posttoday

"บิ๊กตู่"แจงยิบความจำเป็นใช้ ม.44 ระงับเหมืองอัคราเพื่อประโยชน์สาธารณะ

25 กุมภาพันธ์ 2563

นายกฯชี้แจงความจำเป็นใช้ ม.44 ระงับเหมืองอัคราเพื่อประโยชน์สาธารณะและสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ย้อนปัญหาเกิดตั้งแต่ปี 43 ต้องตามแก้ เย้ยถ้าเป็นรัฐบาลรักประชาชนจริง ก็ต้องทำแบบเดียวกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงภายหลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายเรื่องเหมืองทองอัคราว่า รัฐบาลตั้งแต่ปี 2543 รับผิดชอบเปิดสัมปทานและมีการดำเนินการมาโดยตลอด มีบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ดำเนินการ และมีการขอสัมปทานเพิ่มอีก 9 แปลง โดยสัมปทานมีอายุ 20 ปี จนถึงปี 2571 ระหว่างปี 2550-2559 ประชาชนได้ร้องเรียนถึงรัฐบาลถึง 6 รัฐบาล รวมถึงรัฐบาลตนด้วยว่า ได้รับผลกระทบจากเรื่องน้ำเสีย น้ำมีการปนเปื้อนโลหะหนัก และสารพิษ มีการเดินขบวนต่อต้านเหมือง ขณะเดียวกันก็มีผู้สนับสนุนการทำเหมืองด้วย เรื่องดังกล่าวได้มีการพิสูจน์อย่างต่อเนื่องทั้งจากคณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

“ประเด็นสำคัญคือ ผมไม่ได้ออกคำสั่งยึดเหมืองมาเป็นของผม เพียงให้ระงับปิดกิจการเป็นการชั่วคราว เพื่อให้เคลียร์ปัญหาที่มีอยู่ทั้งหมดว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ โดยให้ยุติการอนุญาตสำรวจจนถึงสิ้นปี 2559 และมีคำสั่งให้ระงับกิจการตั้งแต่ปี 2560 จนกว่าจะมีมติเป็นอย่างอื่น ถึงวันนี้บริษัท คิงส์เกตฯได้ยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ยืนยันว่ามาตรา 44 เป็นการระงับใบอนุญาตชั่วคราวของรัฐที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน คิดว่าทุกรัฐบาลก็ต้องคิดแบบนี้ ผมอยากถามว่าที่ผ่านมา มีความเสียหายเยอะหรือไม่ ทุกเรื่องผมแก้มาหมด ทั้งเรื่องคลองด่าน และเรื่องอื่นๆ เรื่องทั้งหมดเกิดก่อนที่จะมีรัฐบาลผม รัฐบาลที่ท่านว่าเก่ง ทำไมถึงไม่แก้ ก็เป็นรัฐบาลของท่านด้วย ” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ถึงวันนี้ยังไม่มีการตัดสินใจ เพราะการพิจารณาเพิ่งจะเริ่มต้น เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2562 ถือเป็นการแก้ปัญหาเก่าที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปกป้องประชาชน ตอบรับข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2550 จำเป็นต้องตัดสินใจดำเนินการ ระหว่างนี้ก็มีคำสั่งจากคณะอนุญาโตตุลาการบังคับไม่ให้คู่พิพาทเปิดเผยข้อเท็จจริงเอกสารและรายละเอียดต่างๆ ในคดีข้อพิพาทดังกล่าวต่อสาธารณะ และให้เฉพาะผู้เกี่ยวข้องลงนามในหนังสือรักษาความลับเท่านั้นที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ หากใครเปิดเผยถือเป็นการขัดคำสั่งคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ยืนยันอีกครั้งว่าเราจะต้องสู้ให้เต็มกำลัง มีช่องทางใดจะเกิดขึ้นได้ในสิ่งที่จะทำให้ยุติได้ก็ต้องทำ และมีการพิจารณาในมาตรการที่หากต่อสู้ไม่ได้