posttoday

"ช่อ"เผย "ร่างพรบ.อุ้มหาย" ยื่นสภา 8 ก.ค.นี้ แนะประชาชนจับตา

28 มิถุนายน 2563

"ช่อ พรรณิการ์" เผย ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายจะถูกยื่นต่อสภา 8 ก.ค.นี้ ปลุกประชาชนต้องช่วยกันจับตา หวั่นโหวตให้ไม่ผ่านหรือแก้ไขเนื้อหาจนไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองประชาชนได้จริง

น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวระหว่างร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมที่เปลี่ยนไม่ผ่านท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย” ที่จ.ยะลา ว่า เรื่องการอุ้มหายซ้อมทรมานเป็นปัญหาใหญ่ เป็นทั้งปัญหาการเมืองของสังคมไทย และเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แล้วแต่ก็ไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะประเทศไทยยังมีการปกครองโดยความกลัวอยู่ 

สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ กฎหมายแทนที่ใช้ปกป้องประชาชน กลับใช้ในการคุกคามประชาชน และรูปธรรมที่สอง คือการบังคับสูญหาย ทำให้หลายๆครั้งประชาชนจำเป็นต้องเงียบ มีการเซนเซอร์ตัวเองของประชาชนเพราะกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว ซึ่งการไม่ใช่แค่ให้คนที่ถูกอุ้มเงียบ แต่ต้องการให้สังคมเงียบ ยิ่งไปกว่านั้น เวลาคนหนึ่งถูกอุ้มหาย ทุกคนเงียบเพราะต่างไม่รู้ว่าเมื่อใดจะกลายเป็นเรา เป็นคนในครอบครัวเรา จำเป็นต้องเงียบเพื่อรักษาชีวิต ทำให้เห็นว่าการปกครองด้วยความกลัว ส่งผลว่าประชาชนยังไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงของประเทศนี้ คนที่ทำให้กลัวคือคนที่มีอำนาจ

“ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายจำเป็นต้องถูกแก้ไข เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 112 และ กฎหมายอุ้มหาย หรือ”กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกฎหมายป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ภาคประชาชนต่อสู้กันมายาวนาน เคยผ่านสภานิติบัญญัติ มาแล้วแต่กฎหมายได้ตกไป และภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นมองเห็นความสำคัญต่อร่างกฎหมายฉบับนี้จึงพยายามมองหาวิธีการ ซึ่งไม่ใช่แค่ผ่านกฎหมายได้เท่านั้น แต่กฎหมายจะต้องคุ้มครองประชาชนได้จริง"

"จึงผลักดันผ่านกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่มี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานกรรมาธิการ เพราะการผลักดันผ่านกรรมาธิการจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมืองอื่นๆ มากกว่าทำผ่านพรรคการเมืองเดี่ยวๆ เพราะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆเข้ามาร่วมนั่งใน กมธ. ด้วย ซึ่งการผลักดันกฎหมายในกรรมาธิการก็ได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคเป็นอย่างดี ถือเป็นผลงานร่วมกันของพรรคการเมือง แม้ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเสนอผลักดันหยุดชะงักไป แต่ขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ต้นร่างมาจากภาคประชาสังคม และได้ถูกปรับปรุงโดยกรรมาธิการจนเสร็จเมื่อ 2 วันก่อน และจะยื่นสู่สภาใหญ่ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้”

“แต่สิ่งที่น่ากังวัลคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อาจเข้ามาร่วมโหวตด้วยหากมองว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่สามารถผ่านมติได้หรือหากผ่านอาจถูกแปรญัติ เปลี่ยนแปลง ตัดหลักการสำคัญจนไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองประชาชนได้จริง"น.ส.พรรณิการ์กล่าว

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานฯ จะส่งเข้าสู่สภาถึง 4 ร่าง คือร่างจากกระทรวงยุติธรรม ร่างจากกมธ. กฎหมายฯ และร่างจากพรรคการเมืองอื่นๆอีก 2 พรรค แต่ฉบับของกมธ. นี้นับว่าจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะ คุ้มครอง และจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความ สามารถสืบหาจนกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม และจะใช้ระบบไต่สวน ที่จะทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกหาเอกสารหลักฐานได้เอง อีกทั้งยังกำหนดให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สามารถทำหน้าที่ไปตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐให้ปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด

โดยคณะกรรมการจะมาจากตัวแทนภาคประชาชน 6 คน มาจากข้าราชการ 5 คน จะทำให้คณะกรรมการนี้มีเสียงของภาคประชาชนมากกว่าข้าราชการ จะส่งผลให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีความเป็นมนุษย์และสามารถเข้าใจผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างแท้จริง

แกนนำคณะก้าวหน้า ยังกล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยแก้เลยในประเทศไทย คือ อำนาจรัฐล้นเกิน ตัวเลขความสูญเสียจากผู้ก่อการ ลดลงทุกปี แต่มีตัวเลขผู้ที่ถูกจับโดยกฎอัยการศึกมากขึ้นทุกปี คนติดคุกฟรี และเสี่ยงถูกซ้อมทรมาน ดังนั้น สิ่งที่ต้องจัดการคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอำนาจล้นเกินของรัฐ จำเป็นสร้างความไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญ ในการจัดการอำนาจที่ล้นเกินของรัฐได้ จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจล้นเกิน และใช้ในการแก้ไขปมความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคืนความยุติธรรมให้ผู้ถูกอุ้มหายได้รับความเป็นธรรม

“ถ้าพูดให้ถึงที่สุดร่างกฎหมายไม่ใช่ความหวัง ความหวังจริงๆคือประชาชน เพราะต่อให้ร่างกฎหมายผ่าน แต่อาจมีการแปรญัตติ เปลี่ยนเนื้อหาจนไม่เหลือหลักการที่สำคัญที่ก้าวหน้าในการปกป้องคุ้มครองประชาชน ถ้ากระแสสูง แล้วประชาชนจับตาดู ประชาชนมีความสนใจ อย่างต่อเนื่อง กฎหมายจะผ่านไปได้ และการอุ้มหายเมื่อไม่เงียบ"แกนนำคณะก้าวหน้ากล่าว