posttoday

"ณัฐวุฒิ"ร้องศาลอาญาขอสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์คดีก่อการร้าย

30 พฤศจิกายน 2563

"ณัฐวุฒิ" ร้องผู้บริหารศาลอาญา ขอสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์คดีก่อการร้ายปี 53 หลังศาลชั้นต้นยกฟ้อง ต่อมาอัยการอุทธรณ์ แต่จำเลยไม่ได้รับหมายส่งสำเนาอุทธรณ์ ระหว่างถูกคุมขัง

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 63 นายธำรงค์ หลักแดน ทนายความของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เบิกตัวนายณัฐวุฒิจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อสืบพยานในฐานะจำเลยคดีจัดการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2552

ทั้งนี้ก่อนเริ่มสืบพยานนายณัฐวุฒิลุกขึ้นแถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า นอกจากคดีนี้ ตนยังเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายจากการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่แยกราชประสงค์ โดยจำเลยทั้งหมด 24 คน ต่อสู้คดีจนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาระหว่างที่อัยการโจทก์จะอุทธรณ์ ตนต้องคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอื่นให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวพนักงานอัยการยื่นสำนวนอุทธรณ์ต่อศาล

ระหว่างที่จำเลยอื่น ๆ ทยอยได้รับสำเนาอุทธรณ์จากศาลเพื่อยื่นคำแก้อุทธรณ์ตามกระบวนการ แต่นายณัฐวุฒิยังไม่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ จึงมอบหมายให้ตนตรวจสอบ พบว่า เจ้าหน้าที่ศาลนำหมายสำเนาอุทธรณ์ไปส่งโดยวิธีปิดหมายที่เรือนจำ ฯ แต่ทางเรือนจำ ฯ ยืนยันว่าไม่ได้รับหมาย จึงนำหนังสือราชการของทางเรือนจำประกอบคำร้องยื่นต่อศาล เพื่อขอให้ศาลไต่สวน และอนุญาตให้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของนายณัฐวุฒิ

แต่ล่าสุดได้รับทราบเมื่อเช้าวันที่ 27 พ.ย. ว่าศาลมีคำวินิจฉัยยกคำร้อง โดยระบุเหตุผลว่า เจ้าหน้าที่ได้ปิดหมายที่เรือนจำโดยชอบแล้ว ซึ่งหมายความว่านายณัฐวุฒิจะถูกตัดสิทธิ์ในการยื่นคำแก้อุทธรณ์ในคดีนี้ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง เมื่อทางเรือนจำไม่ได้รับหมาย จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่นายณัฐวุฒิจะได้รับ และเมื่อจำเลยไม่ได้รับหมายด้วยเหตุดังกล่าว จะให้จำเลยต้องทำอย่างไร เพราะไม่มีใครนำหมายสำเนาอุทธรณ์ไปให้กรณีนี้จำเลยอยู่ในเรือนจำ จะเดินออกมารับเองคงเป็นไปไม่ได้ การถูกตัดสิทธิ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์จึงไปสิ่งที่จำเลยยอมรับไม่ได้

จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ศาลปิดหมายที่เรือนจำในวันที่ 19 ก.ค. 63 ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ ทางเรือนจำจึงบอกว่าไม่ได้รับ กรณีแบบนี้ในหลายคดี ศาลใช้วิธีเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำมารับหมาย ซึ่งแตกต่างกันมากกับคดีของนายณัฐวุฒิ แม้จะมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง แต่นายณัฐวุฒิเห็นว่า ถ้าไม่แถลงต่อศาลเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการให้ชัดเจน จะไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า ผู้ต้องขังนี้เป็นคนเล็กคนน้อยไม่มีปากเสียงจะไม่เจอแนวปฏิบัติทำให้เสียสิทธิ์แบบเดียวกับตน

“คุณณัฐวุฒิร้องขอต่อศาลให้นำเรื่องนี้เรียนเสนอผู้บริหารของศาลอาญารัชดาให้รับทราบ เพื่อพิจารณาให้ตนได้มีสิทธิในการยื่นคำแก้อุทธรณ์ ด้วยวิธีดำเนินการและการใช้ดุลพินิจที่เกิดขึ้นไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม แทนที่จะให้จำเลยดิ้นรนอุทธรณ์คำสั่งศาลพิจารณาแนวปฏิบัติให้รวบรัดชัดเจนก่อนดีหรือไม่ นอกจากนี้ยังปรารภกับผมว่าคดีนี้อัตราโทษสูงสุดประหารชีวิต ถ้าจะเอาแบบนี้ก็อย่าแค่ตัดสิทธิ์ แต่ตัดสินตนไปเลยดีกว่า” นายธำรงค์กล่าว