posttoday

นักวิชาการมอง 60 ส.ว.ตั้งกลุ่มมีนัยยะแฝงไม่ต้องการแก้รธน.จริงจัง

07 กันยายน 2563

นักรัฐศาสตร์ มอง 60 ส.ว.ตั้งกลุ่มอิสระเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญมีวาระซ่อนเร้น มีเจตนาแปลงทางการเมืองมากกว่าที่จะต้องการแก้ไขรธน.อย่างจริงจัง

นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยถึงการเปิดตัว 60 ส.ว.สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เชื่อว่าน่าจะเป็นเกมการเมืองมากกว่าการยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง โดยดูจากส.ว. 2 - 3 คนหลักๆ อย่างเช่นนายวันชัย สอนศิริ ก็เป็นคนที่เคยเสนอคำถามพ่วงให้ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 และที่ผ่านมาหลายคนค่อนข้างปิดรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ในด้านหนึ่งอาจจะดูเหมือนว่า ส.ว. ยอมถอย แต่ถ้าดูในรายละเอียดแล้วจะพบว่าหลักๆเขาต้องการให้มีการแก้ไขรายมาตรามากกว่าการยอมให้มี ส.ส.ร. ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของการใช้ภาษาทางการเมือง

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าระยะหลังพรรคฝ่ายค้านเองก็ค่อนข้างจะเสียงแตกระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยกับอีก 6 พรรคฝ่ายค้านต้องการให้มี ส.ส.ร. แล้วจึงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ก่อนแล้วถึงจะไปยกร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. จึงเป็นไปได้ว่า 60 ส.ว. ต้องการจะดึงพรรคก้าวไกลและมวลชนนอกสภาเข้ามาเป็นแนวร่วมมุมกลับ เพื่อต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย และเป็นการเปลี่ยนคู่ขัดแย้งจากผู้ชุมนุมกับรัฐบาล และ ส.ว. ให้กลายเป็นผู้ชุมนุมกับฝ่ายค้านอีกฝั่งหนึ่งที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ตอนนี้ร่างของพรรคเพื่อไทยกับร่างของรัฐบาลมันสอดรับกันคือมีการให้มี ส.ส.ร. ในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต่างกันแค่รายละเอียด แค่เรื่องจำนวน ที่มา และวิธีการเลือก ส.ส.ร. เท่านั้น

ด้าน นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นแผนทางการเมืองที่มีวาระซ่อนเร้น เพราะ 60 ส.ว. ที่ออกมาเคลื่อนไหว ยังเป็น ส.ว. ฝ่ายพลเรือนไม่ใช่มาจากกองทัพ และเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการถูกแต่งตั้งมาตลอด และ ส.ว. ทั้ง 60 นี้ก็อาจจะขอโควต้าส่วนหนึ่งผันตัวเองไปเป็น ส.ส.ร. แบบแต่งตั้ง

"เจตนาเหมือนแสร้งประสงค์ดี ให้เห็นว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เพราะรู้ว่ากระแสสังคมต้องการให้ปลดล็อคคือไม่มี ส.ว. มาจากการแต่งตั้งเลย สิ่งที่เขาจะนำมาต่อรองได้ก็อาจจะเป็นการยอมลดอำนาจไม่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะต่อรองให้พวกเขาส่วนหนึ่งได้กลับมาเป็น ส.ว. ได้อีก" นายวันวิชิตกล่าว

นายวันวิชิด กล่าวว่า แกนนำส่วนหนึ่งอย่างนายสมชาย แสวงการ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวันชัย สอนศิริ ซึ่งออกมาชูโรงเป็นตัวตั้งตัวตีที่แข็งขันมาก ให้ออกมาเป็นภาพดูดีว่าเออออเห็นด้วย เหมือนว่ากระแสสังคมจะเป็นส่วนหนึ่งหนุนให้เขาได้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วเขาได้ประโยชน์เพราะตามแผนแล้ว ส.ส.ร. ที่จะมีขึ้นจะมีอายุ 20 เดือน หรือ เกือบ 2 ปี รวมกับที่อยู่มาแล้ว 1 ปีก็จะเท่ากับ 3 ปี ในขณะที่อนาคตยังไม่แน่ว่าจะยังมี ส.ว. แต่งตั้งอีกหรือเปล่า แต่ถ้ามีส่วนร่วมเป็น ส.ส.ร. ได้ก็จะผลักดันให้มีบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.ที่มีอยู่ได้เป็นต่อไปก่อน ในช่วงรักษาการรอการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่

"ขณะนี้ ส.ว. ทั้ง 250 คนยังไม่ไปสู่การตกผลึกเป็นการโยนหินถามทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเองก็ยังไม่ได้เคลียร์ลูกออกมา ยังดูว่ากระแสการเมืองต่างๆ ทิศทางเป็นอย่างไร อย่าลืมว่าสาย ส.ว. สุดโต่งอย่างพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ก็ยังไม่ออกมา ตรงนี้จึงเป็นแทคติกของการยื้อประวิงเวลาไปก่อน" นายวันวิชิตกล่าว