posttoday

ยุติความขัดแย้งบ้านเมือง รัฐสภาต้องโหวตรับร่างรธน.ฉบับประชาชน

18 พฤศจิกายน 2563

เลขา ครป.วอนสมาชิกรัฐสภาโหวตรับร่างรธน.ฉบับประชาชน จี้รัฐบาลตรวจสอบการใช้กำลังของตำรวจฝ่าแนวกั้นบุกหน้ารัฐสภาสมควรแก่เหตุหรือไม่

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีรายะเอียดดังนี้

ผมเห็นว่าทางออกจากวิกฤตปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง รัฐสภาควรใช้โอกาสนี้ในการถกแถลงหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์และรัฐประหารเกิดขึ้นหากรัฐสภาถึงทางตันแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้เพราะสมาชิกต่างเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว จนประชาชนและพรรคการเมืองต้องพากันลงไปต่อสู้บนท้องถนนกันหมด

การพัฒนาประชาธิปไตยเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องดำเนินไปพร้อมกับการปฏิรูปการเมืองไปเรื่อยๆ พวกท่านจะยืนอยู่กับที่โดยกอดอำนาจเอาไว้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้ วันนี้ผมจึงคาดหวังและขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภาได้โปรดรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติในวาระแรกไปก่อน หลังจากนั้นค่อยพิจารณาแปรญัตติเนื้อหาทั้ง 7 รวมกันในคณะกรรมาธิการชุดเดียวได้ เพื่อกลั่นกรองเนื้อหาที่มีนำที่มีการนำเสนอกันและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง หากสมาชิกรัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่ร่วมกันเสนอมากว่าแสนชื่อ จะเป็นการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงในการเสนอกฎหมายและอาจนำมาสู่วิกฤตความขัดแย้งโดยตรง เนื่องจากประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจทางตรงผ่านกลไกของรัฐธรรมนูญได้ แล้วจะให้ประชาชนทำอย่างไรหากระบบรัฐสภาไม่มีคำตอบ จะให้ประชาชนไปจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อการปฏิวัติเหมือนในอดีตหรือ

นอกจากนี้ ผมขอเรียกร้องให้ ผบ.ตร. และ ผบช.น. อำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิชุมนุมของทั้งสองฝ่ายโดยสันติ อย่าให้เผชิญหน้าและมาปะทะกันเหมือนเมื่อวานนี้ โดยกำหนดจุดการชุมนุมคนละพื้นที่กันอย่างชัดเจนโดยเคร่งครัดและห่างไกลกัน เพราะหากเผชิญหน้ากันจะยากแก่การควบคุมและเป็นการจงใจทำให้เกิดความสูญเสียจนควบคุมสถานการณ์ไม่ได้

เจ้าหน้าที่ตำรวจะต้องบังคับใช้หลักการใช้กำลังและกฎการปะทะในการควบคุมการชุมนุมอย่างเคร่งครัดตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตาม 7 ขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก ไม่ใช่ดำเนินการ ตามสถานการณ์โดยดำเนินการรวม 7 ขั้นตอนในครั้งเดียวจนเกิดความรุนแรงขึ้นอย่างเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้กระสุนยางเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เกิดจลาจลและความรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น อย่าลืมว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจะทำให้เจ้าหน้าที่ตกเป็นจำเลยได้ นอกจากนี้ยังไม่มีเหตุผลในการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและโดยการกระสุนยางแต่อย่างใด

ผมจึงขอให้รัฐบาลตรวจสอบการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทบทวนหลักการใช้กำลัง 7 ขั้นตอนด้วย ว่ามีความจําเป็นในการใช้กําลังหรืออาวุธให้พอสมควรแก่เหตุภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเป็นขั้นตอนอย่างไรบ้าง ประชาชนไม่ได้บุกไปเผารัฐสภาประท้วง เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถลัดขั้นตอนโดยใช้กระสุนยางยิงสกัดจนบาดเจ็บรุนแรงได้ และเขาห้ามมิให้ใช้วิธีการยิงเตือน (warning shots) เนื่องจากจะสร้างความสับสนจนเกิดมิคสัญญีได้ และเจ้าหน้าที่จะต้องไม่พกพาอาวุธปืนเข้าไปทำงานด้วยโดยเด็ดขาด ขอให้รัฐบาลสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เหตุการณ์ปี 2552-2553 และความขัดแย้งทางการเมืองช่วงเหลือง-แดงในอดีต เพื่อไม่ให้เกิดเเหตุการณ์เกิดซ้ารอยเดิม

ผมเห็นว่าทางออกจากวิกฤตปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง รัฐสภาควรใช้โอกาสนี้ในการถกแถลงหาทางออกร่วมกัน...

โพสต์โดย Metha Matkhao เมื่อ วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2020