posttoday

“พิชัย” ห่วง งบ 64 ล้าสมัย ไม่ฟื้นเศรษฐกิจ

01 กรกฎาคม 2563

อดีต รมว. พลังงาน ห่วง งบประมาณ ปี 64 ล้าสมัย ไม่ฟื้นเศรษฐกิจ เตือน “พล.อ.ประยุทธ์” ศึกษา หนี้ 5 ประเภทที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่ต้องเร่งแก้ไขก่อนเศรษฐกิจทรุดหนัก

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวว่า ตามที่สภาจะพิจารณางบประมาณปี 64 จำนวนเงิน 3.3 ล้านล้านบาท โดยจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นอีกถึง 623,000 ล้านบาทนั้น จากข้อมูลที่ได้รับเป็นห่วงว่าจะเป็นการจัดงบประมาณตามแนวทางเดิมที่ทำมาตลอด 6 ปี ซึ่งล้มเหลวมาโดยตลอด การคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ก็คงจะไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนักให้กลับมาได้ อีกทั้งแนวทางเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังโควิด-19 การยึดติดกรอบเดิมจะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะฟื้นได้ เพราะปัจจุบันการใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องจักรเดียวที่เหลืออยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงควรต้องรื้องบประมาณมาจัดลำดับความสำคัญใหม่ทั้งหมด งบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะต้องถูกตัดให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะงบทางการทหารและความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมาและยังมีการนำงบกลางไปจัดซื้ออาวุธกันอีก ยิ่งจะต้องถูกตัดให้เหลือน้อยที่สุด โดยต้องทุ่มงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่จะเข้ากับโลกในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังต้องมุ่งเน้นการพัฒนาสาธารณสุขและระบบการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต

ทั้งนี้อยากให้พลเอกประยุทธ์ที่มีความเข้าใจเศรษฐกิจในระดับต่ำได้ศึกษาเรื่อง หนี้ 5 ประเภท คือ หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ หนี้เสียในระบบการเงิน และ หนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบันและจะเป็นปัญหาใหญ่เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต หากรัฐบาลขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหนี้นี้ ซึ่งตลอดเวลา 6 ปีที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้บริหารประเทศมา ได้สร้างปัญหาหนี้เหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจะขออธิบายพร้อมแนะแนวทางแก้ไขดังนี้

หนี้สาธารณะของไทย รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ใช้งบประมาณของประเทศไปแล้วและถ้ารวมปี 2564 ด้วยจะใช้กว่า 21 ล้านล้านบาท และ จะสร้างหนี้สาธารณะแล้วกว่า 4 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 8 ล้านล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐจะได้ต่ำกว่าประมาณการ และ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบหนักถึง 8.1% หรือมากกว่า ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งเกินกรอบ 60% มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะไทยจัดเก็บรายได้ได้เพียง 16-18% ของจีดีพีเท่านั้น ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จะต้องรู้ว่าปัจจุบันการใช้จ่ายภาครัฐเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจเดียวที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะการส่งออกติดลบหนักถึง 22.5% การท่องเที่ยวแทบไม่มีเลย การลงทุนหดหาย และ ประชาชนขาดรายได้ในการบริโภค ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังใช้จ่ายโดยไม่ก่อเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักมากขึ้น

หนี้ครัวเรือน หนี้ครัวเรือนในปลายปี 62 มีปริมาณถึง 13.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.8% ของจีดีพี และในปี 2563 ในวิกฤตโควิด หนี้ครัวเรือนจะพุ่งสูงเพราะประชาชนไม่มีรายได้จากการล็อกดาวน์ แต่ต้องกินต้องใช้ อีกทั้ง จีดีพีปีนี้จะติดลบหนักซึ่งจะทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งกระฉูดเกิน 80% ไปอย่างมาก และอาจจะทำให้ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีหนี้ครัวเรือนสูงสุด ดังนั้นพลเอกประยุทธ์จะต้องจัดงบประมาณเพื่อมีการสร้างงาน และ สร้างรายได้ เพิ่มจีดีพี เพื่อให้สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนได้ลดลง

หนี้ภาคธุรกิจ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึง ธุรกิจ SMEs ต่างได้รับผลกระทบอย่างมาก รายได้ขาดหาย หนี้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นสูง หลายบริษัทต้องปิดตัวลง ซึ่งจะทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มสูงมาก คาดกันว่าคนอาจจะว่างงานกันถึง 8-10 ล้านคนเลย พลเอกประยุทธ์ จะต้องช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SME ให้ประคองตัวรอดพ้นไปก่อนในช่วงนี้ การที่กลุ่มแคร์เสนอให้รัฐออกซอฟท์โลนจำนวน 2 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้รอดพ้นวิกฤตก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง โดยต้องพิจารณาให้ดีว่าธุรกิจใดจะรอดพ้นได้ เพราะหลายธุรกิจก็จะล้าสมัยและต้องเลิกหรือโดน disrupt อยู่แล้ว การช่วยก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นการช่วยเหลือจึงอาจจะต้องเลือกธุรกิจที่จะไปรอดได้ในอนาคต

หนี้เสียในระบบการเงิน หนี้เสียที่เกิดจากหนี้ครัวเรือน และ หนี้ภาคธุรกิจ ในระบบการเงิน ทั้งในระบบธนาคารและตลาดทุน ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขนาดแบงก์ชาติต้องสั่งห้ามธนาคารจ่ายปันผลและห้ามซื้อหุ้นคืน ซึ่งแสดงว่าสถานการณ์หนี้เสียน่าจะมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงมาก อีกทั้งตราสารหนี้ของบริษัทใหญ่ๆจำนวนมากจะไม่สามารถไถ่ถอนได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พลเอกประยุทธ์ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อภาคธุรกิจ และ ประชาชนจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาชำระหนี้ การคง พรก. ฉุกเฉิน ทั้งที่ไม่มีการระบาดของไวรัสแล้ว จะยิ่งทำร้ายเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงไปอีก

หนี้นอกระบบ ประชาชนจำนวนมากขาดรายได้จึงต้องพึ่งการกู้หนี้นอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก และมีการทวงหนี้อย่างมหาโหด และหลายกรณีก่อให้เกิดการฆ่าตัวตาย หรือ การก่ออาชญากรรม คือไม่ฆ่าตัวเอง ก็ต้องปล้นจี้ ฉกชิง วิ่งราว ซึ่งจะทำให้คดีอาชญากรรมพุ่งขึ้นสูง และจะเป็นปัญหาทางสังคมอย่างมาก พลเอกประยุทธ์จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนี้อย่างเร่งด่วน โดยต้องหาทางให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนที่ดอกเบี้ยไม่สูงเพื่อประคองตัวให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตนี้

ดังนั้น พลเอกประยุทธ์จะต้องทำความเข้าใจกับหนี้ทั้ง 5 ประเภทนี้ ซึ่งกำลังจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเหมือนระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่อาจจะประทุขึ้นมาได้ในเวลาอีกไม่นานนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้าหากพลเอกประยุทธ์ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ หรือ เข้าใจแต่หาทางแก้ไขไม่เป็น หรือ แก้ไขไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ก็ควรจะต้องพิจารณาแล้วว่าตัวเองที่บอกรักประเทศชาติเท่าชีวิต จะมีความเหมาะสมในการเป็นผู้นำประเทศต่อหรือไม่ อย่าปล่อยให้เศรษฐกิจประเทศพังทลายและเสียหายหนักทั้งๆที่รู้ดีว่าตัวเองไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอเลย โดยอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้คำนึงว่าประวัติศาสตร์จะบันทึกถึงตัวพลเอกประยุทธ์เองไว้อย่างไร