posttoday

"พรรคก้าวไกล"ชี้งบปี64ถูกจัดสรรแบบเดิม ไร้ทิศทางนำประเทศหลังโควิด

29 มิถุนายน 2563

"ส.ส.พรรคก้าวไกล" ตั้ง 4 ข้อสังเกตจัดสรรงบประมาณปี 64 ยังเป็นแบบเดิม- ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ พร้อมแนะ 4 ข้อเสนอตอบโจทย์ประเทศ

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 63 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมบรรยายในหลักสูตร "โควิด -1984" เป็นซีรีส์บรรยายสาธารณะของ "Common School" ผ่านทางยูทูป "คณะก้าวหน้า-Progressive Movement" ในหัวข้อ "ผ่างบประมาณเเผ่นดิน : เส้นเลือดใหญ่ไร้ประสิทธิภาพ" โดยระบุตอนหนึ่งว่า มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดงบประมาณปี 2564 ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎร 4 ข้อ คือ

ข้อที่ 1. ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลกำลังจะนำประเทศไทยไปสู่ทิศทางใด ไม่ได้บอกว่าจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างไร เเละจะทำให้เราสามารถตามทันกระเเสโลกที่เปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็วหลังยุคโควิดได้อย่างไร ไม่มีการพูดถึงเเผนการที่จะนำไปสู่การเเก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำเเย่ ไม่มีการพูดถึงเเผนที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะนำไทยให้ไปอยู่ใน Supply Chain ของโลก

ข้อที่ 2. การจัดสรรงบประมาณไม่ได้มีความเเตกต่างกับปีงบประมาณปกติ ทั้งที่ควรจะต้องเป็นการจัดทำงบประมาณเเบบฐานศูนย์ โครงการใดที่ไม่มีความสำคัญก็ต้องตัดทิ้งไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานะการณ์โควิดเเบบนี้ ยิ่งมีความคาดหวังว่างบประมาณในปีนี้จะต้องเเตกต่างเเละจะนำเราก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ เเต่พอดูในรายละเอียดแทบไม่มีอะไรเเตกต่าง กระทรวงที่ได้งบสูงสุด 10 อันดับเเรก ไม่เปลี่ยนเเปลงจากงบประมาณปี 2563 เลย เเม้ว่าจะโอนงบเเล้วก็ตาม กระทรวงกลาโหมก็ยังอยู่ในติดอันดับ 1 ใน 5 เหมือนเดิม

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่างบประมาณปี 2564 ไม่ได้สะท้อนการเเก้ปัญหาโควิดเเม้เเต่น้อย โครงการก็ยังเป็นโครงการเดิม เป้าหมายยังเป็นเป้าหมายเดิม ตัวชี้วัดก็เป็นตัวชี้วัดเดิม หน่วยงานที่จะต้องมีความสำคัญในช่วงเวลานี้ที่ช่วยทำให้เกิดการจ้างงานหรือว่าช่วยเหลือเเรงงาน อย่างกรมสวัสดิการคุ้มครองเเรงงาน หรือว่ากรมพัฒนาฝีมือเเรงงานก็กลับถูกตัดลดงบประมานลงไปด้วย

ข้อที่ 3. ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการที่ยังคงอยู่เหมือนเดิม ที่ผ่านมาขาดการประเมินผลงานอย่างจริงจัง และไม่เคยมีการปรับปรุงเเก้ไขเเต่อย่างใดเลย เรายังคงเห็นปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า งบประมาณที่รวมศูนย์ ทำให้ความคืบหน้าในการกระจายอำนาจถอยหลังลงคลอง และยังมีเรื่องความซ้ำซ้อนของเเผนงานต่างๆ เเม้ว่าจะเป็นการบูรณาการเเผนงานเเล้วก็ตาม

