posttoday

"จุรินทร์"เสนอตั้ง "คณะกรรมการระดับชาติ" แสวงหาทางออกให้ประเทศ

26 ตุลาคม 2563

หัวหน้าประชาธิปัตย์เสนอตั้ง "คณะกรรมการระดับชาติ" ที่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งในสภาและนอกสภาไม่ต่ำกว่า 7 ฝ่ายเข้าร่วม เพื่อแสวงหาทางออกให้ประเทศ

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 63 นายจุรินทร์ ลักษวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายในการประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา โดยได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาการเมืองเพื่อนำไปสู่ทางออกประเทศว่า ส่วนตัวประสงค์จะเห็นที่ประชุมรัฐสภาได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งอาจจะลงนามโดยประธานรัฐสภา เพราะในอดีตก็เคยมีตัวแบบลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2552

ตัวแบบที่ว่านั้นก็คือในยุคนั้นได้มีการหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และผู้นำทางสังคม กระทั่งนำมาสู่ความเห็นร่วมกันว่าควรจะได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ที่มีชื่อสั้นๆว่าคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรียกย่อๆว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ ก็ได้โดยมอบให้ประธานรัฐสภาได้เป็นเจ้าภาพเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง

คณะกรรมการระดับชาติชุดนี้ขึ้นมาประกอบด้วยทั้งผู้แทนฝ่ายรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่างๆทำหน้าที่ในการแสวงหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมืองให้เกิดขึ้นให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ข้อเสนอของกับผมวันนี้ก็คือให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยถือหลัก 3 ข้อ

หลักข้อ 1 ก็ถือว่าสำหรับองค์ประกอบนั้น อย่างน้อยควรจะประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสภาไม่น้อยกว่า 7 ฝ่าย ประกอบด้วย 1 .ผู้แทนของรัฐบาล 2 .ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐบาล 3 .สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน 4 .วุฒิสมาชิก 5 .ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและ 6. ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม 7.ฝ่ายอื่นๆ เช่นอาจจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรืออื่นใดที่เห็นสมควรเป็นต้น

หลักข้อ 2 ก็คือให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ อะไรที่เห็นพ้องต้องกันได้ก็ให้ผู้ที่มีหน้าที่รับข้อสรุปที่เห็นพ้องนั้นไปดำเนินการในทันทีโดยไม่ชักช้า ซึ่งผมก็คาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันได้

ประการที่ 2 ส่วนอะไรก็ตามที่ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ก็แขวนไว้ก่อน แล้วก็เร่งหารือร่วมกันเพื่อหาจุดร่วมที่อาจจะยังมีประเด็นเพิ่มเติมที่เห็นตรงกันได้ต่อไปโดยเน้นรูปแบบของการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์อะไรที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยได้ก็อาจจะต้องถอยคนละก้าว ถอยคนละสองก้าว อย่างที่ท่านนายกฯได้เสนอความเห็นไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถดำรงเป้าหมายที่จะมุ่งหาคำตอบและทางออกให้กับประเทศด้วยความปรารถนาดีให้กับบ้านเมืองให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

หลักข้อ 3 ก็คือขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ผมหวังว่าที่ประชุมนี้จะได้กรุณารับข้อเสนอของผมไปพิจารณา และไตร่ตรองอย่างรอบคอบจริงจังต่อไป และเพื่อให้ข้อเสนอนี้เป็นจริงได้ก็ขอเรียกร้องให้วิปทั้ง 3 ฝ่ายอีกครั้งหนึ่งครับ เพราะท่านคือตัวแทนของพวกเราที่เป็นสมาชิกรัฐสภาได้หารือกันทั้งวิปรัฐบาลวิปฝ่ายค้านและวิปวุฒิสภา ซึ่งสำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้นผมได้มอบหมายให้วิปของพรรคได้รับความเห็นนี้ไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องมาระดับหนึ่งแล้วนะครับ  

ส่วนผลการหารือหรือรูปแบบของคณะกรรมการจะตั้งชื่อว่าอย่างไรจะแตกต่างไปจากที่ผมเสนอเมื่อสักครู่มากน้อยแค่ไหนอย่างไรผมไม่ติดใจและก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุนเพียงเพื่อให้เราได้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับประเทศ ซึ่งหากทำได้ผมหวังว่าอย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองก็จะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่งแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตามเพราะว่าบางเรื่องบางประเด็นผมทราบดีครับว่าอาจจะต้องใช้เวลา และต้องใช้ความจริงใจต่อกันที่สำคัญต้องตกผลึกร่วมกันจึงจะสามารถนำไปสู่การได้คำตอบที่เห็นพ้องต้องกันได้

และที่สำคัญเราประสงค์ให้มีกรรมการชุดนี้เพื่อให้คนทั้งประเทศได้เห็นแสงสว่างแห่งความหวังรำไรได้ถูกจุดขึ้นมาตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภาของเราเพื่อให้รัฐสภาได้เป็นความหวังและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศเราได้อย่างยั่งยืนต่อไป.