posttoday

"จตุพร"แนะรัฐพักงบลงทุน โยกเงินมาช่วยประชาชนเจอผลกระทบโควิด

29 มีนาคม 2563

"จตุพร" เตือน "ประยุทธ์" อย่าทำให้คนไทยเสียใจซ้ำซาก แนะพักงบการลงทุนสารพัดแล้วโยกเงินมาทำมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เมื่อ 29 มี.ค. 63 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าว;jk การทำสงครามโควิด-19 ว่า รัฐบาลต้องไม่ทำให้คนไทยเสียใจ เพราะจุดเริ่มต้นโควิด-19 จนเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตศรัทธาตามมา คือ เรื่องหน้ากากอนามัยขาดตลาด ซึ่งทำให้ประชาชนเสียใจ แล้วกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล เนื่องจากตลาดปกติขาดแคลน หายาก แต่ไปงอกในตลาดมืด สิ่งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงรู้ว่า มีใครบ้างอยู่ในขบวนการค้าหน้ากากในตลาดมืด และควรจัดการอย่างไร

อีกทั้ง ภายหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ แล้ว กลับเกิดสถานการณ์ไข่ขาดตลาดขึ้นมาอีก ทั้งที่การผลิตไข่ทั้งประเทศมีประมาณ 40 ล้านฟองเศษ เพียงพอกับความต้องการ แต่ไข่กลับขาดตลาด แล้วยังขึ้นราคาอีก ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับหน้ากากอนามัยเลย เมื่อเห็นประชาชนต่อแถวซื้อหน้ากากมาแล้ว ยังมาเห็นต่อแถวซื้อไข่กันอีก ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพาณิชย์ต้องรับผิดชอบ

“ภายใต้สถานการณ์คนไทยหวาดวิตกกัน และกำลังยากลำบากแล้ว ดังนั้น 2 กรณีทั้งหน้ากากและไข่ ถ้าปล่อยปละละเลยกันอีก ผมว่านายกฯต้องพิจารณากระทรวงพาณิชย์กันแล้ว เพราะเรื่องเหล่านี้กระทบกระเทือนจิตใจคนไทย”

ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากรัฐบาลที่จะเยียวยาผลกระทบให้คนละ 5 พันบาทนาน 3 เดือน คิดไว้จำนวน 3 ล้านคนนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ยอดคนลงทะเบียนวันแรกต่อเนื่องถึงวันที่สองที่ผ่านมา (28-29 มี.ค.) พุ่งไปถึง 14 ล้านคน และยังไม่มีทีท่าหยุด ซึ่งอาจทะลุไปถึง 20 ล้านคนก็เป็นไปได้

ถ้าจำนวนคน 14 ล้านคนมีคุณสมบัติครบ และรัฐต้องจ่ายเดือนละ 5 พันบาทแล้ว จะใช้งบประมาณเดือนละ 7 หมื่นล้าน ถ้า 3 เดือนรัฐต้องจ่ายในโครงการนี้เป็นงบประมาณ 2.1 แสนล้าน หรือหากต้องจ่าย 20 ล้านคน เฉลี่ยตกเดือนละประมาณ แสนล้าน รวมเป็นเงิน 3 แสนล้าน

ดังนั้น รัฐต้องพักงบการลงทุนสารพัดไว้ก่อน แล้วนำงบกลางจากทุกที่ในปีนี้มาช่วยทำมาตรการเยียวยาประชาชน ส่วนการกู้เงินเอาไว้ทีหลัง อีกทั้งการคัดกรองคุณสมบัติของรัฐนั้นจะใช้เวลากันนานแค่ไหนกว่าจะได้จ่ายเงินให้คนเดือดร้อนได้ ตนคาดว่าจะไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อนของประชาชน

"ถ้าเวลาหิวจะตายไม่มีตัง ยังไม่จ่าย (เงินเยียวยา) แต่ไปจ่ายเอาตอนอิ่มแล้ว จะทำให้เสียความรู้สึกกันไปอีก เวลานี้คนตกงานดิ้นรนกลับบ้านต่างจังหวัด เพราะไม่รู้จะใช้ชีวิตในกรุงเทพอย่างไร แต่อยู่บ้านยังมีข้าวกินอยู่"

นายจตุพร กล่าวว่า แม้หลายประเทศรัฐออกมาตรการจ่ายเงินเดือนให้ 75% หรือครึ่งหนึ่ง แต่สำหรับคนไทยแล้ว กำลังจะประสบกับปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงใกล้สิ้นเดือน คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จะทำอย่างไร คนตกงานจะเอาที่ไหนมาจ่าย

"ผมว่ารัฐบาลควรประกาศมาตรการนี้ให้ชัดเจน โดยทำเป็น 2 ระยะ และระยะละ 3 เดือนตามหลักคิดของรัฐบาล ในระยะแรกแยกพักค่าน้ำ ค่าไฟ รัฐบาลรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งค่าเช่าบ้าน รัฐต้องคิดว่าจะออกให้เท่าไร ถ้าเจรจาเอกชนให้พักค่าเช่าได้เป็นเรื่องประเสริฐสุด”

นอกกจากนี้ อีกระยะหนึ่งคือ การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รัฐบาลต้องให้พักการชำระหนี้ เพราะประชาชนไม่มีรายได้ ถ้ารัฐรับผิดชอบแบบนี้จะทำให้คนตกงานในสถานการณ์ยากลำบากนี้ได้หายใจคล่องคอกันมากยามต้องเผชิญหน้าวิกฤตโควิด

“ทุกสิ่งทุกอย่างในระยะที่บ้านเมืองเผชิญหน้าวิกฤตแบบนี้ ล้วนเป็นเรื่องเล็กหมด และเงินก็เป็นเรื่องเล็ก แต่ในกรณีตลาดหุ้น ตลาดทุน รัฐหาทางไปอุ้มได้ ต้องใช้งบประมาณมากกว่ามาตรการเยียวยาประชาชนมากมาย เมื่อจ่ายให้ตลาดหุ้นรัฐไม่คิดมาก ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเงินที่จ่ายให้ประชาชนด้วยตัวเลขคนเดือดร้อน 14 ล้านคน หรือ 20 ล้านคน รัฐอย่าคิดมาก”

นายจตุพร กล่าวว่า นอกจากประชาชนต้องสู้กับโควิด-19 แล้ว ยังสู้กับความหิวโหย ร้ายสะดวกซื้อบางแห่งมีตำรวจเฝ้า สภาพแบบนี้สิ่งสำคัญคือการสร้างความสบายใจให้ประชาชน ส่วนบรรดาเจ้าสัวทั้งหลายไม่ต้องบริจาคเงิน ขอเพียงลดกำไรให้ประชาชนจะเกิดประโยชน์กว่าและไม่ขาดทุนด้วยในช่วง 3 เดือนในความยากลำบากนี้ แล้วประชาชนยังสัมผัสได้อย่างจริงๆ