posttoday

ปชป.ขู่ใครใส่ร้าย"อภิสิทธิ์"สั่งฆ่าประชาชนเหตุการณ์พฤษภา 53 เจอดี

17 พฤษภาคม 2563

โฆษกปชป.งัดหลักฐานชี้แจงยิบป้อง"อภิสิทธิ์"ไม่ได้สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 53 ขู่ใครใส่ร้ายเตรียมแจ้งดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวพาดพิงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. เรื่องการสลายการชุมนุมทำให้คนเสียชีวิต ว่า บุคคลกลุ่มที่ออกมากล่าวหาใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นการสร้างวาทะกรรมเพื่อทำลายนายอภิสิทธิ์ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทั้งๆที่เรื่องดังกล่าวได้ผ่านการพิสูจน์จากกระบวนการยุติธรรมจนสิ้นกระแสความว่านายอภิสิทธิ์ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา

ทั้งนี้ หลักฐานจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยืนยันชัดเจนในเรื่องการชุมนุมเมื่อ ปี 2553 การชุมนุมครั้งนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจน และในบริเวณการชุมนุมดังกล่าวก็มีกลุ่มชายชุดดำแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธสงคราม รายงานของ คอป. มีรายละเอียดเป็นจำนวนมากที่ยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ แต่ที่อยากจะชี้แจงให้เห็นคือมีข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่งที่สำคัญคือการพิสูจน์ความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่มีการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาญาในข้อหาเจตนาฆ่าผู้ชุมนุม ได้ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการใช้ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆ เข้าปฏิบัติการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมชุม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 เป็นข้อหาที่หนักหนาเอาการ คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ความหมายคือยกฟ้องตามศาลชั้นต้น คดีขึ้นสู่ศาลฎีกาศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน 

ปชป.ขู่ใครใส่ร้าย"อภิสิทธิ์"สั่งฆ่าประชาชนเหตุการณ์พฤษภา 53 เจอดี

อย่างไรก็ตราม คดีนี้ยังไม่จบเหตุเพราะเมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา อำนาจการพิจารณาคดีก็ตกไปอยู่กับ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรง มีการยื่นคำร้องให้เอาผิดทั้งหมด 3 คน คือ 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก 

นายราเมศ กล่าวว่า ผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับฟังเป็นยุติว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลไว้น่าสนใจคือ “อยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553”

สำหรับ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุไว้ชัดเจนว่าทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา และศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดีเลขที่ 1699/2560 “ว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องต้องกัน

“เรื่องดังกล่าวนี้ควรจะยุติ เพราะได้ผ่านการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการยุติธรรม ไม่ควรที่จะมาใช้วาทะกรรมในการปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจผิดในข้อมูล” นายราเมศ กล่าว

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ข้อเท็จจริงปรากฏผ่านกระบวนการยุติธรรมในหลายคดี เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2560 คดีอาญาที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพได้ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ “หน้าที่ 9 บรรทัดที่ 1-4 ระบุไว้ชัดตอนหนึ่งว่า “ในตอนค่ำมีชายชุดดำใช้อาวุธปะปนอยู่ในกลุ่ม นปช. และซุ่มอยู่บนอาคารในบริเวณดังกล่าวด้วย มีการยิงกันด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด M79 จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย มีเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก” นี่คือผลการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ชัดเจนตามคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกา เลขที่ 6646-6674/2561 คดีแพ่งที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเผาอาคารพาณิชย์ของประชาชน ศาลพิพากษาให้แกนนำชดใช้ค่าเสียหาย 19,347,000 บาท โดยให้เหตุผลในหน้าที่ 54 บรรทัดที่ 6-10 ระบุเหตุผลไว้ชัดว่า “ผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและทรัพย์สินของโจทก์ทั้ง 4 ที่ถูกบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. วางเพลิงเผาทำลายนั้น เป็นผลที่เกิดจากคำปราศรัยของจำเลยที่ 6  ถึง ที่ 8 โดยเข้าลักษณะเป็นผู้ยุยงส่งเสริมในการละเมิดของบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. ที่ร่วมกันเผาอาคาร”