posttoday

"วิโรจน์"อัดรัฐอุ้มนายทุนปล่อยประชาชนทุกข์ยาก

27 พฤษภาคม 2563

"วิโรจน์"ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายอัดรัฐบาลมีฐานคิดที่ลักลั่นสองมาตรฐาน "นายทุนมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน" จี้รัฐบาลยืนยันในความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 63 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ โดยระบุว่า อยากถามนายกรัฐมนตรีว่า ที่ชูสองแขนแล้วพูดว่า "ประเทศไทยต้องชนะ" นั้น คำว่าประเทศไทย หมายความถึงประชาชนด้วยหรือไม่ ? เพราะถ้าประชาชนชนะแล้วทำไมจึงมีภาพของการไปต่อแถวร้องทุกข์ด้วยสายตาที่เลื่อนลอยสิ้นหวังน้ำตาคลอเบ้า ที่หน้ากระทรวงการคลัง ทำไมจึงมีภาพคนเป็นแม่ยืนร้องไห้เพราะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก

สิ่งที่เหล่านี้ ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชนเลย เป็นเพียงการได้มาในสิ่งที่รัฐบาลอยากได้ โดยยืนอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชน เป็นการประกาศชัยชนะของรัฐบาล โดยที่เอาประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยมาเป็นเครื่องเซ่น เอากิจการขนาดเล็ก มาเป็นเครื่องสังเวย

นายวิโรจน์ อภิปรายต่อว่า คำว่า "เราไม่ทิ้งกัน" ของรัฐบาล ที่แท้จริงก็คือต้องขยายความว่า "เราไม่ทิ้งกัน ส่วนพวกมันก็ให้ทิ้งไป" ภายใต้วิธีคิดของรัฐบาลนี้ การเข้าไปอุ้มชูนายทุนทำได้ง่ายดายและรวดเร็ว เช่น กรณีบอร์ดการท่าอากาศยาน เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ได้มีมาตรการปรับลดค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 63 และค่าเช่าแบบคงที่ ให้ปรับลดลง 20% ตั้งแต่ 1 ก.พ. 63 ถึง 31 ม.ค. 64 รวมทั้งค่าผลตอบแทนแบบเปอร์เซ็นต์ ให้ยกเว้นเงื่อนไขขั้นต่ำรายเดือน และรายปี ตั้งแต่ 1 ก.พ. 63 ถึง 31 มี.ค. 65 แถมยังให้เลื่อนการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่มีค่าปรับอีกด้วย

ซึ่งประเมินกันว่า จะทำให้กำไรของการท่าอากาศยาน ในปี 63-65 รวมกันแล้ว ลดลงถึง 22,536 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นของการท่าอากาศยานปรับตัวลดลงทันทีในวันที่ 20 ก.พ. คือ 4.80% คิดเป็นความเสียหายที่กระทรวงการคลังต้องรับรู้ทันทีถึง 32,500 ล้านบาท

"เงินจำนวนนี้ ไม่ใช่น้อยๆ เมื่อคำนวณแล้วสามารถเอามาเยียวยาประชาชน จำนวน 5,000 บาท ได้ถึง 2.2 ล้านคน ซื้อหน้ากากอนามัยได้ 8 พันล้านชิ้น ซื้อชุด PPEให้กับหมอ ได้ 90 ล้านชุด ซื้อข้าวสารถุงละ 5 ก.ก. ได้ 216 ล้านถุง สามารถแจกได้ทุกครัวเรือนในประเทศไทยที่มีอยู่ 21 ล้านครัวเรือน ได้ครัวเรือนละ 10 ถุง อยู่ได้นานถึง 5 เดือน ถ้าเทียบกับกรณีสินค้าปลอดภาาษีในสนามบินนั้น เกษตรกรกว่าจะได้รับการอนุมัติการเยียวยา ก็ต้องรอจนถึงวันที่ 28 เม.ย. หลังผู้ประกอบธุรกิจที่สนามบินถึง 2 เดือนเศษ" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า การกู้เงินมาใช้แก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องกู้ แต่สิ่งที่น่ากังวลและเป็นปัญหาคือ รัฐบาลมีฐานคิดที่ลักลั่นสองมาตรฐาน นายทุนมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน ฐานคิดที่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของเงิน และกำลังเจียดเงินเพื่อสงเคราะห์ประชาชนใต้การปกครอง โดยให้ประชาชนรอความเมตตาจากรัฐ แบบนี้ไม่ถูกต้อง

ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พอประชาชนด้วยกันทนไม่ได้ นำอาหารออกมาแจกจ่ายช่วยกันเอง ก็ยังถูกจับกุมดำเนินคดี ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลทำงานเป็น พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ทั้งกู้เงิน ซอฟท์โลน และพยุงหุ้นกู้ จะต้องวางแผนให้สอดคล้องกันกับ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยกฎหมายทั้ง 5 ฉบับนี้ และต้องวางแผนให้สอดคล้อง มียุทธศาสตร์ร่วมกัน

สัญญาณที่รัฐบาลควรส่งมาที่สุดในตอนนี้ ก็คือ การสื่อให้ประชาชนรับรู้ว่า รัฐบาลกำลังพยายามที่จะปกป้อง สภาพการจ้างงานของพวกเขา

นายวิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลเขียนมานี้ มีรายละเอียดอยู่เพียง 7 หน้า คิดเป็นหน้าละ 1.4 แสนล้านบาท มีทั้งสิ้น 148 บรรทัด คิดเป็น บรรทัดละ 6,800 ล้านบาท นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญ ที่พรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤต การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

หากรัฐบาลยืนยันในความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของตัวเอง ตามที่ปรากฎในมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ค. จริง ก็ควรต้องให้ความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่าทีของรัฐบาลต่อการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ จะเป็นจุดชี้ขาด การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลว่า จะลงมติอย่างไรกับ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับนี้ เพราะ 'ประเทศไทยต้องชนะ' ในคำว่าประเทศไทยนั้น คือประชาชนต้องชนะไปด้วยกัน