posttoday

"เสรีรวมไทย"หนุนแก้รธน.ใหม่เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ-สร้างกติกาที่เป็นธรรม

23 สิงหาคม 2563

รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เสนอแนวทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สร้างกติกาที่เป็นธรรม ยอมรับกันทุกฝ่าย ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ย้ำประชาชนต้องมีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 23 ส.ค.น.ส.ธนภร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยว่า การชุมนุมเรียกร้องการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนกลุ่มต่างๆ หากพิจารณาข้อเรียกร้องที่ 1 รัฐบาลควรหยุดคุกคามประชาชน ผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน ซึ่งหากพิจารณาถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขยายระยะเวลาต่อเวลาออกไปอีก 1 เดือน ถามว่า มีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าวห้ามประชาชนชุมนุม ซึ่งมีโทษทางอาญา เป็นการเพิ่มดีกรีความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลจะอ้างว่า เพื่อการบริหาร ศคบ.โรงระบาคโควิด-19 ไปทิศทางเดียวกันในทุกๆจังหวัด

ทั้งนี้ แต่ถ้าดูรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และในวรรคสองที่ว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะได้บัญญัติรองรับไว้อยู่แล้วในกฎหมายปกติ ดังนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงไม่มีความจำเป็น ประกอบกับ ศคบ.ได้แถลงถึงผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเป็นศูนย์ จึงไม่มีความจำเป็นใช้ พรก.ฉุกเฉิน ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในข้อเรียกร้องในข้อที่ 2 ที่ว่ารัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง แต่ที่มาการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 เม.ย.2560 เป็นการร่างโดยคณะ กรธ.โดยการแต่งตั้งจาก คสช.ขาดการทีส่วนร่วมของประชาชน

น.ส.ธนภร กล่าวว่า ประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกติกาที่เป็นธรรม เห็นว่า ควรแก้ไขทั้งฉบับโดยตั้งสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ 1.ระบบการเลือกตั้ง โดยใช้ระบบเสียงข้างมากธรรมดา ไม่ใช่ระบบจัดสรรปันส่วนผสม 2.กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขจัดปัญหาการสืบทอดอำนาจ และไม่จำกัดพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 5% ที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งไม่จำต้องนำเสนอผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองที่เสนอให้ กกต. 3.ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จะต้องยึดโยงประชาชนโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง และไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยออกแบบสมาชิกวุฒิสภาเพียง 150 คน มาจากการเลือกตั้งแต่ละจังหวัด 4.ตัดบทเฉพาะกาลออก ทำให้ สมาชิกวุฒิสภาสิ้นไป ไม่ต้องรอถึง 5 ปี นอกจากนี้ ในการแก้ไขทั้งฉบับ ต้องพิจารณาแก้ไของค์กรอิสระ ที่มาและการตรวจสอบถ่วงดุล จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับให้ทำให้ประชาชนเข็มแข็งตรวจสอบถ่วงดุล มีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับ ข้อเรียกร้องที่ว่า ต้อง “ยุบสภา” เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง เห็นว่า กรอบระยะเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญควรมีระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน เหมือนอย่าง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2491 ระยะเวลาไม่ยาวเกินไป เพราะหากยุบสภาก่อน รัฐบาลปัจจุบันรักษาการ ไม่ต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งหากประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ดีกรีความร้อนแรงนอกสภาจะลดลงโอกาสที่จะรัฐประหารจะไม่เกิด ทั้งการแก้ไขไม่ควรไปแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์เพราะรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้นดีอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากไปเรียกร้องในประเด็นนี้จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญโอกาสไม่สำเร็จ ซึ่งควรไปออกแบบรัฐธรรมนูญในระบบรัฐสภาว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมและตรวจสอบถ่วงดุลอย่างไร เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือไม่ เพื่อหาจุดร่วมทางออกประเทศไทยด้วยกันจะก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้การเมืองเข็มแข็ง ประเทศชาติพัฒนา