posttoday

เพื่อไทย แนะ 2 แนวทางแก้ราคาข้าวตกต่ำ

27 พฤศจิกายน 2563

“ศูนย์นโยบายเพื่อไทย” แนะกระตุ้นอุปสงค์ข้าวในประเทศ ปรับอุปทานให้ตรงความต้องการโลก เพื่อแก้ราคาข้าวตกต่ำ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 63 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ นายยุ้ง จักรไพศาล กรรมการศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทย แถลงคำแถลงคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย โดยศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย ดังนี้

สถานการณ์ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะข้าวในปัจจุบันได้สร้างความทุกข์ยากแก่พี่น้องเกษตรกรอย่างแสนสาหัส โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร เกิดการกักตุนอาหาร (Panic Buying) โดยเฉพาะข้าว นำไปสู่การเคลื่อนย้ายของความต้องการข้าวจากช่วงปลายปีมาอยู่ช่วงกลางปี อุปสงค์เดิมช่วงปลายปีจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่อุปทานส่วนเกินเข้าสู่ตลาดในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมาก จึงเกิดแรงกดดันด้านราคาและปริมาณการส่งออกสุทธิ

ข้าวไทยยังมีราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง (ข้าวขาวเวียดนามถูกกว่า 30-80 USD/ตัน) ปัจจัยหลักเกิดจากผลิตภาพหรือผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำของข้าวไทย ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า อีกทั้งข้าวไทยยังไม่ตรงกับความต้องการตลาดโลก ข้าวขาวพื้นแข็งซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 45-50 เป็นตลาดระดับล่าง มีการแข่งขันสูง ผู้เล่นในตลาดมาก ราคาแปรผันสูง และพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดล่างเปลี่ยนไป หันไปบริโภคข้าวที่มีโภชนาการและคุณภาพมากขึ้น แต่ราคาที่ไม่สูงนัก จึงนำมาสู่ความนิยมข้าวขาวพื้นนุ่ม ซึ่งเป็นจุดแข็งของเวียดนาม และเป็นจุดอ่อนของไทย ไทยยังละเลยการลงทุนเพื่อการพัฒนาพันธุ์ข้าว ในขณะที่เวียดนามและกัมพูชาที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขาวพื้นนุ่มอย่างต่อเนื่อง กอปรกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ข้าวไทยจึงเสียความสามารถในการแข่งขัน ปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้นทำให้อุปทานข้าวไทย ไม่สอดคล้องและไม่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้ราคาข้าวไทยตกต่ำ และมีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงเรื่อยๆ

ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ในระยะสั้นการสนับสนุนด้านราคาฝั่งอุปทานผ่านมาตรการต่างๆยังมีความจำเป็น และต้องกระทำโดยรวดเร็วในราคาที่เป็นธรรม เพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร แต่ทั้งนี้เห็นว่ามาตรการประกันราคาข้าว ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของสินค้าการเกษตร เพราะไม่ได้ช่วยเรื่องการพัฒนาผลิตภาพและโครงสร้างการผลิตแต่อย่างใด ทั้งนี้ในระยะกลาง-ยาวนั้น ราคาข้าว เหมือนราคาสินค้าทุกชนิดที่ถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขที่ต้นตออุปสงค์และอุปทาน ซึ่งศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเห็นว่าสามารถทำได้ใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1) การเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่สำหรับตลาดในประเทศ (สัดส่วนประมาณ 53%) นั้นสามารถกระทำได้ ปัจจุบันคนไทยบริโภคข้าวอยู่ที่ 83 กิโลกรัมต่อปีต่อคน ลดลงจาก 90-100 กิโลกรัมต่อปีต่อคนในปีก่อนหน้า กอปรกับสถานการณ์โควิด-19 และการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ความต้องบริโภคข้าวในประเทศลดลงมาก การกระตุ้นการบริโภคข้าวไทยภายในประเทศ สามารถทำได้ผ่านมาตรการสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการทางภาษี และมาตรการทางการคลังฝั่งอุปสงค์ โดยสนับสนุนด้านราคาฝั่งผู้บริโภค สร้างอุปสงค์ส่วนเพิ่มขึ้นมารองรับอุปทานส่วนเกินที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดรายจ่ายการบริโภคของประชาชน และยังไม่เป็นการสร้างอุปทานเทียมที่เกิดจากการสนับสนุนด้านราคาฝั่งอุปทานอีกด้วย

2) การปรับอุปทานให้สอดคล้องอุปสงค์ที่มีอยู่ ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเห็นว่าความต้องการข้าวในตลาดโลกนั้นยังคงดำรงอยู่ไม่ได้หายไป เพียงแต่ได้เปลี่ยนรูปแบบไป และไทยปรับตัวไม่ทัน เพราะมีโครงสร้างอุปทานข้าวไม่ตรงกับอุปสงค์โลก ข้าวประเภทที่ตลาดโลกต้องการไทยยังผลิตไม่ได้เพียงพอ และในส่วนที่ข้าวประเภทที่มีการแข่งขันสูง ประเทศไทยก็เสียเปรียบด้านราคาจากผลิตภาพที่ต่ำ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยเฉพาะข้าวขาวพื้นนุ่มที่มีแนวโน้มสดใสในตลอดโลก และยังต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้กับข้าวขาวพื้นแข็งและข้าวหอมมะลิ โดยไม่เพิ่มพื้นที่การผลิต รวมถึงเห็นว่าควรดำเนินมาตรการในลักษณะกองทุนเปลี่ยนหน้าดินที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตให้ตรงกับความต้องการตลาดโลก รวมถึงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เกษตรแม่นยำ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างเสถียรภาพของปัจจัยการผลิตข้าว และปรับนโยบายการเงินที่มุ่งชิงความได้เปรียบด้านราคาผ่านอัตราแลกเปลี่ยน