posttoday

"อานนท์- ไมค์" ลุ้นประกันตัว หลังศาลอนุญาตฝากขัง

08 สิงหาคม 2563

ศาลอนุญาตฝากขัง "อานนท์- ไมค์ ระยอง" แกนนำม็อบเยาวชนปลดแอก ปราศรัยยุยง ก่อความวุ่นวาย ชี้มีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนพยาน 2 สส.ก้าวไกล ใช้ตำแหน่งขอยื่นประกันตัว

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ช่วงเช้าที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ควบคุมตัว นายอานนท์ นำภา อายุ 35 ปี ภูมิลำเนาร้อยเอ็ด ประกอบอาชีพทนายความ ซึ่งเป็นทนายความประจำศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในทีมทนายความของนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง อายุ 24 ปี แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ผู้ต้องหา คดีปลุกปั่นยุยง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากการร่วมชุมนุมกับเยาวชนปลดแอก ช่วงเย็นเมื่อวันที่ 18 ก.ค.63 ที่นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกได้จัดกิจกรรม "ใครไม่ทนให้ไปกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" มายื่นคำร้องฝากขังครั้งแรก เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-19 ส.ค.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานบุคคลอีก 6 ปาก และรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา จากกองทะเบียนประวัติอาชญากร กับผล ตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาประกอบสำนวนการสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ขอคัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสองด้วยเนื่องจาก ผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะไปชุมนุม ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

โดย พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองแยกคนละสำนวนกัน ซึ่งคดีนี้พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอหมายจับผู้ต้องหาลงวันที่ 6 ส.ค.63 ชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาที้งสอง รวม 7 ข้อหา ฐานร่วมกันกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นได้ที่ไม่ใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนฯ , ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ,ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุม ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดฯ อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค กระทำการหรือดำเนินการใดใดซึ่งอาจก่อภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตราย หรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ , ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคด้านความปลอดภัย หรือความไม่สะดวกในการจราจรฯ , ร่วมกันวางหรือแขวนสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือกระทำด้วยประการใดในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร , ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆบนถนน, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2)(3 ) , 215 วรรคสาม , 385 ประกอบ มาตรา 83 , พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 , ข้อกำหนดข้อ 5 ที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1 ) ลงวันที่ 25 มี.ค.63 และฉบับที่ 5 ข้อ 2 (2) ลงวันที่ 1 พ.ค.63 , ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงของเรื่องห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เม.ย.63 , พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 (6) , 51 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2522 มาตรา 114 , 148 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ. ศ.2535 มาตรา 19 , 57 พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 9 ในชั้นจับกุมและสอบสวน สำหรับนายอานนท์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนนายภานุพงศ์ หรือไมค์ ระยอง ขอยังไม่ให้การใดๆ

อย่างไรก็ตาม ในการยื่นคำร้องฝากขังนี้ ผู้ต้องหาได้ยื่นคำคัดค้านการฝากขังครั้งนี้ด้วย อ้างเหตุการถูกจับกุมโดยมิชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการควบคุมตัวนายอานนท์ และไมค์ ระยอง จะมายื่นฝากขังที่ศาลอาญานั้น ปรากฏว่า เมื่อเวลา 10.20น. นายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ และมวลชนจำนวนหนึ่งได้พากันมายืนออ อยู่ที่ริมรั้วหน้าศาลอาญา และได้เดินเข้ามาในศาล บริเวณบันไดศาลซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณหน้าบันไดทางขึ้นอาคารศาลอาญาไว้ก่อนก่อนเพื่อควบคุมสถานการณ์ดูแลความเรียบร้อยบริเวณศาลที่จะไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ระหว่างนั้นทางเจ้าหน้าที่พยายามพูดสื่อสารให้ทุกคนอย่าฝ่าแนวรั้วของเจ้าหน้าที่เข้าไปภายในอาคารศาลอาญา โดยเจ้าหน้าที่ก็ได้นำ "ป้ายข้อกำหนดของศาลอาญา เรื่องการประพฤติตัวให้เรียบร้อยในบริเวณศาล" มาตั้งไว้ด้วย ซึ่งหากกระทำการผิดข้อบังคับจะเข้าข่ายความผิดละเมิดอำนาจศาล

อย่างไรก็ดี ได้มีการยื้อยุดฉุดกระชากแผงเหล็กกั้น แต่ก็ไม่มีความรุนแรง ซึ่งกลุ่มมวลชนยังคงยืนรออยู่หน้าบันไดศาลอาญา

ต่อมาเวลา 15.20 น.ศาลอ่านคำสั่งในคำร้องฝากขังและคำคัดค้านการฝากขังให้ผู้ต้องหาฟังแล้ว พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีความอาญา มาตรา 78 ได้วางหลักเกณฑ์การควบคุมตัวไว้เป็นขั้นเป็นตอนเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เมื่อคดีนี้ พนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาวันที่ 7 ส.ค. 2563 เวลา 16.30 น. ต่อมานำตัวผู้ต้องหาและคำร้องมายื่นต่อศาลอาญในวันเดียวกันเมื่อ เวลา 16.45 น. ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังพ้นกำหนดเวลาราชการ จึงมีคำสั่งคืนคำร้องและให้รับตัวผู้ต้องหาคืนและให้ยื่นคำร้องภายใน 48 ชม.ตามกฎหมาย

วันนี้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องมายื่นคำร้องขอฝากขังเวลา 08.52 น.ยังอยู่ในระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ตามป. วิ. อาญามาตรา 87 วรรคสามจึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ส่วนที่จำเลยคัดค้านว่าผู้ต้องหามีถิ่นที่อยู่และประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง คดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ มีข้อหาอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ตามกฎหมายเมื่อเป็นกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อการสอบสวน พนักงานสอบสวนชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายขังได้ โดยที่พนักงานสอบสวนอ้างเหตุขออนุญาตฝากขังว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกจำนวน 6 ปาก และรอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือและผลการตรวจประวัติการต้องโทษ ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจขอสอบสวนพยานดังกล่าวได้

เมื่อเป็นการร้องฝากขังครั้งที่ 1 ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเวลาสอบสวนเพียง 48 ชั่วโมง กรณีนี้จึงมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนต่อไป ส่วนข้อคัดค้านอื่นไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามขอ

ภายหลังนายคารม พลพรกลาง และนาย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 2 ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส.ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายอานนท์และนายภาณุพงศ์ ผู้ต้องหาซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ภาพ ทวิตเตอร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน