posttoday

"สมศักดิ์" ติดภารกิจ มอบปลัด ยธ.รับหนังสือม็อบ แจงอำนาจสั่งจับ-ปล่อยตัวแกนนำอยู่ที่ศาล

31 ตุลาคม 2563

"สมศักดิ์"ไม่อยู่บ้านมอบปลัดยธ.รับหนังสือกลุ่มคนรุ่นใหม่นนท์ฯแทน ย้ำไม่มีผู้ต้องขังถูกทำร้ายในเรือนจำดูปฎิบัติตามตามหลักสิทธิมนุษยชน แจงอำนาจสั่งจับ-ปล่อยตัวแกนนำขึ้นอยู่ที่การพิจารณาของศาล

เมื่อวันที่ 31 ต.ค.63 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี เตรียมมายื่นหนังสือถึงบ้านเพื่อถามถึงการจับกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุมว่า ตนไม่อยู่บ้านเนื่องจากติดภารกิจของกระทรวงยุติธรรม จึงมอบหมายให้ นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม รับหนังสือแทน ส่วนข้อสงสัยก็ได้เตรียมคำอธิบายไว้แล้ว คือการจับตัวหรือการปล่อยตัวแกนนำอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม การพิจารณาคดีต่างๆ รวมถึงการพิจารณาคดีอาญาอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาล ส่วนกระทรวงยุติธรรมต้องปฎิบัติตามคำพิพากษาของศาล โดยขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา การออกหมายจับ นั้นทางตำรวจจะต้องไปขออำนาจศาลดำเนินการ เมื่อผู้ถูกจับอยู่ในการควบคุมของตำรวจแล้ว ตำรวจจะนำตัวมาส่งศาลในเขตอำนาจ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนคำสั่งให้ควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของศาลเช่นกัน โดยบุคคลเหล่านี้จะอยู่ในการควบคุมดูแลของเรือนจำหากไม่ได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้การจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลเหล่านี้หรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลในการพิจารณามีคำสั่ง รมว.ยุติธรรม ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลเหล่านั้นได้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลจะมีหมายปล่อยไปยังเรือนจำที่ควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

"หากบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทางกรมราชทัณฑ์มีมาตรการควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และหากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายบุคคลเหล่านี้ก็ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาตรวจสอบถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยให้ทนายความดำเนินการดังกล่าวแทนได้"รมว.ยุติธรรม กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การถูกจับกุมของแกนนำสืบเนื่องจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี การดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ. และ พ.ร.ก. ดังกล่าวอยู่ในอำนาจของตำรวจ ในเขตพื้นที่ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินคดีกับแกนนำผู้ชุมนุมดำเนินคดีตามคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งมีโทษทางอาญา สิ่งที่กระทรวงฯทำได้ดีที่สุด คือการดูแลผู้ต้องขังไม่ให้ถูกทำร้ายภายในเรือนจำและปฎิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่ผ่านมาดูแลจนถูกอีกฝ่ายโจมตีด้วยซ้ำไม่ว่าจะฝ่ายไหนหรือคดีอะไร ก็พร้อมดูแลอย่างเท่าเทียม