ข้อที่ 4.ปัญหาที่ทำให้งบประมานปี 2564 ไม่สามารถตอบโจทย์ของประเทศหลังโควิดได้ นั่นคือ วิสัยทัศน์เเละภาวะผู้นำของหัวหน้ารัฐบาลชุด จากกระบวนการงบประมาณที่ได้เล่าไปเเล้วว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้มีการสั่งให้ปรับปรุงถึง 2 ครั้ง เเต่ก็ไม่ได้ทำให้หน่วยงานต่างๆ นั้นปรับปรุงเเก้ไข ให้งบประมาณสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เป็นจริงได้เลย เหล่านี้อาจจะต้องอาศัยความเด็ดขาดเเละวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะชี้นำให้หน่วยงานต่างๆ ทำงบประมาณเเบบใหม่ที่สอดคล้องเเล้วก็เเก้ไขให้กับประเทศไทยได้"น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ขอเสนอการจัดทำงบประมาณรูปแแบบใหม่ ที่จะช่วยตอบโจทย์ประเทศไทยหลังโควิด ซึ่งมี 4 ข้อเสนอ คือ

ข้อที่ 1. จะต้องนิยามความมั่นคงในรูปแบบใหม่ จากความมั่นคงในด้านการทหารเเละการป้องกันประเทศไปสู่ความมั่นคงในด้านสาธารณสุขเเละชีวิตประชาชน ที่ผ่านมางบประมาณในด้านความมั่นคงนั้นจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เเต่ว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป เราเห็นเเล้วว่าประเทศที่ขาดความมั่นคงด้านสาธารณสุข จะต้องเจอกับปัญหาความขาดเเคลน ไม่ว่าจะเป็นยาเครื่องมือการเเพทย์เเละอุปกรณ์ทางการเเพทย์ต่างๆ เมื่อเกิดวิกฤตการระบาดของโรคต่างๆ เกิดขึ้นทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของความมั่นคง มาสู่มุมมองความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในด้านทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงในชีวิตของประชาชน

ข้อที่ 2. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนเเปลงไป เราต้องการงบประมาณเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เราไม่สามารถที่จะเดินนโยบายตามปกติอีกต่อไป เนื่องจากโลกได้มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างมาก Supply Chain ต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง ต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนเเปลง ไม่ว่าจะเป็น SMEs ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เนื่องจากปัญหาการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่จะไม่มีนักท่องเที่ยวกลับมาในระดับเดิมได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร ที่การสร้างมูลค่าเพิ่มเเบบเดิมๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์ของโลกอีกต่อไปทำให้เราต้องใช้งบประมาณ ต้องทุมเททรัพยากรเพื่อการเปลี่ยนเเปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่โอกาสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังยุคโควิด 19

ข้อเสนอที่ 3.เราต้องการงบประมาณสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบาง ต้องจัดสวัสดิการสังคมที่ถ้วนหน้าเเละทั่วถึง วิกฤตครั้งนี้ได้ทำให้เราเห็นเเล้วว่าตาข่ายทางสังคม หรือที่เราเรียกกันว่า social safety net ของประเทศไทยนั้นบอบบางมาก เพียงเเค่มีอะไรเบาๆ มากระทบ คนที่เคยอยู่ในชนชั้นกลางก็ตกลงสู่ชนชั้นล่างได้อย่างรวดเร็ว เราเห็นเเล้วว่าเเรงงานนอกระบบนั้นไม่มีความคุ้มครองใดๆ ทางสังคมเลย ดังนั้น เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐในด้านนี้

ข้อเสนอที่ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐที่ดีก็คือการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความยึดโยงกับประชาชน เราต้องการรัฐส่วนกลางที่เล็กลง เเต่ได้สัดส่วน เเละมีประสิทธิภาพผ่านการใช้รัฐบาลดิจิตัล หรือว่าการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งรายละเอียดของการจัดทำงบประมานในเเนวทางใหม่ รูปแบบใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด 19 อยากให้ติดตามการอภิปรายของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ในช่วงสัปดาห์นี้