posttoday

อธิการบดี ม.ราชภัฏโคราชแนะคู่ขัดแย้งเจราลับหาทางออกประเทศ

12 พฤศจิกายน 2563

อธิการบดีม.ราชภัฏโคราช หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แนะผู้มีบารมีที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองตัวจริงทุกฝ่ายเปิดเวทีลับเจรจาคุยหาทางออกประเทศ

ผศ.ดร.อดิศร เนาวท์นนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ว่า เป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นมาต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย ปัญหาที่แท้จริงคือ มาจากทัศนคติหรือชุดความคิดทางการเมืองของประชาชนที่ไม่ถูกต้องจึงส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนที่ไม่ถูกต้อง เช่นเดียวกัน ชุดความคิดที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวเป็นผลมาจากวัฒนธรรมศักดินา ระบบอุปถัมภ์ ระบบการศึกษาไม่สามารถสร้างเสริมคุณลักษณะความเป็นพลเมืองของประชาชน ส่งผลให้นักการเมืองที่ถูกประชาชนเลือกเข้าไปบริหารประเทศ ไม่ค่อยมีคุณภาพ มีการทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง เมื่อเกิดการทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้นทำให้ประชาชนไม่พอใจออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ทหารก็ต้องออกมาทำปฏิวัติรัฐประหาร เป็นวัฏจักรเช่นนี้มาทุกยุคทุกสมัย และไม่ได้มีการนำเรื่องนี้มาเป็นบทเรียนเพื่อนำพาประเทศชาติหลุดพ้นจากวัฏจักรนี้เลย ซึ่งที่ผ่านมาในบางครั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเป็นตัวกลางในการยุติไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งบานปลาย หรือรุนแรงมากขึ้น

แต่สถานการณ์ความขัดแย้งในขณะนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ถูกฝ่ายการเมืองแบ่งให้อยู่ในกลุ่มความขัดแย้งไปแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก ขณะเดียวกันเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนเดือดร้อน ประกอบการได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มาจากการตั้งกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม มีการจัดตั้ง ส.ว.เพื่อให้มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็ยิ่งช่วยสุมไฟความขัดแย้งรอบนี้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น จนลุกลามไปถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประวัติศาสตร์ของชาติไทย นี่เป็นครั้งแรกที่มีประชาชนออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจจะนำไปสู่การต่อสู้ถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อเหมือนช่วงพฤษภาทมิฬ หรือในยุคตุลาปี 2519 ได้

ซึ่งการเคลื่อนไหวของม็อบเยาวชนปลดแอก ที่ออกมาชุมนุมกลางถนนในครั้งนี้ ก็เลียนแบบพฤติกรรมมาจากม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่ผู้ใหญ่เคยทำให้เห็นมาก่อนแล้ว ไม่ว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ก็เลียนแบบมาจากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น ดังนั้นข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของม็อบเยาวชนปลดแอก หรือม็อบคณะราษฎร 63 คือ 1.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาลลาออก 2.ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าทางออกของประเทศขณะนี้ ระยะยาวต้องปฏิรูประบบการศึกษาไทยใหม่ ให้คนไทยรู้จักวิเคราะห์เป็น รู้จักหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

แต่การแก้ปัญหาระยะสั้นนั้น ต้องวิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งขณะนี้คืออะไร ความขัดแย้งขณะนี้เกิดจากกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ รู้สึกไม่พอใจการได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาล แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ได้มาด้วยกลไกที่ถูกออกแบบมาในรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยว แปลกประหลาดที่สุดในโลก โดยเฉพาะที่ให้มี ส.ว.จำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล คสช.เข้ามามีส่วนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และยังมีการออกแบบรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น จนส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาสู่อำนาจได้

อีกทั้งยังส่งผลให้พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ถูกยุบพรรคด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มขึ้น ประกอบกับเจอเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนได้รับผลกระทบตกงานกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาคือ ข้อเรียกร้องที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออก แล้วทำให้เกิดช่องว่างขึ้น จะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี และหากนายกรัฐมนตรีลาออก มองในยุทธศาสตร์การเมืองก็เหมือนว่ารัฐบาลกำลังแพ้ม็อบ ซึ่งฝั่งรัฐบาลหรือฝั่งที่เชียร์รัฐบาลเองคงจะไม่ยอมแน่

ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการอยู่ต่อก็ต้องอย่ายื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นหน้าที่หลักของรัฐสภา แต่ก็ต้องมีการรับข้อเสนอของทุกฝ่ายด้วย ไม่ว่าจะเป็นของไอลอว์ ของกลุ่มผู้เรียกร้อง และกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งหากจะทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ ก็ต้องมีการเปิดเวทีคุยกันระหว่างผู้ที่มีความขัดแย้งตัวจริงทุกฝ่าย โดยไม่ต้องมาตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งอาจจะเปิดพื้นที่เซฟโซนคุยกันในทางลับไม่ต้องเปิดทางสาธารณะ ของผู้มีอำนาจผู้มีบารมีที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองตัวจริง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายทักษิณ ชินวัตร, นายปิยะบุตร แสงกนกกุล, และผู้ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล เป็นต้น ที่ต้องให้เปิดเวทีเซฟโซนคุยกันในทางลับ เพราะจะได้มีการพูดคุยต่อรองกันได้ในทุกเรื่อง รวมทั้งอาจจะต้องให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกกลั่นแกลงทางการเมืองด้วย เพื่อให้ได้มาซึ่งทางออกของประเทศอย่างแท้จริง

ในส่วนข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มองว่าที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งไม่ได้อยู่ที่สถาบันเพียงแต่สถาบันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมืองเสียมากกว่าจึงไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปโดยหลักธรรมชาติคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อยู่แล้ว สิ่งที่ต้องจัดการเร่งด่วนคือ ธรรมาภิบาลของฝ่ายการเมือง และในระยะยาวคือการสร้างคุณภาพของประชาชนโดยเฉพาะด้านคุณลักษณะความเป็นพลเมือง