posttoday

‘พระปกเกล้า’ชง"ชวน"เคาะแบบคกก.สมานฉันท์ยันไม่ใช่หน่วยงานที่ไปซื้อเวลา

30 ตุลาคม 2563

‘พระปกเกล้า’ยังไม่เคาะแบบสมานฉันท์เตรียมรวบรวมคกก.ปรองดองในอดีตทั้งไทย-ตปท. เสนอ"ชวน"ตัดสินใจ 2 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวหลังการหารือร่วมกับนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อออกแบบโครงสร้างและรูปแบบวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่า สถาบันพระปกเกล้าในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับของรัฐสภามีหน้าที่หาคำตอบให้กับสภาเท่านั้น ไม่ได้เป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างคิดค้นโครงสร้างที่เหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการปรองดองในอดีตและข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายหาทางออกร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 – 27 ต.ค. ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะรวบรวมเสนอต่อประธานรัฐสภา ในวันที่ 2 พ.ย.นี้

ทั้งนี้จะเสนอให้เห็นว่าโครงสร้างแต่ละโครงสร้างมีข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อห่วงใย แต่ยอมรับว่าเงื่อนไขการตั้งคณะกรรมการปรองดองครั้งนี้ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการไปถึงจุดไหนอย่างไร อะไรที่เป็นเนื้อหาที่ต้องเอามาพูดคุยบ้าง ดังนั้น จึงออกแบบได้เพียง โครงสร้างและวิธีการทำงานในเชิงหลักการวิชาการเท่านั้น

นอกจากนี้จะรวมถึงรวบรวมประสบการณ์จากต่างประเทศมานำเสนอด้วย ส่วนโครงสร้างกรรมการชุดนี้จะมีองค์ประกอบใดบ้าง เป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาต้องกลับไปหารือผู้เกี่ยวข้อง สถาบันพระปกเกล้ามีหน้าที่เสนอทางเลือกต่างๆ ให้เท่านั้น

ขณะเดียวกันจะนำรูปแบบการตั้งคณะกรรมการปรองดองในอดีตมารวบรวมเป็นข้อเสนอว่าที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้แล้วหลายครั้ง เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน หรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งจะทำให้เห็นได้ว่าการทำงานของแต่ละคณะ มีบรรยากาศและสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้เห็นเงื่อนไขในแต่ละด้าน

สำหรับเรื่องที่ นายชวน เสนอให้มีทุกฝ่ายเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการปองดองฯ นั้น เห็นว่าโดยหลักการแล้ว สถานการณ์ตอนนี้สิ่งสำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้รับฟังกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระ โดยขอให้ฟังการชี้แจงของนายชวน ยืนยันว่าการรวบรวมทางออกครั้งนี้ ไม่ได้รวบรวมจากงานของสถาบันพระปกเกล้าเท่านั้น แต่รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่แต่ละรัฐบาลมีมาด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า มีการคาดการณ์ชื่อของประธานฯและคณะกรรมการที่จะมาทำหน้าหน้าที่ด้วยหรือไม่ นายวุฒิสาร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร แต่รูปแบบที่จะเสนอก็จะมีการเสนอข้อห่วงใยว่าแต่ละรูปแบบเป็นอย่างไร รวมทั้งเงื่อนไขสำคัญว่าถ้าจะทำแล้วต้องให้มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขได้จริง

" ข่าวไปไกลมาก ผมยังไม่ได้มีการทาบทามใครเลยและไม่มีหน้าที่ทาบทามด้วย เพราะต้องได้รับการตรวจจากประธานรัฐสภาก่อน อีกทั้งเราก็ไม่รู้ด้วยว่าใครจะเป็นคนตั้ง ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้"นายวุฒิสาร กล่าว

นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า ในส่วนเนื้อหาขอเสนอประธานรัฐสภาให้ได้รับทราบก่อน แต่ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจว่าไม่ได้ช้า อย่างน้อยสถาบันพระปกเกล้ามีความพยายามตั้งใจทำงานตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความรอบคอบ ไม่ใช่หน่วยงานที่ไปซื้อเวลา