posttoday

"จาตุรนต์"แนะเลื่อนเปิดเทอมเร็วขึ้น ชี้เรียนระบบออนไลน์ของไทยยังไม่พร้อม

10 พฤษภาคม 2563

"จาตุรนต์" แนะเลื่อนการเปิดเทอมให้เร็วขึ้น หวั่นเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนขาดโอกาสเรียนรู้ ชี้อย่าเพิ่งฝากความหวังที่การเรียนออนไลน์ แต่ควรเร่งปรับปรุงโรงเรียนให้รองรับ New normal หลังโควิด

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 63 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเสนอความเห็นถึงการจัดการเรียนสอนระหว่างมีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

“เลื่อนเปิดเทอมให้เร็วขึ้น อย่าเพิ่งหวังอะไรจากการศึกษาทางไกล“

องค์กรระหว่างประเทศด้านการศึกษาและประเทศต่างๆเห็นว่าผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดที่โควิด19 มีต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลกไม่ใช่การติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรคนี้ แต่เป็นการเสียโอกาสในการเรียนรู้จากการเรียนในโรงเรียน ประมาณ 87 % ของนักเรียนทั่วโลกไม่ได้ไปโรงเรียน

สาเหตุที่ประเทศต่างๆให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กเพราะเขาเห็นว่าผลกระทบที่สำคัญที่สุดของโควิด19 ที่มีต่อเด็กไม่ใช่การติดเชื้อแต่คือการทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนขาดโอกาสที่จะเรียนรู้ในระบบโรงเรียนและมีผลกระทบอื่นๆตามมาอีกมากเช่นการขาดอาหาร ความไม่ปลอดภัย ขาดคนดูแลและการใช้เวลาอย่างไม่เป็นประโยชน์

บางประเทศหรือบางเขตเศรษฐกิจสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด19 ได้โดยไม่ต้องปิดโรงเรียนมาแต่ต้น ขณะนี้ประเทศที่คุมสถานการณ์โควิด19 ได้แล้ว ต่างก็ทยอยเปิดโรงเรียนกันแล้ว บางประเทศเริ่มด้วยการให้เด็กเล็กได้มีโอกาสไปโรงเรียนก่อนเด็กโตซึ่งก็มีเหตุผลทางวิชาการรองรับ

ติดตามข่าวการเตรียมแผนจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่จะเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้แล้ว เข้าใจว่าผู้ที่วางแผนจัดการศึกษาทั้งหลายของไทยจะมองไม่เห็นปัญหาการเสียโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กที่สูญหายไปจากการไม่ได้ไปโรงเรียน จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบเปิดโรงเรียนให้เร็วขึ้นทั้งที่สถานการณ์โควิด 19 ก็ดีขึ้นมากแล้ว

ไม่มีการให้ความสำคัญกับการจัดระบบการเรียนในโรงเรียนแบบ New normal กันสักเท่าไหร่ ทั้งๆที่มีเรื่องต้องเตรียมการหลายเรื่องเช่นระบบระบายอากาศ การเพิ่มห้องเรียนเพื่อให้จำนวนนักเรียนต่อห้องน้อยลง การจัดที่นั่งในโรงอาหาร การทำกิจกรรม การแก้ปัญหากรณีมีเด็กติดเชื้อในโรงเรียน ฯลฯ

การเรียนการสอนที่อยู่ในแผนกลายเป็นเน้นการเรียนจากบ้านและการสอนแบบทางไกลที่ฟังดูแล้วจะมีประสิทธิภาพต่ำมากจนไม่อาจฝากความหวังไว้ได้เลย

แผนการจัดการเรียนการสอนทางไกลที่มีการชี้แจงนั้น จะเห็นได้ว่าระบบการศึกษาของไทยเรายังไม่มีความพร้อมสำหรับการจัดการศึกษาทางไกลเลย ที่จะให้นักเรียนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงม. 3 เรียนโดยใช้การสอนทางทีวีนั้นจะได้ผลน้อยมากเนื่องจากไม่การเรียนการสอนแบบที่จะสื่อสารสองทางได้ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนอภิปราย และไม่มีทางที่ครูจะรู้ว่าเด็กกำลังเรียนอยู่หรือไม่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ไมสามารถประกบหรือคอยเป็นพี่เลี้ยงลูกหลานของตนได้

ส่วนการเรียนแบบออนไลน์ ระบบการศึกษาของเราไม่มีความพร้อมเลย การจัดการเรียนการสอนแบบ Smart classroom ที่เคยคิดกันถูกแทนที่ด้วยการสอนทางทีวี ส่วนการสอนทางออนไลน์ก็ไม่มีการเตรียมหลักสูตรเนื้อหาและวิธีสอนมาก่อน เด็กจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ตและ เด็กส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะใช้ในการเรียนออนไลน์

ระบบการศึกษาของไทยยังจำเป็นต้องสร้างความพร้อมในเรื่องการศึกษาที่ใช้ ICT และการศึกษาออนไลน์อีกมากทั้งในช่วงปรกติและช่วงที่มีวิกฤตหรือช่วงที่เป็น New normal คือทั้งระยะสั้นและระยะยาว

การศึกษาทางไกลอย่างที่เตรียมกันอยู่ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาการสูญเสียโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียนได้เลย

ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด19 ได้มีการตัดสินใจเลื่อนการเปิดเทอมออกไปเนื่องจากจำเป็นต้องเลื่อนการรับสมัครเด็กเข้าเรียนในชั้นม. 1และม. 4 แล้วเลยพลอยเลื่อนการเปิดเทอมของโรงเรียนทั้งระบบไปด้วยกันหมดโดยไม่ได้เผื่อว่าสถานการณ์โควิด19 จะพัฒนาไปอย่างไร ต่อมาแม้สถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว ก็ไม่ได้คิดจะปรับให้สามารถเปิดเรียนได้เร็วขึ้น

ผมคิดว่ารัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะทบทวนแผนการเปิดเทอมนี้เสียใหม่ โดยเปลี่ยนมาเป็นพยายามเปิดเรียนให้เร็วที่สุดเช่นให้ชั้นเรียนส่วนใหญ่เปิดเรียนได้ในวันที่ 1 มิถุนายน ชั้นเรียนที่มีการสมัครสอบเข้าโรงเรียนเช่นม.1 และม. 4 อาจเปิดกลางเดือนมิถุนายน ส่วนเด็กเล็กทั่วประเทศควรส่งเสริมให้เปิดศูนย์ดูแลเด็กเล็กเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ต้องยอมรับครับว่าข้อเสนอนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยซึ่งก็เข้าใจได้เพราะใน 2-3 เดือนมานี้ สังคมไทยเราได้ปลูกฝังให้ผู้คนเห็นภยันตรายจากโควิด19 โดยไม่มีการให้ข้อมูลว่าภยันตรายที่ร้ายแรงที่โควิด19 มีต่อเด็กและเยาวชนนั้นไม่ใช่การติดเชื้อหรือการป่วยจากโควิด19 แต่เป็นการสูญเสียในการเรียนรู้อันเกิดจากการไม่ได้ไปโรงเรียน