posttoday

จุฬาฯคึก นิสิตเมินคำสั่งห้ามชุมนุม จี้หยุดคุกคามประชาชน

14 สิงหาคม 2563

จุฬาฯคึกนิสิตเมินคำสั่งห้ามใช้สถานที่จัดชุมนุมจี้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ ขณะแฟลชม็อบ"รามคำแหงจะไม่ทน"แสดงจุดยืน 10 ข้อ

เมื่อวันที่ 14ส.ค.63 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่ม "Spring Movement" นัดหมายจัดกิจกรรม "เสาหลักจะหักเผด็จการ" ที่อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์โดยย้ายจากจุดนัดหมายเดิม คือบริเวณสนามจุ๊บ หลังเกิดปัญหาติดขัดด้านการใช้สถานที่ ประกอบกับใฝนตกหนักในช่วงเวลา 16.15น. โดยโถงชั้นล่างของอาคารแห่งนี้มีการตั้งโต๊ะล่า 50,000 รายชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 60ขณะที่นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ นำป้ายผ้ามาร่วมงาน มีข้อความว่า ‘ทวงคืนจรรยาบรรณสื่อ’ ที่ไม่นำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา และสื่อที่สนับสนุนเผด็จการ

นายวิชิต ชัยอมรกุล นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทนนิสิตจุฬา กลุ่ม ‘เสรีเทยพลัส’ กล่าวว่า มารวมกันวันนี้ เพื่้อเป็นกระบอกเสียง ขอเรียกร้องให้รัฐหยุดคุกคามประชาชนไม่เช่นนั้น คนจะออกมามากกว่านี้ แล้ววันนั้นท่านจะเป็นฝ่ายแพ้ ต่อมา มีการผลัดขึ้นปราศรัยต่อเนื่อง บนเวทีกล่าวถึงประเด็น ‘ความเป็นอภิสิทธิ์ชนของจุฬาฯ ในสังคมไทย’ตั้งคำถามถึงท่าทีของมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์สื่อว่า จุฬาฯ ให้อิสระในการแสดงความเห็นทางการเมือง และพร้อมช่วยเหลือ แต่ต่อมากลับออกประกาศที่มีทิศทางตรงกันข้าม ที่ผ่านมาในยุค คสช. มีคนถูกคุกคาม 593 คน โดน พรบ.คอมพิวเตอร์ 197 คน พรบ.ชุมนุม 28 คน ลี้ภัยทางการเมือง 104 คน บางคนโดนอุ้ม ดังเช่น นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

จุฬาฯคึก นิสิตเมินคำสั่งห้ามชุมนุม จี้หยุดคุกคามประชาชน

นิสิตชาย ตัวแทนกลุ่ม ‘สปริง มูฟเม้นต์’ ปราศรัยว่า ภารกิจหลักของจุฬาฯ คือตลาดวิชา เป็นเวทีที่นำความรู้คู่ประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดี แต่วันนี้กลับปิดกั้น ยับยั้ง กดดันให้ออกไปชุมนุมนอกมหาวิทยาลัยอ้างว่า กิจกรรมต้องวิชาการ ซึ่งจริงๆแล้ววิชาการต้องเชื่อมโยงสังคมจึงจะถูกต้อง มีการกล่าวยกย่องการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดง โดยผู้ชุมนุมต่างพากันปรบมือให้เสื้อแดงที่ส่วนหนึ่งยังถูกจำคุกในเรือนจำ

จุฬาฯคึก นิสิตเมินคำสั่งห้ามชุมนุม จี้หยุดคุกคามประชาชน

ต่อมา นิสิตหญิงแอดมินเพจ ‘คณะจุฬา’ ขึ้นปราศรัย โดยมีการอ่านเนื้อเพลงของ จิตร ภูมิศักดิ์ อดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งต่อมาคือส่วนหนึ่งของเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ และหยิบยกประเด็นผลประโยชน์ต่างๆของจุฬาฯ รวมถึงการรื้อย้าย ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม’ สะพานเหลือง ซึ่งถูกวิจารณ์จากสังคม และชักชวนผู้ชุมนุมตะโกนว่า"ไม่เอาห้าง"ขึ้นพร้อมกันรวมถึงการสร้างคอนโดมีเนียมในขณะที่หอพักนิสิตไม่เพียงพอ

จุฬาฯคึก นิสิตเมินคำสั่งห้ามชุมนุม จี้หยุดคุกคามประชาชน

จุฬาฯคึก นิสิตเมินคำสั่งห้ามชุมนุม จี้หยุดคุกคามประชาชน

จุฬาฯคึก นิสิตเมินคำสั่งห้ามชุมนุม จี้หยุดคุกคามประชาชน

วันเดียวกันที่ใต้ตึก SBB มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก มีการจัดกิจกรรม "รามคำแหงจะไม่ทน" นำโดยเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย พร้อมเสนอ 3 ข้อเรียกร้องและ 2 จุดยืนไปยังรัฐบาล ได้แก่ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยุบสภาภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย และ 2 จุดยืนคือ ไม่เอารัฐประหาร และไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ พร้อมกับทวงถามคำตอบจากรัฐบาลว่าจะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้มีการจัดชุมนุมที่ลานพ่อขุน แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้ต้องย้ายไปจัดใต้ตึก SBB

ทั้งนี้กิจกรรม #รามคำแหงจะไม่ทน จัดขึ้นเพื่อแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ และแสดงจุดยืนที่ประกอบด้วย

1.แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการทหาร

2.หยุดคุกคามประชาชน

3.ไม่เอารัฐประหาร

4.ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ

5.สมาชิกวุฒิสภา ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

6.สมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่มีสิทธิโหวต เลือกนายกรัฐมนตรี

7.ยุบสภา

8.นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง (ไม่เอานายกฯคนนอก)

9.องค์กรอิสระต้องมาจากประชาชน (ต้องยุบองค์กรอิสระที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

10.รัฐบาลต้องมีคำตอบเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เร็วที่สุดว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศเมื่อไหร่ อย่างไร