่น และไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ถูกคุมขังโดยหมายศาล และศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าความเป็น ส.ส.ของนายนวัธ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) ที่ระบุว่า “สมาชิกภาพสิ้นสุดลงกรณีที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล โดยไม่มีคำว่า ถึงที่สุด สมาชิกภาพของนายนวัธ จึงสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน จึงเชื่อว่าน่าจะมีการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ส่วนกรณี ส.ส.เขต รัฐธรรมนูญมาตรา 105 (1) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กกต. ส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยในส่วนของ นายชุมพล ไม่มีปัญหาความสับสนเรื่องข้อกฎหมาย เพราะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แต่กรณีของนายถาวร ที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ จึงเหมือนกับ นายพุทธิพงษ์ ซึ่ง กกต. มีอำนาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เหมือนที่เคยยื่นให้วินิจฉัยมาแล้วกรณีของนายนวัธ